รีเซต

เงินเฟ้อสหรัฐฯสูงกว่าคาด ตลาดคาด Fed เลื่อนลดดอกเบี้ยไปเดือน ก.ย.

เงินเฟ้อสหรัฐฯสูงกว่าคาด ตลาดคาด Fed เลื่อนลดดอกเบี้ยไปเดือน ก.ย.
ทันหุ้น
13 กุมภาพันธ์ 2568 ( 15:01 )
3

 

#เงินเฟ้อ #ทันหุ้น - บทวิเคราะห์ โดย บล.กสิกรไทย

 

เงินเฟ้อเร่งขึ้นแต่ไม่ได้มาจากเรื่องฐานแล้ว

US CPI เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือน ม.ค.68 เป็น 3.0% YoY สูงกว่าที่ตลาดคาดและเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. ที่ 2.9% YoY

ตลาดปรับคาดการณ์ใหม่สำหรับการลดดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2568 เหลือแค่ 25bps ในเดือน ก.ย. ปีนี้หลังรายงาน US CPI ออกมาร้อนแรงกว่าที่มอง

คาด SET index ยังอยู่ในแนวโน้มขาลงต่อ ท่ามกลางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงต่อ และค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่า

 

อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เร่งตัวร้อนแรงกว่าคาด

ดัชนีราคาผู้บริโภคหลักของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.5%MoM และ 3.0% YoY ในเดือนม.ค. 2568 สูงกว่าที่ตลาดคาดและเพิ่มขึ้นจากที่ 2.9% YoY ในเดือน ม.ค. 2567 ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาพลังงานและอาหารเพิ่มขึ้น 0.4% MoM และ 3.3% YoY โดยเพิ่มขึ้นจากที่รายงาน 3.2% YoY ในเดือน ธ.ค. และมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 3.1%YoY สาเหตุหลักมาจากหลายกลุ่มเช่น ราคารถมือสอง, บริการ, อาหารและเครื่องดื่ม และพลังงานที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

เงินเฟ้อสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น แต่คราวนี้ไม่ใช่เรื่องของฐานอีกต่อไป

อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2567 และโมเมนตั้มที่เพิ่มขึ้นลากยาวนานกว่าที่เรามองไว้ โดยการเพิ่มขึ้นในเชิง MoM ในรอบเดือนนี้ถือเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน ส.ค.2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียลดการผลิตน้ำมันดิบลงท่ามกลางการปรับเพิ่มคาดการณ์อุปสงค์จาก EIA อีกทั้งสาเหตุของการปรับเพิ่มขึ้นเชิง YoY ในครั้งนี้ไม่มาจากเรื่องของฐานที่ต่ำของราคาพลังงานอีกต่อไป โดยตัวเลข CPI แสดงให้เห็นว่าแรงกดดันเงินเฟ้อเร่งขึ้นในหลายกลุ่มทั้งราคารถมือสองที่สูงขึ้น (+2.2% MoM / +1.0% YoY), ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยที่เร่งตัว (+0.4% MoM / +4.4% YoY), ค่าอาหารและเครื่องดื่มที่แพง (+0.4% MoM / +2.5% YoY) และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพลังงานที่เพิ่มมา (+1.1 % MoM / + 1.0% YoY) ทั้งนี้ภาพเงินเฟ้อทั้งทั่วไปและพื้นฐานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แม้เราเคยมองว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะค่อย ๆ ปรับลดลงจนถึงช่วงกลางปี 2568 แต่การเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในรอบนี้เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นแทน โดยเฉพาะเมื่อมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากนโยบายการค้าและภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯของทรัมป์

 

ตลาดปรับคาดการณ์โดยมอง Fed จะลดดอกเบี้ยแค่ 25bps ในเดือนก.ย.

ตลาดปรับมุมมองว่าเงินเฟ้ออาจะกลับมาปรับเพิ่มขึ้นและการลดดอกเบี้ยของ Fed อาจเหลือน้อยลงในปี 2568โดยลดคาดการณ์ที่ว่าจะลดดอกเบี้ยจาก 2 ครั้งเพียงหลือ 1 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้อาจล่าช้าจากเดือน มิ.ย. ไปเป็นเดือน ก.ย. แทน หลังประกาศตัวเลข CPI ออกมาสูงกว่าที่มอง ผลกระทบต่อเนื่องเราคาดว่าจะทำให้อัตราตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี และดัชนีเงินดอลลาร์ฯ แกว่งตัวในกรอบสูงที่ราว 4.5-4.8% และ 107-109 ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ดี เราไม่คิดว่าอัตราตอบแทนพันธบัตรและสกุลเงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวสูงทะลุระดับสูงสุดรอบก่อนที่ประมาณ 5.0% และ 113 เนื่องจากทรัมป์ต้องการให้ดอกเบี้ยและอัตราตอบแทนพันธบัตรลดลง อีกทั้งแรงกดดันจากเงินเฟ้อยังไม่สูงมากพอที่จะสร้างความกังวลในระดับนั้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยหลักที่ต้องจับตามองคือนโยบายเรียกเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยหากมีการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าแบบทั่วหน้า คาดเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะกลับมาเร่งตัวแรงซึ่งจะทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงและค่าเงินดอลลาร์ฯ อยู่ในด้านแข็งค่า ซึ่งจะสร้างบรรยากาศเชิงลบต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

 

ดังนั้นเชื่อว่า SET จะยังอยู่ในแนวโน้มขาลง แต่หลังจากที่ลดลงมากแล้ว YTD คาด SET Index จะยังไม่หลุดระดับที่ 1,250 จุด แต่กรอบบนมองสูงสุดไม่เกิน 1,300 จุด ในระยะสั้น ซึ่งเป็นระดับที่สำคัญทางจิตวิทยา กลุ่มอุตสาหกรรมที่เราชอบ ได้แก่ กลุ่มธนาคาร (KKP และ KTB), กลุ่มประกัน (TLI และ BLA) และกลุ่มท่องเที่ยว (ERW และ SHR)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง