รีเซต

ฟอร์ดจับมือปัญญาภิวัฒน์ผลิตหุ่นยนต์ ช่วยหมอดูแลผู้ป่วยโควิดรพ.เจริญกรุงฯ

ฟอร์ดจับมือปัญญาภิวัฒน์ผลิตหุ่นยนต์ ช่วยหมอดูแลผู้ป่วยโควิดรพ.เจริญกรุงฯ
มติชน
3 สิงหาคม 2563 ( 10:13 )
235
ฟอร์ดจับมือปัญญาภิวัฒน์ผลิตหุ่นยนต์ ช่วยหมอดูแลผู้ป่วยโควิดรพ.เจริญกรุงฯ

รายงานข่าวจาก ฟอร์ด ประเทศไทย แจ้งว่า ฟอร์ดสนับสนุนนักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ในภารกิจ วอร์ด Cowit 2020 (Co-Creation Ward Innovation Technology 2020) หรือวอร์ด โควิด 2020 หุ่นยนต์และอุปกรณ์ ประกอบไปด้วย หุ่นยนต์ น้อง C (ซี) และน้อง W (ดับเบิลยู) ตู้ฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC (ยูวีซี) ประตูอัตโนมัติหน้าห้องผู้ป่วย เครื่องติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วย พร้อมกันนี้ทีมวิศวกรของโรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) ยังได้นำพื้นฐานหุ่นยนต์ที่นักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ประดิษฐ์ขึ้นมาพัฒนาเป็นหุ่นยนต์เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ไว้ใช้ในการปฏิบัติภารกิจเพิ่มอีก 1 ตัว

 

สำหรับหุ่นยนต์และอุปกรณ์ในภารกิจ วอร์ด Cowit 2020 ของนักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ประกอบไปด้วย หุ่นยนต์ที่ใช้ในการนำส่งอาหารและยาให้กับผู้ป่วยจำนวน 2 ตัว โดยตัวแรกคือ น้อง C ย่อมาจากคำว่า Collaborate (คอลเลบอเรต) หมายถึงการร่วมมือร่วมใจสร้างสรรค์ พัฒนา ระหว่างทีมแพทย์และอาจารย์และนักศึกษาสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ พีไอเอ็ม พร้อมด้วยผู้ร่วมสนับสนุนจากบริษัทต่างๆ มากมาย และตัวที่ 2 คือ น้อง W มาจากคำว่า Well (เวล) หมายถึงความคาดหวังของทีมผู้มีส่วนร่วมทุกท่านประสงค์ให้ทุกอย่างกลับมาดีดังเดิม

 

น้อง C และน้อง W จะเดินตามเส้นทางและใช้แผ่น RFID (อาร์เอฟไอดี) เป็นตัวช่วยในการตรวจสอบตำแหน่งของห้อง ทำงานง่าย สะดวก เพียงกดปุ่มหมายเลขห้องที่ต้องการ จากนั้นหุ่นยนต์จะนำส่งอาหารและยาไปให้ในห้องผู้ป่วย 1 รอบ ทำได้สูงสุด 6 ห้อง จะประมวลผลอัตโนมัติเลือกเส้นทางห้องใกล้ที่สุดไปจนถึงห้องไกลที่สุด จากจุดปล่อยหุ่นยนต์ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วหุ่นยนต์อาจปนเปื้อนเชื้อโรค ดังนั้น หุ่นยนต์จะต้องเดินไปยังตู้ฆ่าเชื้อ UVC โดยอัตโนมัติ การอบฆ่าเชื้อจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเชื้อโรคได้ถูกกำจัดเรียบร้อย พร้อมใช้งานต่อไป

 

หุ่นยนต์ที่พัฒนาโดยทีมวิศวกรโรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) โดยทีมวิศวกรได้นำพื้นฐานหุ่นยนต์ที่นักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ประดิษฐ์ขึ้นมาพัฒนาเป็นหุ่นยนต์อีก 1 ตัว เป็นหุ่นยนต์ที่ได้รับความร่วมมือจากวิศวกรหลายแผนกของโรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด นำเทคโนโลยีรถขนส่งอัตโนมัติ (AGV-Automatic Guided Vehicle) เป็นระบบที่ใช้อยู่ในโรงงานฟอร์ดมาพัฒนาต่อยอด โดยได้รับความร่วมมือจาก Ford Design Studio (ฟอร์ด ดีไซน์ สตูดิโอ) ที่ประเทศออสเตรเลียร่วมออกแบบ เพื่อส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ไว้ใช้ในการปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ป่วย

 

ตู้ฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคหลังจากที่น้อง C และน้อง W ส่งอาหารและยาให้แก่ผู้ป่วยเสร็จในแต่ละรอบ

ประตูอัตโนมัติหน้าห้องผู้ป่วยแต่ละห้องติดตั้งเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถเดินเข้าไปให้บริการผู้ป่วยได้ถึงเตียงโดยลดการสัมผัสประตู

เครื่องติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วย (อยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร) ใช้สำหรับเฝ้าติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วยว่าอยู่ในอัตราปกติหรือไม่ ผ่านโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นบนมือถือ

 

 

ผศ.เกรียงไกร ทัศนวิภาส อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม หัวหน้าทีมผู้พัฒนา คิดค้น วอร์ด Cowit 2020 กล่าวว่า เรานำจุดเด่นของระบบของหุ่นยนต์เชื่อมเข้ากับเทคโนโลยีทางวิศวะเชิงเทคนิค สร้างโปรแกรมการใช้งานให้สะดวกต่อการทำงาน จับจุดเด่นของระบบ Part User Interface (พาร์ต ยูสเซอร์ อินเตอร์เฟซ) หรือยูไอ (UI) ให้ใช้งานง่าย โดยทีมพัฒนาของเราเป็นนักศึกษาด้านโรโบติก เอ็นจิเนียร์ ที่ทดลองปรับเปลี่ยนระบบ พัฒนาฟังก์ชั่นการทำงานไปกับบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ใช้งานจริง มีอุปกรณ์การดูแลรักษาค่อนข้างง่าย ใช้งบประมาณการผลิตต่ำ ประสิทธิภาพการใช้งานสูง โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจ เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ โดยคณะทีมงานประกอบด้วยทีมศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ อาจารย์ นักศึกษา สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม จำนวน 9 คน รวมถึงบริษัทพาร์ตเนอร์เข้ามาช่วยสนับสนุน อาทิ บริษัท ออลล์ เวลเนส จํากัด บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอ็ม.ที.คอนโทรล แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด ให้เกิดระบบอัจฉริยะนี้ขึ้น

 

“ล่าสุดได้พัฒนาหุ่นยนต์นำส่งอาหารและยาถึงเตียงผู้ป่วยโดยอัตโนมัติเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสในการติดเชื้อจากการสัมผัสกับประตู พร้อมด้วย เครื่องติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วย อยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตรเพื่อสนับสนุนการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ ลดการตรวจให้สารละลายตามรอบเวลา ปกติพยาบาลจะต้องเข้าไปตรวจการให้สารละลายของผู้ป่วยเป็นรอบตามเวลาที่กำหนด เพื่อป้องกันการไหลอาจไม่ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด สามารถติดตามผ่านโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นได้จากสมาร์ทโฟน ปัจจุบันเครื่องดังกล่าวราคาสูง ทางทีมจึงคิดค้นเครื่องนี้ขึ้นมาในราคาถูกและได้ประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดีอีกทางหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้” ผศ.เกรียงไกรกล่าว

 

นพ.เกียรติศักดิ์ ทัศนวิภาส ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ทดลองใช้ วอร์ด Cowit 2020 กล่าวว่า โควิด-19 เป็นโรคใหม่ แพทย์จึงต้องประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา และหาวิธีป้องกันช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในการสัมผัสกับผู้ป่วย มีความจำเป็นมาก เพื่อปรับตัวให้ความปลอดภัยในการปฏิบัติงานสูงสุด วอร์ด Cowit 2020 ตอบโจทย์การใช้งานจริง โปรแกรมใช้งานง่าย ตัวหุ่นดีไซน์ให้มีตะขอ เหมาะกับแพคเกจจิ้งอาหาร-ยา ระบบการทำงานทั้งหมดสั่งการผ่านแอพพลิเคชั่น ตั้งแต่ต้นจนหุ่นยนต์ผ่านการฆ่าเชื้อเสร็จสิ้น จึงสะดวก ไม่ยุ่งยาก ลดความผิดพลาดของการดูแลผู้ป่วย สร้างความเชื่อมั่นกับผู้ใช้งาน ไม่เพิ่มขั้นตอนการทำงาน เพียงแค่ผู้ใช้งานเรียนรู้และควบคุมขั้นตอนการทำงานให้ถูกต้อง

 

ปัจจุบันระบบจัดการหอพักผู้ป่วยอัจฉริยะ วอร์ด Cowit 2020 ติดตั้งและได้ทดสอบภายในพื้นที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สร้างความพึงพอใจและอำนวยความสะดวกให้กับแพทย์และบุคลากร ช่วยปฏิบัติงาน ดูแลผู้ป่วยระยะไกล ลดความเสี่ยงในการใกล้ชิดและสัมผัส ก้าวต่อไปทีมผู้พัฒนาอยู่ระหว่างการพัฒนาชิ้นงานในเฟสถัดไป เพื่อสร้างเครื่องมือ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่ง สนับสนุนวงการแพทย์ไทยต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง