รีเซต

"ผู้ว่าสุพรรณฯ" ร่วมสืบสานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ

"ผู้ว่าสุพรรณฯ" ร่วมสืบสานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ
มติชน
1 กรกฎาคม 2563 ( 15:54 )
105
"ผู้ว่าสุพรรณฯ" ร่วมสืบสานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ

ผู้ว่าสุพรรณร่วมสืบสานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ชาวบ้านเชื่อศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อดำสรงน้ำท่าจีน

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.63 ที่วัดเถรพลาย ต.วังน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานในการจัดงานบุญ ประเพณีอุ้มหลวงพ่อดำสรงแม่น้ำท่าจีน ที่สืบสานกันมายาวนาน ของชาวบ้านศรีประจันต์ เพื่อ ถวายเป็นพระพุทธบูชาก่อนวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดการมาหลายชั่วอายุคน เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเก่าแก่ ตามความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้านที่มาร่วมพิธีอัญเชิญหลวงพ่อดำลงสรงแม่น้ำท่าจีน เพื่อจะนำสิ่งไม่ดีลอยไปกับสายน้ำ และมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต คิดสิ่งใดสมความปรารถนา และยังเป็นสรรพสิริมงคลแก่เกษตรกร น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวสู่สากลของจังหวัดสุพรรณบุรีอีกด้วย

งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำของวัดเถรพลายนั้น ที่ผ่านมาสูญหายไปเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2557 พระครูพิสุทธิรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเถรพลาย พร้อมคณะสงฆ์และชาวบ้าน ที่นี่ได้ร่วมกันฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง โดยจัดให้มีพิธีบวงสรวง และอัญเชิญหลวงพ่อดำเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธ์ สมัยกรุงศรีอยุธยา มีอายุเก่าแก่ กว่า 300 ปี ออกจากพระวิหาร ซึ่งมีชาวบ้านมายืนต่อแถว ร่วมพิธี จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้อุ้มหลวงพ่อดำ ไปที่บริเวณแม่น้ำท่าจีน แล้วมีชาวบ้านอัญเชิญหลวงพ่อดำสรงน้ำ ในแม่น้ำท่าจีน จำนวน 3 ครั้ง ติดต่อกัน แล้วต่อจากนั้น ผู้ว่าฯ จะอัญเชิญหลวงพ่อดำ มาประดิษฐานไว้ที่ บริเวณพระอุโบสถของวัดเถรพลาย เพื่อให้ชาวบ้านได้มากราบไหว้สักการะ ขอพร และภายในวัดยังมี พิธีกวนข้าวทิพย์ พิธีเทศมหาชาติทรงเครื่องประกอบพระเวสสันดรชาดก พิธีห่มผ้า 8 สี ถวายองค์พระเจดีย์สมัยกรุงศรีอยุธยา และการละเล่นพื้นบ้าน


ด้านนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเพณีของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมของจังหวัด เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีให้ชาวสุพรรณบุรีอีกทางหนึ่ง จึงถือเป็นมิติหนึ่งในการดึงศักยภาพทางวัฒนธรรมของชุมชนมาเป็นทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้ชัดเจนขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง