รีเซต

"สธ.-สภาอุตฯ-หอการค้า" จับมือสร้างความปลอดภัยใน "สถานประกอบการ" แบบนิว นอร์มอล

"สธ.-สภาอุตฯ-หอการค้า" จับมือสร้างความปลอดภัยใน "สถานประกอบการ" แบบนิว นอร์มอล
มติชน
23 กรกฎาคม 2563 ( 16:49 )
219
“สธ.-สภาอุตฯ-หอการค้า” จับมือสร้างความปลอดภัยใน “สถานประกอบการ” แบบนิว นอร์มอล

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัด สธ.พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา กรรมการที่ปรึกษาหอการค้าไทย และ นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะอนุกรรมการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ร่วมแถลงข่าว โครงการสุขภาวะของคนทำงานด้วย Healthy Living และการประกวดคลิปวิดีโอฐานวิถีชีวิตใหม่ในสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม กรณีโควิด-19

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปัจจุบันไทยมีประชากรวัยทำงาน 37.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในระบบ 17.1 ล้านคน ซึ่งพบว่าในกลุ่มนี้มีปัญหาสุขภาพจากการทำงาน เช่น             ออฟฟิศซินโดรม ภาวะเครียด และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งในสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการเป็นระยะ รวมทั้งสถานประกอบการต่าง ๆ กลับมาเปิดกิจการ ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เพื่อให้มีความปลอดภัย สธ.ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับ ส.อ.ท. และ ส.อ.ท.จัดทำโครงการสุขภาวะของคนทำงานด้วย Healthy Living ขับเคลื่อนการให้ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี ทั้งร่างกายและจิตใจ สร้างองค์กรน่าอยู่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ในระยะแรกได้ร่วมกับ ส.อ.ท. และสมาคมหอการค้าไทย จัดโครงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์สถานประกอบการฐานวิถีชีวิตใหม่ และจัดการประกวดคลิปวิดีโอฐานวิถีชีวิตใหม่ในสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม กรณีโควิด-19 เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการไทย เกิดความตระหนักถึงการดูแลแรงงานให้มีสุขภาพดี และป้องกันโรคให้กับแรงงาน เป็นสถานประกอบการต้นแบบ “สถานประกอบการต้านโควิด 19 ในฐานวิถีชีวิตใหม่: New Normal”

ด้าน นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การโควิด-19 ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ เกิดความตื่นตระหนกในการใช้ชีวิตในปัจจุบัน จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ควบคู่กับการฟื้นฟูประเทศในมิติต่างๆ โดยร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งจากข้อมูลการคัดกรองโรคโควิด-19 ของสำนักงานประกันสังคมพบว่า มีแรงงานในระบบป่วยด้วยโรคโควิด-19 จำนวนหนึ่ง กรมควบคุมโรค ได้เสนอมาตรการ แนวทางควบคุมป้องกันโรคสำหรับสถานประกอบการ เพื่อพัฒนาเป็นข้อกำหนด ของ ศบค. สำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง กำหนดนโยบาย มาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านสุขภาพให้กับแรงงานไทย เพื่อให้สถานประกอบการเกิดความตระหนักถึงการดูแลสุขภาพแรงงาน ให้มีสุขภาพดี ปลอดภัย สามารถปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน ควบคุมโรคโควิด-19 ได้อย่างถูกต้อง

“สถานประกอบการจะต้องดำเนินการ 3 ระดับ คือ เจ้าของกิจการ กำหนดนโยบาย มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ถ่ายทอดไปทุกส่วนในองค์กร ต่อยอดจากงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานประกอบการ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายบุคคล เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ประเมินการติดเชื้อ ความเสี่ยงต่อสุขภาพ และระดับคนทำงาน ทำตามมาตรการสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้จัดทำคู่มือประเมินความเสี่ยงในสถานการณ์โควิด สำหรับสถานประกอบการทุกขนาด เพื่อให้สามารถนาไปใช้ในการดูแลสุขภาพคนทำงานได้อย่างเหมาะสม” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ด้านนางศิรินา กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมขับเคลื่อนสนับสนุนมาตรการหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 และมาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ข้อปฏิบัติพื้นฐานของสถานประกอบการที่ภาครัฐได้กำหนด พร้อมทั้งประสานเครือข่ายและสมาคมต่างๆ สร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการและแนวทางในการป้องกันความเสี่ยงของสถานประกอบการอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งได้จัดทำคู่มือสำหรับสถานประกอบการ ซึ่งมีมาตรการและแนวทางปฏิบัติพื้นฐานเพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการได้อย่างปลอดภัย

“ขอเชิญชวนสถานประกอบการ ได้เสนอโมเดล รูปแบบ วิธีการ การป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ให้กับพนักงาน และผู้มาใช้บริการ ในรูปแบบของคลิปวีดีโอ เพื่อส่งประกวด และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสถานประกอบการอื่น ๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ โครงการฯ นี้ จะมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี สร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจและสร้างโอกาสทางธุรกิจของประเทศไทยในยุคนิว นอร์มอล”  นางศิรินา กล่าว

นอกจากนั้น นางพิมพ์ใจ กล่าวว่า ในส่วน ส.อ.ท.ได้กำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันด้านสาธารณสุข และผลกระทบด้านเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาว กำหนดแนวทางการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือแก่สมาชิกภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ และแนวทางปฏิบัติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดภายในสถานประกอบการ จัดทำแนวทางการจัดการหลังเกิดการระบาด โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“สำหรับการจัดประกวดคลิปวิดีโอฐานวิถีชีวิตใหม่ในสถานประกอบการฯ นี้ ส.อ.ท.เห็นว่าเป็นประโยชน์โดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม รวมถึงประชาชนคนไทยทุกคน และส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบนวัตกรรม หรือวิถีการดูแลตนเองในรูปแบบใหม่ๆ
เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม และนำพาภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย ให้กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง” นางพิมพ์ ใจ กล่าว

ทั้งนี้ การประกวดคลิปฯ แบ่งตามสถานประกอบการ 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และจะได้รับเงินรางวัลพร้อมโล่รางวัลประเภทละ 5 รางวัล สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสมัครและส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ที่ www.newnormalcontest.com หรือทาง QR Code ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 21 สิงหาคม 2563 ประกาศผลการตัดสินในวันที่ 28 สิงหาคม 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง