ปวดส้นเท้า ยิ่งเดินยิ่งเจ็บ สัญญาณเตือน "โรครองช้ำ"
เคยเป็นไหม? ก้าวแรกหลังจากตื่นนอนหรือนั่งพักนานๆ จู่ๆ ก็มีอาการเจ็บบริเวณส้นเท้า ยิ่งเวลาเดินยิ่งเจ็บ ซึ่งอาการดังกล่าวบ่งบอกว่าคุณอาจกำลังเป็น "โรครองช้ำ"
โรครองช้ำ (Plantar Fasciitis) คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบบริเวณพังผืดใต้ฝ่าเท้า ส่วนใหญ่มักเป็นบริเวณที่พังผืดยึดกับกระดูกส้นเท้า ผู้ป่วยมักมีการเจ็บปวดบริเวณส้นเท้าเวลาลงน้ำหนัก และปวดไปจนถึงฝ่าเท้า
สังเกตอาการ เจ็บแบบนี้...อาจเป็นโรครองช้ำ
เจ็บที่ส้นเท้าแล้วลามไปทั่วฝ่าเท้า ลักษณะของอาการเจ็บจะเป็นแบบปวดจี๊ดขึ้นมาและปวดอักเสบ โดยความเจ็บปวดจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย อาการปวดจะรุนแรงที่สุดเมื่อเริ่มมีการลงน้ำหนักที่ส้นเท้าในก้าวแรก นอกจากนี้อาจมีอาการปวดขึ้นได้ในระหว่างวัน
นอกจากนี้ อาจมีอาการกดเจ็บบริเวณกึ่งกลางของกระดูกส้นเท้าร่วมด้วย หากคลำที่กระดูกบริเวณนั้นจะพบว่ามีความนูนมากกว่าปกติ หรือในผู้ป่วยบางคนอาจมีเนื้อส้นเท้าบริเวณนั้นบางกว่าคนปกติ
โรครองช้ำ มีหลายสาเหตุ ดังนี้
- เกิดจากการรับน้ำหนักเป็นเวลานาน ทำให้เอ็นที่ฝ่าเท้ารับน้ำหนักมาก พบได้บ่อยกับผู้ที่ต้องยืนเป็นเวลานานระหว่างวัน
- น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ในคนอ้วนมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากกว่า เนื่องจากแรงกระแทกจะมีการแปรผันตามน้ำหนักตัวที่ลงไปบนส้นเท้า
- สวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม ใช้รองเท้าที่พื้นบางเกินไปจนไม่สามารถรับแรงกระแทกได้ดีพอ เช่น รองเท้าที่ไม่มีพื้นบุรองส้นเท้า เป็นต้น
- วิ่งหักโหม เพิ่มระยะทางการวิ่งออกกำลังกายมากเกินไป หรือการวิ่งในระยะทางที่ไกลเกินไป การเดินหรือวิ่งบนพื้นผิวที่ต่างไปจากเดิม การวิ่งบนพื้นแข็ง
- การวิ่งกระแทกส้น สาเหตุนี้มักพบในคนที่ชอบวิ่งก้าวยาว ๆ ทำให้จังหวะลงเท้ามีการกระแทกอย่างรุนแรงที่ส้นเท้า
- โครงสร้างร่างกายบางครั้งก็มีความเสี่ยง เช่น เท้าแบนเกินไป อุ้งเท้าโก่งมากเกินไปหรือเส้นเอ็นยึดบริเวณน่อง ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อเท้าได้ตามปกติ
การรักษาโรครองช้ำ
- ลดการใช้ ลดการอักเสบ ลดแรงกระแทกที่ส้นเท้า
- เลือกรองเท้าที่มีเจลรับแรงกระแทกบริเวณส้นเท้าเป็นพิเศษหรือเจาะรูที่พื้นรองเท้าให้เป็นวงกลมเพื่อไม่ให้เกิดแรงกดทับบริเวณที่อักเสบ
- หากมีรูปเท้าที่ผิดปกติควรเลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับรูปร่างของเท้า ให้ความสำคัญกับพื้นรองเท้า ต้องมีความหนานุ่มเพียงพอ เพื่อช่วยพยุงและรองรับฝ่าเท้าได้ดี
- ปรับท่าวิ่งให้ก้าวสั้นลงและพยายามเปลี่ยนมาลงน้ำหนักให้เต็มฝ่าเท้าอย่างนุ่มนวล
- หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็ง
- บริหารด้วยการยืดพังผืดฝ่าเท้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พังผืดเกิดความยืดหยุ่น จะสามารถช่วยลดแรงกระชากบริเวณจุดเกาะที่กระดูกส้นเท้า ส่วนผู้มีพังผืดตึงมาก ๆ ให้แช่เท้าในน้ำอุ่นก่อนทำการยืดประมาณ 15 – 20 นาที เพื่อให้พังผืดอ่อนตัว และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จะช่วยลดอาการเจ็บขณะบริหาร
- ลดน้ำหนักตัว หากน้ำหนักตัวยังคงมากอยู่ ควรเปลี่ยนไปออกกำลังชนิดอื่นที่ไม่มีการกระแทกบริเวณส้นเท้า เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน
- เมื่อกลับไปวิ่ง ควรเพิ่มระยะอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มต้นวิ่งบนพื้นที่นุ่ม ๆ ก่อน และหากมีอาการเจ็บควรหยุดวิ่งทันทีอย่าฝืน
- การนวดบริเวณฝ่าเท้า การนำเท้าแช่ในน้ำอุ่นเป็นเวลา 5-10 นาที
- รับประทานยาแก้อักเสบก็สามารถช่วยได้
- การทำกายภาพบำบัด
- การผ่าตัดมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะจะผ่าตัดบริเวณผังผืดที่อักเสบออกไป ซึ่งบางคนเมื่อผ่าตัดไปแล้วอาจจะทำให้เท้าแบนถาวรได้
* ขอบคุณข้อมูลจาก *
- ภาพประกอบจาก Pixabay.com
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เคล็ด (ไม่) ลับ 5 ข้อ ไม่อยากเป็น "ตะคริว" ต้องทำตามนี้!
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE