LEO ลั่นพ้นจุดต่ำสุด ไฮซีซันหนุนส่งออก
LEO ชี้ทิศทางธุรกิจนำเข้า - ส่งออกเริ่มสดใส ค่าระวางปรับตัวดีขึ้น หลังผ่านจุดต่ำสุดไตรมาส 1/2566 แล้ว โฟกัสขยายลูกค้านำเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ส่งซิกไตรมาส 2-3 เข้าสู่ไฮซีซัน จ่อบุ๊กรายได้-กำไรลงทุนใหม่โครงการ JV และ M&A
นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO เปิดเผยว่า บริษัทเริ่มเห็นภาวการณ์ส่งออกที่ดีขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2566 แต่ว่าชะลอตัวลงในช่วงเดือนเมษายน 2566 เนื่องจากมีวันหยุดหลายวัน และปัจจุบันเริ่มกลับมาเป็นปกติ ช่วงหลังจากนี้คาดหวังว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น
** ออเดอร์เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้เริ่มเห็นสัญญาณของออเดอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์เน้นการขยายลูกค้าที่ขนส่งสินค้าเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจภายในของประเทศไทยเริ่มปรับตัวดี ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ช็อปปิ้ง จากจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามา
อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสที่ 1/2566 ถือว่าเป็นช่วงโลว์ซีซันของธุรกิจโดยปกติบริษัทคาดว่าอัตราค่าระวางและตัวเลขการนำเข้าส่งออกของประเทศไทย ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ 1/2566 โดยเริ่มเห็นการปรับตัวดีขึ้นของค่าระวาง ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2566 และในช่วงไตรมาสที่ 2-3 จะเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของธุรกิจ นำเข้าส่งออก
ทั้งนี้ไตรมาสที่ 1/2566 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 332.3 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 19.0 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2565 คิดเป็น 153% โดยรายได้ที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลดลงของอัตราค่าขนส่งทั้งทางเรือและทางอากาศทั่วโลกมากกว่า 10 เท่าจากช่วงปี 2565
** ส่งออกทุเรียน
นอกจากนี้บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากการขนส่งสินค้าทางราง และการจัดหาและขายสินค้าผลไม้ไปยังประเทศจีน ผ่าน บริษัท ลีโอ ซอร์สซิ่ง แอนด์ ซัพพลายเชน จำกัด (LSSC) ซึ่งมี บริษัท อภิศศิโฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นตัวแทนของพันธมิตรในประเทศจีนเข้ามาถือหุ้นในบริษัท LSSC ในสัดส่วน 40% เพื่อผนึกกำลังและร่วมกันพัฒนาธุรกิจในการจัดสินค้าประเภทผลไม้และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ส่งออกไปยังประเทศจีน
โดยพันธมิตรในประเทศจีนได้ทยอยแนะนำบริษัทผู้นำเข้าสินค้าประเภททุเรียนและมังคุดในประเทศจีนมาให้ทาง LEO และมีการเซ็นสัญญาสั่งซื้อไปแล้วมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท และมีลูกค้ารายอื่นทยอยมาเจรจาอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงบริษัทจะรับรู้รายได้ และกำไรจากโครงการ JV และ M&A ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 นับตั้งแต่ไตรมาส 2 และ 3 เป็นต้นไป เพื่อสร้างการเติบโตทางรายได้และผลประกอบการของธุรกิจให้แข็งแกร่งและเติบโตต่อเนื่อง
ส่วนความความคืบหน้าของธุรกิจใหม่ๆ อาทิ โครงการ Intelligent Cold Chain Logistics Center มูลค่า 232 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเช่าตลอดอายุสัญญารวม 72 ล้านบาท และเงินทุนพัฒนาโครงการ 160 ล้านบาท ซึ่งเป็นคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ ใช้ระบบ Automation & Robot ซึ่งเป็นระบบอัจฉริยะเข้ามาช่วยในการลดต้นทุน คาดว่าจะสร้างรายได้อย่างน้อย 800 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาของโครงการ
** หนุนงบโตโดด
ด้านโครงการ JV กับ บริษัท เบาไทย อินเด็กซ์ แอสโซซิเอท จำกัด และ บริษัท ศรีตรังโลจิสติกส์ จำกัด ที่เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของทางการรถไฟจีนในการทำการตลาดการขนส่งทางรางไทย-จีนภายใต้ บริษัท LaneXang Express Company Limited และธุรกิจอื่นๆ ที่จะทยอยเกิดขึ้นในปี 2566 นี้ในไตรมาส 2-3 นี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทั้งในด้านธุรกิจและรายได้อย่างก้าวกระโดดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า