รีเซต

7 เครื่องมือป้องกัน ช่วย กทม. ให้รอดพ้นภัย จากน้ำเหนือหลากเข้าท่วม : Exclusive By วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์

7 เครื่องมือป้องกัน ช่วย กทม. ให้รอดพ้นภัย จากน้ำเหนือหลากเข้าท่วม : Exclusive By วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์
TNN ช่อง16
1 กันยายน 2567 ( 12:17 )
14

 สถานการณ์น้ำท่วมเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่ใกล้ตัว และ สร้างความกังวลให้กับชาวกรุงเทพมหานครมากที่สุด ภาพเมืองหลวงถูกแช่น้ำในปี 2554 ยังตามหลอกหลอนชาวพระนครทุกครั้ง เมื่อปริมาณน้ำเหนือเริ่มส่อแววจะวิกฤต

แต่ถ้าพิจารณาในข้อเท็จจริงของชัยภูมิที่ตั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มอยู่ปลายน้ำ เป็นเส้นทางระบายน้ำทางเหนือผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่ากลางเมืองออกสู่อ่าวไทย คำถามที่ถูกต้อง คือ ทำไมกรุงเทพมหานครจึงไม่ถูกน้ำท่วม เหมือนจังหวัด อื่น ๆ มากกว่า

ทั้งที่การเลือกที่ตั้งเมืองหลวงแห่งนี้เมื่อกว่า 200 ปีก่อน คือการจงใจเลือกพื้นที่น้ำหลาก เพราะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การรบป้องกันเมืองจากข้าศึกสมัยก่อน ที่ถอดแบบมาจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งใช้น้ำท่วมในการขับไล่ข้าศึกอย่างพม่ารามัญที่เข้าล้อมเมืองในช่วงฤดูน้ำหลาก

คำตอบของคำถามข้างต้น คือ เพราะกรุงเทพมหานครมีระบบป้องกันน้ำท่วมที่ออกแบบมาเพื่อไม่ให้น้ำเหนือไหลผ่านกรุงเทพมหานครโดยตรง เมื่อกาลเวลาผันเปลี่ยนประโยชน์จากน้ำเหนือที่กลายเป็นอาวุธป้องกันข้าศึกเมื่อราว 200 ปีก่อน ได้เปลี่ยนเป็นอาวุธทำลายเมืองหลวงที่ห่อหุ้มด้วยระบบเศรษฐกิจของประเทศ

 

เครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างระบบป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาหลากเข้าท่วมเมืองหลวง ประกอบไปด้วย 7 เครื่องมือ ซึ่งใช้ในการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ช่วงต้นแม่น้ำเจ้าพระยา

 

โดยเมื่อแม่น้ำหลัก 4 สาย ประกอบด้วย ปิง วัง ยม น่าน ไหลมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ กลายเป็นต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคือเส้นทางน้ำเหนือสายหลักที่มุ่งตรงลงสู่เมืองหลวง  โดยระบบป้องกันน้ำเหนือเริ่มจากเครื่องมือที่อยู่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา

เครื่องมือชิ้นแรก คือการผันน้ำไปยังลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก 

โดยผันน้ำไปยังคลองมะขามเฒ่า-อู่ทองผ่านประตูระบายน้ำมาขามเฒ่าอู่ทอง  

ผันน้ำไปยังแม่น้ำท่าจีนผ่านประตูระบายน้ำพหลเทพ 

ผันน้ำไปยังประตูระบายน้ำบรมธาตุ ซึ่งการตัดน้ำไปยังเจ้าระยาฝั่งตะวันตกช่วยลดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้พอสมควร

 

เครื่องมือชิ้นที่สอง คือ คือการผันน้ำลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก 

โดยผันน้ำไปยังคลองชัยนาท-ป่าสัก ความยาวกว่า 130 กิโลเมตร ผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ ซึ่งน้ำเส้นทางนี้จะไหลไปรวมกับน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ก่อนส่งน้ำไปยังคลองระพีพัฒน์  และคลองรังสิตประยูรศักดิ์ บริเวณทุ่งรังสิต จ. ปทุมธานี ก่อนจะส่งน้ำไปยังกรุงเทพฝั่งตะวันออก และลงสู่อ่าวไทยผ่าน จ.สมุทรปราการ และ จ.ฉะเชิงเทรา

การผันน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกจุดที่ 2 คือการผันน้ำไปยังคลองชัยนาท - อยุธยา ผ่านประตูระบายน้ำมหาราช ซึ่งการตัดน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 800 เมตร โดยมีแนวคลองเริ่มต้นจากเหนือเขื่อนเจ้าพระยาฝั่งซ้าย ส่งนํ้าขนานไปกับแม่นํ้าเจ้าพระยา ผ่านจังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จนไปสิ้นสุดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตรงภูเขาทอง

 

เครื่องมือชิ้นที่ 3 คือ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งขวางอยู่กลางเจ้าพระยา ที่บริเวณ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท สามารถระบายน้ำผ่านเขื่อนได้สูงสุดประมาณ 3,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 

โดยในการปล่อยน้ำจะควบคุมอยู่ในระดับไม่เกิน 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อมิให้กระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา

 

เครื่องมือชิ้นที่ 4 คือ การผันน้ำไปยังแม่น้ำลพบุรี ผ่านประตูระบายน้ำลพบุรี และ ประตูระบายน้ำบางแก้ว ซึ่งจะทำให้น้ำบางส่วนเดินทางอ้อมไปยังอ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจุดนี้สามารถหน่วงน้ำได้ได้เป็นอย่างดี    

 

เครื่องมือชิ้นที่ 5 การผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ ผ่านคลองโผงเผง และ คลองบางบาล  โดยมวลน้ำบางส่วนจะไหลผ่านไปยังแม่น้ำน้อย 530 ลบ.ม./วินาที  และ ผันเข้าทุ่งบางบาล ซึ่งเปรียบเสมือนแก้มลิงธรรมชาติ ที่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้จำนวนมาก  มีพื้นที่ลุ่มต่ำประมาณ 27,450 ไร่ 

 

เครื่องมือชิ้นที่ 6 แนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมน้ำเจ้าพระยา  โดยกรุงเทพมหานครสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมแบบถาวรริมเจ้าพระยาความยาวประมาณ 87.93 กม. มีความสูงระดับความสูงของคันกั้นน้ำอยู่ที่ระดับ+2.80 ม.รทก.ถึง+3.50 ม.รทก. (เมตร.ระดับทะเลปานกลาง) สามารถรองรับปริมาณน้ำเหนือหลากที่ไหลผ่าน กรุงเทพฯได้ที่ปริมาณ 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที  

โดยจะมีบางจุดที่ชุมชน หรือ เจ้าของที่ดินริมแม่น้ำไม่ยอมรับการสร้างเขื่อนถาวร จึงกลายเป็นพื้นที่ฟันหลอจากแนวป้องกัน ซึ่ง กทม. ใช้วิธีการเสริมแนวป้องกันด้วยกระสอบทราย และ เครื่องสูบน้ำในการบรรเทาความเดือดร้อน และ อุดรอยรั่ว 

เครื่องมือชิ้นที่ 7  ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดสร้างขึ้น เพื่อย่นการระบายน้ำจากที่ไหลผ่านกรุงเทพ ให้สามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้น 

หลักการทำงานของคลองลัดโพธิ์ คือ ใช้การพัฒนาธรรมชาติประยุกต์กับแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมซึ่งมีลักษณะไหลวนคดเคี้ยวรอบพื้นที่บางกะเจ้าด้วยความยาว 18 กิโลเมตร ทำให้การระบายน้ำพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครเป็นไปได้ช้า ไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน  จึงมีการจัดสร้าง คลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นทางลัดระบายน้ำเหนือ ซึ่งจะทำให้ช่วยระบายน้ำได้เร็วเพราะระยะทางสั้น เพียง 600 เมตร ก็ออกทะเลหากวันใดมีน้ำทะเลขึ้นสูงก็ปิดประตูไม่ให้น้ำทะเลเข้ามา

จะเห็นได้ว่าเครื่องมือป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพทั้ง 7 ส่วน ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันน้ำท่วมอย่างเป็นระบบทั้งก่อนปี 2554 และ มีการปรับปรุงประสิทธิภาพ หรือ สร้างเพิ่มเติมขึ้นมา หลังปี 2554  ซึ่งระบบป้องกันน้ำท่วมที่ได้ฉายภาพให้เห็นนั้นเป็นเพียงการป้องกันน้ำท่วมจากน้ำเหนือเท่านั้น ส่วนภัยน้ำท่วมอีก 2 ด้าน คือจากฝนตกแช่ และ น้ำทะเลหนุน กทม.ยังมีเครื่องมือในการรับมือที่ต่างออกไป 


Exclusive By วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง