‘ทวี’ พบปะแม่ค้าย่านรามคำแหง เผยถูกเรียกเก็บภาษีเกินจริง เป็นภาระผู้ค้ารายย่อย
‘ทวี’ ลงพื้นที่พบปะแม่ค้า-ร้านอาหารย่านรามคำแหง บ่นสินค้าทุกชนิดราคาแพงขึ้นเกือบเท่าตัว เผยถูกเรียกเก็บภาษีสูงเกินจริง เป็นภาระผู้ค้ารายย่อย
เมื่อวันที่ 28 พ.ย.64 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย นายฐาคณิษฐ์ พรทองประเสริฐ รองเลขาธิการพรรคประชาชาติ และประธานภาคประชาชาติกรุงเทพฯและภาคกลาง นางวรลักษณ์ ศรีสอาด เหรัญญิกพรรคประชาชาติ และนายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ
พร้อมคณะลงพื้นที่เพื่อพบปะกับผู้ประกอบการร้านอาหาร และพ่อค้าแม่ค้า ย่านหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ซ.รามคำแหง 59-61 และศูนย์อาหาร 59 มินิพลาซ่า ที่มีมาตรฐานฮาลาล สะอาด ถูกสุขลักษณะอนามัย
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การมาพบกับผู้ประกอบการย่านการค้ารามคำแหง ที่เป็นกลุ่ม SME ผู้ประกอบการร้านอาหาร และร้านค้าย่านรามคำแหง ที่ย่านรามคำแหงเป็นชุมชนที่มาจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้จำนวนมาก ได้รับเสียงสะท้อนด้านปัญหาเศรษฐกิจในช่วงปิดกิจการ และพอเริ่มเปิดดำเนินการให้ประกอบอาชีพได้ ที่พบคือสินค้าทุกชนิดราคาแพงขึ้นเกือบเท่าตัว แต่ราคาอาหารไม่สามารถขึ้นได้ เพราะชุมชนส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามีรายได้น้อย และจึงพบปัญหาว่าทางรัฐบีบเก็บภาษีทำให้เดือดร้อนเพิ่มขึ้น
"สินค้าของชุมชนได้มาจากชนบทที่ราคาสินค้าเกษตร ทั้งข้าวและยางพารามีราคาถูก แต่ราคาปุ๋ยเคมีแพงมากเกือบเท่าตัว จึงมีความกังวล เกรงว่ารัฐจะปิดการประกอบกิจการ ทำให้มีแนวโน้มว่าอาจจะปิดกั้นการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพในประเทศอีกหากเกิดการแพร่ระบาดโควิดรอบใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการเสนอปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาในหลายมิติ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจของผู้ประกอบการคนไทย" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การมาพบกับผู้ประกอบการย่านการค้ารามคำแหงในวันนี้สะท้อนปัญหาว่า ขณะนี้ประชาชนเรียกร้องความช่วยเหลือในหลายมิติ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจของผู้ประกอบการคนไทย สิ่งที่ผู้ประกอบการเป็นห่วงที่สุดคือกลัวต้องถูกล็อกดาวน์อีกรอบหนึ่ง ซึ่งขนาดนี้ก็ประสบปัญหาในการทำธุรกิจอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นต้นทุนสินค้าอาหารที่ราคาสูงขึ้นมาก เช่น น้ำมันพืช ผักสดต่างๆ และเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าการเกษตร ก็มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากราคาปุ๋ยที่สูงขึ้นมาก
ลูกค้าย่านรามคำแหงกว่า 70% เป็นนักศึกษาที่มาจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากราคายางที่ตกต่ำ ทำให้จำนวนนักศึกษาลดลงมาก หอพักจึงว่างเป็นจำนวนมาก และกำลังซื้อมีน้อย ราคาอาหารหน้ารามฯ จึงไม่สามารถขึ้นราคาได้ เพราะผู้บริโภคที่เป็นนักเรียนนักศึกษายังไม่มีกำลังซื้อ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยยังถูกเรียกเก็บภาษีจากการเข้าโครงการคนละครึ่งของรัฐ โดยส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ในการยื่นภาษีที่ถูกต้อง ไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจึงถูกเรียกเก็บภาษีสูงเกินจริง กลายเป็นภาระของผู้ค้ารายย่อย รัฐบาลควรแก้ไขโดยการละเว้นภาษีในวิกฤตนี้