รีเซต

ศาสนิกเนปาลเสียงแตกยันจัดพิธี อีกฝั่งให้อยู่กับความเป็นจริง

ศาสนิกเนปาลเสียงแตกยันจัดพิธี อีกฝั่งให้อยู่กับความเป็นจริง
ข่าวสด
4 ตุลาคม 2563 ( 19:31 )
170

จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลเนปาลประกาศให้งดจัดพิธีกรรมต่าง ๆ ทำให้ผู้นำทางศาสนาไม่พอใจและกล่าวเตือนว่า เทพเจ้าจะโกรธและสาปแช่งเนปาลจนนำไปสู่หายนะหากไม่บวงสรวงตามธรรมเนียม ซึ่งมีประชาชนไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก

 

เนปาลให้ประชาชนเข้าสู่การกักตัวในที่พักอาศัยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ศาสนสถานจึงปิด เพราะจำเป็นต้องงดกิจกรรมที่มีการรวมตัวชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่รัฐระบุว่าคงไม่มีการยกเลิกข้อห้ามจนกว่าจะผ่านพ้นช่วงเดือนที่มีเทศกาลใหญ่อย่าง เทศกาลทัศอิน (กันยายน-ตุลาคม) และ เทศกาลติหาร์ (ตุลาคม-พฤศจิกายน)

 

Image by Phina888 from Pixabay

 

ก่อนหน้านี้ ทางตอนใต้ของเมืองหลวง กาฐมาณฑุ มีการประท้วงของเหล่าผู้นำศาสนา ซึ่งคัดค้านคำสั่งรัฐในการกักตัวของประชาชนในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะทำให้ไม่สามารถจัดเทศกาล มัจเฉนทรนาถ แดง ราถยาตรา ต่อมามีการจัดขึ้นสำเร็จ แต่เทศกาลมีขนาดที่เล็กมาก ทั้งยังมีตำรวจเข้าตรวจตรา

 

BBC

 

ผู้นำศาสนา "กปีล บัชรัชชายา" ซึ่งเป็นประธานนักบวชทำการพิธีดังกล่าว ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่า รัฐบาลไร้ความรับผิดชอบที่เข้ามาขัดขวางกิจกรรมที่เกี่ยวของกับศาสนา ตระกูลของเขาปฏิบัติงานพิธีกรรมนี้มานานกว่าศตวรรษ และดำเนินมาต่อเนื่องโดยไม่มีปีใดที่เคยระงับมาก่อน เขาเชื่อว่า เนปาลเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า หากเหล่าเทพเจ้าพิโรธ แผ่นดินเนปาลจะต้องเจอหายนะที่รุนแรงกว่าไวรัสโควิด-19 เป็นแน่ จึงต้องการคัดค้านคำสั่งของรัฐบาล ซึ่งเขาถือเป็นคำสั่งที่เป็นบาปอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ผู้คนบางส่วนที่ต้องการให้มีการจัดพิธียังเชื่อว่า การไม่ได้เข้าร่วมพิธีกรรม อาจทำให้ผู้สูงอายุที่เคร่งศาสนาเกิดความเครียดจนเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้

 

อย่างไรก็ตาม ผู้นำศาสนาและชุมชนอื่น ๆ เห็นว่า ในปีนี้ควรให้เป็นข้อยกเว้น การทำพิธีกรรมทางศาสนาและเทศกาลต่าง ๆ จะสามารถจัดได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยืนยันเรื่องความปลอดภัยแล้วเท่านั้นจึงจะดีกว่า แม้แต่ผู้ดูแล กุมารี (สมมติเทพ) ซึ่งอาศัยอยู่ในวิหารศักดิ์สิทธิ์แห่งเทวีตาเลจู ก็ปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัย เพราะในมุมมองของเขา เชื่อว่า ศาสนิกชนต้องอยู่กับความเป็นจริง การจะทำพิธีกรรม รวมถึงการรักษาและส่งต่อวัฒนธรรมไปยังคนรุ่นถัดไป จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเขารอดไปจากสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ให้ได้ก่อน แม้ในช่วงนี้ คนภายนอกจะไม่สามารถเข้ามาในวิหารได้ แต่ผู้ดูแลกุมารีจะคอยทำพิธีในวิหารอยู่เสมอ

 

BBC

 

นอกจากนี้ นักปราชญ์ชื่อดังของเนปาล "สัตยา โมฮัน โจชี" อายุ 101 ปี ยังกล่าวตอบโต้ว่า ผู้คนควรดำเนินชีวิตตามวิทยาศาสตร์บ้าง มิใช่เพียงการทำตามพิธีกรรมเพียงอย่างเดียว ในอดีตโรคระบาดเป็นเหมือนคำสาปแช่งจากเทพเจ้า คนในเมืองต้องนำอาหารไปบวงสรวงเทพเจ้าและอ้อนวอนให้ทวยเทพให้อภัยเพื่อให้โรคระบาดหายไป แต่ความคิดแบบนั้นมันล้าสมัย การกระทำในนามของศาสนามันใช้ไม่ได้แล้ว เขาไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงในการแพร่ระบาดที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะการกระทำดังกล่าวอาจนำไปสู่ความพินาศทางเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุข ดังนั้นศาสนิกชนจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำด้านการแพทย์แบบประชาคมโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง