ดอกเบี้ยไม่ใช่พระเอก! กนง.เอกฉันท์คง 0.50% ต่อปี จับตาสภาพคล่องล้น เศรษฐกิจอีก 2 ปีถึงจะกลับเป็นปกติ
ดอกเบี้ยไม่ใช่พระเอก! กนง.เอกฉันท์คง 0.50% ต่อปี จับตาสภาพคล่องล้น บีบบาปแข็งกระทบเศรษฐกิจฟื้น อีก 2 ปีถึงจะเป็นปกติ
กนง.คงดอกเบี้ย0.50% - นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะ กนง. เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2563 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากนี้ไม่ใช่พระเอกอีกต่อไป เพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันได้ลดต่ำมามากเมื่อเทียบกับในอดีต ต่ำเป็นประวัติการณ์ และถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดในภูมิภาค โดยทิศทางของเศรษฐกิจหลังจากนี้จะขึ้นอยู่กับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การดูแลเศรษฐกิจให้เกิดการฟื้นตัว เน้นเรื่องการจ้างงาน จำเป็นต้องประสานนโยบายทั้งมาตรการด้านการคลัง ควบคู่กับมาตรการด้านการเงินที่ต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยในส่วนนโยบายการเงินยืนยันว่ายังมีกระสุนเพียงพอ และพร้อมที่จะนำออกมาใช้ตามความจำเป็น
ทั้งนี้ คณะกรรมการ กนง. ได้มีการหารือกันภายหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศได้ดำเนินนโยบายใส่สภาพคล่องลงไปในระบบ ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์และทองคำปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัญหาสภาพคล่องจำนวนมากในระบบการเงินโลกนี้ถือเป็นความเสี่ยง ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามากดดันค่าเงินบาท คณะกรรมการ กนง. เห็นว่าจำเป็นต้องติดตามดูแลทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่าจนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ครึ่งหลังของปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัด คาดว่าจะยังเกินดุล แต่เป็นการเกินดุลที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับในอดีต เป็นไปตามปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันและการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้นแรงกดดันค่าเงินบาทจากดุลบัญชีเดินสะพัดจึงลดลง
นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า คณะกรรมการ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ และการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากโอกาสในการเกิดการระบาดระลอกที่ 2 โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด แต่การฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจ
“กนง. เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในไตรมาส 2/2563 ดีขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เดิมแต่ก็ยังหดตัวอยู่ ส่วนตัวเลขคงต้องรอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ชี้แจงในช่วงกลางเดือนนี้” นายทิตนันทิ์ กล่าว
ด้านการส่งออกสินค้า เริ่มฟื้นตัวแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ การส่งออกบริการ นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่นักท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ด้านอุปสงค์ในประเทศหดตัวทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การจ้างงานและรายได้ครัวเรือนได้รับผลกระทบรุนแรงจากเศรษฐกิจที่หดตัว และจะใช้เวลาฟื้นตัวนาน
นอกจากนี้ คณะกรรมการ กนง. เห็นว่ามาตรการภาครัฐในระยะข้างหน้า จำเป็นต้องสนับสนุนการจ้างงาน ส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง รวมถึงนโยบายด้านอุปทานเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องบริบทใหม่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง
"กนง. เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังจากการระบาดคลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์” นายทิตนันทิ์ กล่าว
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นบ้างตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มติดลบในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ตามราคาน้ำมันดิบที่จะทยอยปรับสูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ด้านภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อทดแทนการส่งออกตราสารหนี้
สำหรับสภาพคล่องโดยรวมในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง ต้องเร่งดำเนินการกระจายไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทยังผันผวนสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทกลับมาแข็งค่าตามกรอบการอ่อนค่าของดอลล่าร์ โดยคณะกรรมการ กนง. เห็นว่าหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงควรติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม