ปูเสฉวน เลี้ยงได้ไหม? รู้จัก "ปูเสฉวน" สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
จากกรณีดราม่า ยูทูบเบอร์รายหนึ่ง ทำคลิปจับ "ปูเสฉวน" 15 ตัว พร้อมแนะนำให้จับปูเสฉวนไปเลี้ยงที่บ้าน จนเกิดแฮชแท็ก #เราขอปูคืน และ #ขอปูเสฉวนคืนมา เนื่องจาก ปูเสฉวนเป็นสัตว์ที่ไม่ควรนำไปเลี้ยง และมีจำนวนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อาหารที่สำคัญของระบบนิเวศ วันนี้ TrueID จึงจะพาทุกคนมารู้จัก "ปูเสฉวน" กัน
ปูเสฉวน เลี้ยงได้ไหม?
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ปูเสฉวนเป็นสัตว์กินซาก ช่วยทำความสะอาดระบบนิเวศหาดทราย มีความสำคัญสูงมากในด้านนี้ ปูเสฉวนเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร เมื่อสัตว์ใดในห่วงโซ่ลดน้อยลงโดยที่มนุษย์ไปยุ่งเกี่ยวโดยไม่จำเป็น ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่อง ปูเสฉวนเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเรื่องที่ตอนนี้ในโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก เป็น 1 ใน 2 ประเด็นหลัก ควบคู่มากับประเด็นโลกร้อน การจับปูออกมาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเลี้ยงดูดีแค่ไหน ก็หมายความว่าปูตัวนั้น “ตาย” จากทะเลไปแล้ว เพราะเธอไม่มีโอกาสจะออกลูกหลานสืบต่อสายพันธุ์ให้ทะเลได้ ลูกปูอีกมหาศาลก็ไม่มีโอกาสเกิด
รู้จักปูเสฉวน
ปูเสฉวนบก มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างปูและกุ้ง ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 5 นิ้ว มีขาทั้งหมด 10 ขาเช่นเดียวกับปูทะเล ส่วนท้ายลำตัวมีลักษณะอ่อนนุ่มทำให้ต้องอาศัยอยู่ในเปลือกหอยเพื่อป้องกันตัวและให้ความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย ปูเสฉวนบกไม่สามารถที่จะอาศัยอยู่ในน้ำเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากระบบการหายใจถูกพัฒนาให้รับออกซิเจนโดยตรง มีเหงือกที่ชื้นสำหรับหายใจ ถ้าลงไปในน้ำจะจมน้ำตายได้ แต่จะต้องลงไปกินน้ำทะเลเพื่อรับแคลเซี่ยมและเกลือแร่ให้กับร่างกาย อีกทั้งยังต้องการน้ำจืดเพื่อการอยู่รอดอีกด้วย กินซากพืช ซากสัตว์เป็นอาหารเหมือนปูเสฉวนทั่วไป และมักหากินในช่วงเวลากลางคืนมากกว่าช่วงเวลากลางวัน โดยช่วงเวลากลางวันมักหลบอยู่ตามใต้กองใบไม้ที่มีความชุ่มชื้น
หนวด 2 คู่ไวต่อการรับสัมผัส คู่ที่ยาวกว่าใช้รับความรู้สึก และคู่ที่สั้นกว่าใช้ในการดมกลิ่นและชิมอาหาร ขนที่ปกคลุมภายนอกก็ใช้รับความรู้สึกเช่นกัน เส้นขนและหนวดเหล่านี้ยังเป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับการสั่นสะเทือนอีกด้วย ก้ามขนาดใหญ่ด้านซ้ายใช้ในการป้องกันตัว จับปีนต้นไม้และทรงตัว และยังใช้เป็นฝาปิดเปลือกหอย ส่วนก้ามด้านขวาที่เล็กกว่าใช้หยิบส่งอาหารและน้ำเข้าปาก ผิวของเปลือกที่ขรุขระช่วยยึดปูไว้ในเปลือก
ในประเทศไทยพบอย่างน้อย 3 ชนิด (species) คือ
- Coenobita brevimanus (ปูเสฉวนบกยักษ์)
- Coenobita violascens (ปูเสฉวนบกยักษ์)
- Coenobita rugosus (ปูเสฉวนบก)
ปูเสฉวน กินอะไร
ปูเสฉวนบกเป็นสัตว์กินซากพืชซากสัตว์ เช่น ซากหอย และซากปะการังบนชายหาด หรือเรียกได้ว่ากินทุกอย่าง
การสืบพันธุ์และเติบโตของปูเสฉวน
ก่อนที่จะผสมพันธุ์ ตัวผู้จะจับตัวเมียดึงออกมาจากเปลือก เมื่อปูทั้งสองตัวโผล่ออกมาจากเปลือก ตัวผู้จะวางท้องเข้าหาตัวเมียเพื่อนำอสุจิลงในอวัยวะเพศของตัวเมีย เมื่อไข่ได้รับการผสม ตัวเมียจะปล่อยไข่ลงน้ำทะเล หลังจากไข่ฟักออกมา ตัวอ่อนปูเสฉวนบกซึ่งหน้าตาไม่เหมือนปูเสฉวนบกจะล่องลอยเป็นแพลงก์ตอนและผ่านการลอกคราบหลายครั้ง พัฒนาร่างกายจนขึ้นสู่ฝั่ง หาเปลือกหอยที่พอดีตัว จะใช้ชีวิตบนบกแล้วก็ไม่สามารถลงไปอยู่ในน้ำได้อีก ปูเสฉวนบกสามารถมีชีวิตได้มากกว่า 60 ปี
ภัยคุกคามของปูเสฉวน
- การซื้อขายปูเสฉวนบก ปูเสฉวนไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย (ยกเว้นในเขตอุทยานแห่งชาติ) ทำให้ถูกจับจากธรรมชาติเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ตามธุรกิจการเลี้ยงปูเสฉวนบกก็ไม่ยั่งยืน เพราะปูเสฉวนบกไม่สามารถเพาะขยายพันธุ์จนถึงจุดคุ้มทุนทางการค้าได้
- สารพิษจากขยะทะเล ผลการศึกษาล่าสุดระบุว่าปูเสฉวนมากกว่า 500,000 ตัวตายลงเนื่องจากมลพิษพลาสติก เมื่อปูเสฉวนตายลงจะปล่อยกลิ่นสารเคมีออกมา ซึ่งจะดึงดูดปูเสฉวนตัวอื่นเข้ามาติดในขยะพลาสติกทำให้เกิดการตายเป็นลูกโซ่
- ไม่มีเปลือกหอยมาเปลี่ยน ปูเสฉวนต้องการเปลือกหอยเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย และใช้ป้องกันภัย ถึงแม้ว่าปูเสฉวนจะมีกระดองแข็งหุ้มตัวอยู่แต่มีส่วนท้องที่อ่อนนุ่ม ซึ่งหากปูเสฉวนบกอยู่นอกเปลือกหอยจะตายลงภายใน 24 ชั่วโมง ปูเสฉวนบกจะเจริญเติบโตด้วยการลอกคราบ แต่ละครั้งปูเสฉวนบกจะต้องเปลี่ยนเปลือกหอยให้ใหญ่ตามขนาดของร่างกาย
ข้อมูล สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<