รีเซต

‘สงกรานต์’เมืองกรุง รื่นเริงเทศกาลไทยวิถีใหม่

‘สงกรานต์’เมืองกรุง รื่นเริงเทศกาลไทยวิถีใหม่
มติชน
11 เมษายน 2565 ( 06:40 )
57

โควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้ “เทศกาลสงกรานต์” ของกรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาบรรยากาศในหลายพื้นที่เงียบเหงาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เนื่องจากรัฐบาลได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนงดจัดกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนั้น รัฐบาลได้ประกาศเลื่อนวันหยุดของเทศกาลสงกรานต์ ช่วงวันที่ 13-15 เมษายน ออกไปเป็นหยุดชดเชยช่วงเดือนกรกฎาคม ถือเป็นครั้งแรกของคนไทยและคนกรุงเทพฯ ที่ต้องยกเลิกกิจกรรมต่างๆ ในวันสงกรานต์ รวมถึงงดเว้นการเดินทางข้ามจังหวัด งดเว้นการรดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด

 

ต่อมาในปี 2564 แม้จะเริ่มผ่อนคลายขึ้น แต่ยังเป็นอีกปีที่คนไทยต้องปรับตัวกับการฉลองปีใหม่ไทยที่แตกต่างออกไปจากวิถีเดิม เพราะยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การสาดน้ำ การจัดงานรื่นเริง รวมถึงกิจกรรมหลายอย่างทำได้แค่บางส่วน และจะต้องอยู่ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด

 

มาถึงปี 2565 ที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของการอยู่ร่วมกับโรคระบาด ขณะนี้คนไทยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 1 ครอบคลุมร้อยละ 80.1 ของประชากรทั้งหมด เข็มที่ 2 ร้อยละ 72.5 ของประชากรทั้งหมด และเข็มที่ 3 ร้อยละ 34.8 ของประชากรทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 5 เมษายน 2565) ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการ อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมสงกรานต์ตามประเพณี เช่น สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว การละเล่น และการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรี ในพื้นที่ที่จัดงานให้มีการเล่นน้ำได้ แต่ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการโควิด ฟรี เซตติ้ง (COVID Free Setting) และมีการกำกับอย่างเคร่งครัด กำหนดช่องทางเข้า-ออกจากงาน จัดจุดคัดกรอง และควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร ผู้ร่วมงานต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง ตลอดเวลาที่ร่วมงาน แต่ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน และห้ามเล่นน้ำในพื้นที่สาธารณะที่ไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน ฯลฯ เนื่องจากไม่มีการควบคุมตามมาตรการโควิด-19 หากจะมีเรื่องบันเทิง สันทนาการ จะต้องมีการขออนุญาตตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเป็นผู้พิจารณา

 

สำหรับพื้นที่ “กรุงเทพมหานคร” นั้น ตามที่สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว กทม. ได้วางแผนเตรียมการจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน 2565 เวลา 10.00-22.00 น. ที่ลานสแควร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในปัจจุบันที่มีผู้ติดเชื้อ รวมถึงผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้จะไม่สูงเท่ากับการระบาดในระลอกแรกๆ แต่ล่าสุด กทม.ได้ประเมินสถานการณ์และประกาศงดจัดกิจกรรมดังกล่าว ด้วยหวั่นเกรงว่าการรวมตัวของคนจำนวนมาก อาจจะไม่เป็นผลดี โดยขอให้ประชาชนฉลองสงกรานต์ที่บ้านตามนโยบายกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ที่งดการจัดงานเช่นกัน และขอให้ประชาชนรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ญาติผู้ใหญ่ที่บ้าน อยู่กับครอบครัว ไม่ออกจากบ้านไปรับความเสี่ยง นอกจากนี้ ในส่วนของถนนข้าวสารและถนนสีลม ซึ่งเป็นไฮไลต์ในการกิจกรรมสงกรานต์ในช่วงก่อนมีโควิด-19 ก็แจ้งงดจัดกิจกรรมเช่นกัน

 

สำหรับ 50 สำนักงานเขต ก็ได้แจ้งงดจัดงานสงกรานต์ใน 47 เขต มีเพียง 3 เขต ที่ยังคงจัดกิจกรรม ได้แก่ ที่สำนักงานเขตพระโขนง เขตบางบอน ที่วัดโพธิ์พุฒตาล ที่แจ้งไว้ว่าจะมีการจัดกิจกรรมเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ในวันที่ 8 เมษายน และที่สำนักงานเขตลาดพร้าว ในวันที่ 11 เมษายน โดยมีกิจกรรมทางศาสนาและการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย อาทิ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี งานสงกรานต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ขนาดเล็กๆ ยังคงมีบ้างประปราย และประชาชนยังสามารถเดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมได้ โดยภาคเอกชนขออนุญาตจัดงาน 2 พื้นที่ คือ

 

1.งาน “ไอคอนสยาม มหัศจรรย์เจ้าพระยา มหาสงกรานต์ 2565” ระหว่างวันที่ 8-17 เมษายน ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม มีกิจกรรม อาทิ สักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสรงน้ำพระพุทธรูปเพื่อความเป็นสิริมงคล มีเวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรม และจำหน่ายอาหารและผลิตภัณฑ์

 

2.งาน Water Festival 2022 เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน บริเวณ 9 ท่าน้ำร่วมสมัย ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร, ท่ามหาราช, เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, เดอะล้ง 1919 และสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม โดยจะมีกิจกรรมไหว้พระทำบุญ และจำหน่ายสินค้าชุมชน ทั้งหมดนี้ จัดกิจกรรมภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด อาทิ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องแสดงผลการฉีดวัคซีน มีจุดคัดกรองบริเวณทางเข้า-ออก ควบคุมจำนวนคน จำกัดพื้นที่ 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร เป็นต้น

 

“นายปิยะ พูดคล่อง” ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กทม. ได้คาดการณ์รายได้ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ของพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า เบื้องต้นคาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 23,400 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.5 เม็ดเงินใช้จ่ายปรับตัวลดลงเกือบทุกกิจกรรม เพราะคนมีแผนทำกิจกรรมลดลงจากปีที่แล้ว เพราะโรคระบาดประกอบกับผลจากค่าครองชีพ และเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่ระมัดระวังการใช้จ่าย เช่น จากเดิมที่เลี้ยงสังสรรค์นอกบ้าน ก็หันมาทำกับข้าวรับประทานกันเอง และลดปริมาณการซื้อวัตถุดิบเท่าที่จำเป็น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะที่การช้อปปิ้งซื้อสินค้า ส่วนใหญ่ยังคงซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายเป็นหลัก แต่จำนวนการซื้อสินค้าลดลง และตัดสินใจซื้อตามโปรโมชั่น…

 

รื่นเริง ฉลองอย่างเงียบๆ ตามยุคสมัยไวรัสครองเมือง เศรษฐกิจไม่สร่างไข้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง