รีเซต

รฟม.ปรับทีโออาร์สีส้มเน้นประโยชน์สูงสุด ป้องกันฟันราคาแล้วได้ของไม่ดี

รฟม.ปรับทีโออาร์สีส้มเน้นประโยชน์สูงสุด ป้องกันฟันราคาแล้วได้ของไม่ดี
มติชน
22 สิงหาคม 2563 ( 19:15 )
149
รฟม.ปรับทีโออาร์สีส้มเน้นประโยชน์สูงสุด ป้องกันฟันราคาแล้วได้ของไม่ดี

ผู้ว่ารฟม. ระบุสาเหตุในการปรับทีโออาร์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มัดรวม “เทคนิค-การเงิน” เน้นประโยชน์สูงสุด ทั้งราคา-เทคนิค-คุณภาพ ป้องกันฟันราคาแล้วได้ของไม่ดี

 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 คณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มีมติอนุมัติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาให้นำคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคมาเป็นเกณฑ์ประเมินรวมกับการเงินด้วยในสัดส่วน 30% เนื่องจากโครงการเป็นการก่อสร้างที่ใช้เทคนิคขั้นสูง ก่อสร้างเป็นอุโมงค์ตลอดเส้นทาง ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ภาครัฐจะต้องได้โครงสร้างที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ในระยะยาว

 

โดยการพิจารณานี้ทางคณะกรรมการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่องรายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนและสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน 2563 ข้อ 4 (8) ที่กำหนดให้ ระบุหลักเกณฑ์และวิธีการในการตัดสินให้ชัดเจนเป็นคะแนนในด้านต่าง ๆ โดยข้อเสนอผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับและการขอสนับสนุนทางการเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะต้องระบุให้ชัดเจนเป็นคะแนน

 

“ยังคงยื่นข้อเสนอ 4 ซอง คือ คุณสมบัติ เทคนิค การเงินและขัอเสนอเพิ่มเติม แต่จะนำคะแนนข้อเสนอเทคนิค ไปพิจารณารวมกับซองการเงินด้วย30% เดิมเราอาจจะคิดไม่ครบถ้วน แต่มีการสงวนสิทธิ์ให้สามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหรือยกเลิกได้ แม้ว่าจะเปิดขายซองทีโออาร์ไปแล้วก็ตาม ซึ่งบริษัทอิตาเลียนไทยฯ มีหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ถึงการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนว่าโครงการมีความเสี่ยงสูง จึงไม่ควรพิจารณาข้อเสนอการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวมที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ ทางคณะกรรมการฯได้นำมาพิจารณา เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีและเป็นประโยชน์กับรัฐมากสุด” นายภคพงศ์ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม คงจะไม่สามารถนำการประมูลสายสีส้มไปเทียบเคียงกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและเมืองการบินอู่ตะเภาได้ ที่พิจารณาผู้ที่ให้รัฐอุดหนุนค่างานโยธาต่ำสุด และเสนอผลตอบแทนให้รัฐมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะประมูล สำหรับสายสีส้มจะพิจารณาเป็นภาพรวม ”ผู้มีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์กับรัฐมากที่สุด” มากกว่า ดูการเดินรถเป็นหลัก เทคนิค และการเงินจะดูเรื่องส่วนแบ่งรายได้ที่จะได้รับตลอดอายุสัญญา ค่าก่อสร้างที่รัฐจะสนับสนุนไม่เกินค่างานโยธา 90,000 ล้านบาท

 

“กรณี บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ บีทีเอส ทำหนังสือมีความคิดเห็นว่า การปรับเกณฑ์ดังกล่าวไม่เป็นธรรมกับบริษัทนั้น ต้องดูว่าไม่เป็นธรรมตรงไหน เพราะการทำแบบนี้รัฐได้ประโยชน์ มีข้อดี คือ ได้โครงสร้างรถไฟฟ้าที่ออกแบบมีคุณภาพ มีความปลอดภัย เพราะโครงสร้างต้องอยู่กับเราตลอด 30 ปี และเป็นการบริหารขนส่งสาธารณะให้กับประชาชนด้วย ซึ่งในการพิจารณาหากผู้ที่แพ้คะแนนเทคนิคแต่การเงินได้คะแนนมากกว่าก็เป็นผู้ชนะอยู่แล้ว“ นายภคพงศ์กล่าว และว่า เพื่อเป็นการให้เวลาเอกชนมาซื้อซองประมูลมีเวลาทำข้อเสนอตามเงื่อนไขใหม่ คณะกรรมการคัดเลือกมีมติขยายเวลายื่นซองออกไปอีก 45 วัน จากเดิมวันที่ 23 ก.ย. เป็นวันที่ 6 พ.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้การเซ็นสัญญาล่าช้าออกไปอีกประมาณ 1 เดือนครึ่ง

 

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ 10 บริษัท ซื้อซองประมูล ได้แก่


1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
4. บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
6. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
9. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด
10. บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รฟม.จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost ก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้า และรับสัมปทานเดินรถตลอดสายจากมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ระยะทาง 35.9 กม. ระยะเวลา 30 ปี วงเงินรวม 128,128 ล้านบาท

 

โดยรัฐจ่ายค่าเวนคืน 14,611 ล้านบาท มีพื้นที่รวม 505 แปลง หรือ 41 ไร่ 1 งาน 96 ตร.ว. รวม 331 หลัง และสนับสนุนเงินลงทุนเอกชนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี

 

แนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก แบ่งเป็นส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี ปัจจุบันกำลังก่อสร้างคืบหน้าแล้วกว่า 60% จะเสร็จเปิดบริการในปี 2567 และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ เป็นใต้ดินตลอดสาย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี โดยคาดว่าจะเปิดบริการตลอดสายในปี 2569