รีเซต

ทางหลวงชนบท ทุ่ม 4.8 พันล้าน ผุดสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาเชื่อมพัทลุง คาดเปิดใช้ปี’69

ทางหลวงชนบท ทุ่ม 4.8 พันล้าน ผุดสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาเชื่อมพัทลุง คาดเปิดใช้ปี’69
ข่าวสด
8 กุมภาพันธ์ 2565 ( 13:40 )
136

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ทช. ดำเนินการสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ถึง ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งให้เกิดความสมบูรณ์ เพิ่มศักยภาพในการเดินทางเชื่อมระหว่าง จ.พัทลุง กับ จ.สงขลา เสร็จแล้ว

 

โดยโครงการได้ผ่านการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อมจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม (คชก.) ของสำนักนโยบายเเละเเผน ทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม (สผ.) เรียบร้อยเเล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และในปี 2566 เตรียมของบ 4,841 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณปี 2566 แล้วเสร็จปี 2568 และเปิดให้ใช้บริการได้ในปี 2569

 

 

โครงการดังกล่าวจะช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและการเดินทางเชื่อมระหว่าง จ.พัทลุง กับ จ.สงขลา สามารถลดระยะทางได้ 80 กิโลเมตร หรือ ลดเวลาในการเดินทางได้ 2 ชั่วโมง รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนและยังเป็นเส้นทางอพยพในพื้นที่ จ.สงขลา ไปยัง จ.พัทลุง ได้รวดเร็วมากขึ้นหากเกิดภัยพิบัติ

 

สำหรับโครงการนี้มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกจากถนนทางหลวงชนบท พท.4004 (กม.ที่ 3+300) บ้านแหลมจองถนน ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง วางแนวข้ามทะเลสาบสงขลา ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และมีจุดสิ้นสุดที่ถนนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (ถนนรอบเกาะใหญ่) บริเวณ หมู่ 2 บ้านแหลมยาง ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา รวมระยะทางทั้งสิ้น 7 กิโลเมตร

 

 

โดยสะพานมีขนาด 2 ช่องจราจร (สามารถขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต) และมีรูปแบบสะพานที่เหมาะสม คือ สะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge) นอกจากนี้ บริเวณราวสะพานได้ออกแบบให้มีความสวยงาม โดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมมโนราห์ของท้องถิ่นมาประยุกต์ ประกอบกับลักษณะทางโครงสร้างของสะพานที่แตกต่างจากสะพานอื่นและสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงาม ทำให้สะพานแห่งนี้จะเป็นแลนด์มาร์ค (Landmark) ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง