รีเซต

ภาคธุรกิจตรัง ตบเท้ายื่นหนังสือผู้ว่าฯเรียกร้องสั่งปิดห้าง-โรงแรม หลังทนรับสภาพขาดทุนไม่ไหว

ภาคธุรกิจตรัง ตบเท้ายื่นหนังสือผู้ว่าฯเรียกร้องสั่งปิดห้าง-โรงแรม หลังทนรับสภาพขาดทุนไม่ไหว
มติชน
2 เมษายน 2563 ( 11:38 )
154

วันที่ 2 เมษายน 2563 ที่ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดตรัง ผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชนทั้ง ห้างสรรพสินค้า โรงแรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และผู้ประกอบการรายย่อยที่เช่าพื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้าต่างๆบุกขอพบและยื่นหนังสือเรียกร้องนายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อขอให้ออกคำสั่งปิดห้างสรรพสินค้า และธุรกิจโรงแรม เนื่องจากทนรับสภาพขาดทุนไม่ไหว ยอดขายตก ลูกค้าและนักท่องเที่ยวเหลือศูนย์ ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า ไม่มีเงินจ่ายพนักงาน

ทั้งนี้ หากทางจังหวัดออกคำสั่งปิด ทางผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นผู้เช่าพื้นที่ภายในห้าง ก็จะได้ไม่ต้องจ่ายค่าเช่ารายเดือน และไม่มีความผิดตามสัญญาเช่า ขณะเดียวกันสามารถเข้าสู่ระบบมาตการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐที่ออกมาได้ เช่น เงินชดเชย 5,000 บาท, เงินชดเชยเยียวยาลูกจ้างประกันสังคม ,ค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น แต่หากยังคงเปิดให้ดำเนินกิจการต่อไป นอกจากเดือดร้อนอย่างหนักจากการไม่มีรายได้เข้า และต้องแบกค่าใช้จ่ายรายเดือนแล้ว ยังต้องเสี่ยงกับการติดเชื้อโรคจากลูกค้า และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาด้วย โดยไม่ทราบว่าแต่ละคนเป็นใครมาจากไหน มาจากพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ และลูกค้าที่เข้าไปเดินในห้างกว่า 50% ไม่สวมหน้ากากอนามัย

นายศักร์สฤษฎิ์ ศรีประศาสตร์ ตัวแทนผู้ประกอบการรายย่อย (เช่าพื้นที่ภายห้างโรบินสันตรัง)กล่าวว่า ผู้ประกอบการรายย่อยที่เช่าพื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้าต่างๆในจังหวัดตรังมีมากกว่า 100 ราย ประสบปัญหาเดือดร้อนอย่างหนักเหมือนกันทุกราย เพราะลูกค้าขณะนี้เหลือศูนย์ ส่วนตนเองต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ในห้างโรบินสันเดือนละ 50,000 บาท หลัง 15 มีนาคมเป็นต้นมา ยอดขายตกเหลือวันละ 50 บาท บางวัน 500 บาท จากปกติขายได้วันละ 5,000บาท ทนสภาพขาดทุนไม่ไหว ผู้ที่สั่งปิดห้างได้มี 2 คนคือ เจ้าของห้างโรบินสัน และอำนาจที่ 2 คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง หากผู้ประกอบการหยุดขายเฉยๆ ก็จะผิดสัญญาเช่าถูกห้างยกเลิกสัญญาและเสียค่าปรับ แต่หากผู้ว่าฯใช้อำนาจปิด ทุกอย่างก็หยุดนิ่ง ค่าเช่าก็ไม่ต้องจ่าย ลูกจ้างก็สามารถเข้าระบบช่วยเหลือเยียวยาได้ และไม่เสี่ยงกับการติดเชื้อ

ส่วนทางด้านผู้ประกอบการโรงแรมและการท่องเที่ยว นายบรรจง นฤพรเมธี ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตรัง ก็เรียกร้องขอให้ทางจังหวัดสั่งปิดห้างสรรพสินค้า และโรมแรมเช่นกัน พร้อมยื่นหนังสือข้อเรียกร้องเสนอให้ภาครัฐหันมาใส่ใจและเข้ามาดูแล หรือช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มอย่างจริงจัง เพื่อให้ทั้งในส่วนขององค์กรแรงงาน และผู้รับผลกระทบสามารถดำรงชีวิต หรือ ประคองกิจการไปได้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยเสนอ 6 มาตราการเยียวยา และลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจจากปัญหาที่เกิดขึ้น ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและเสนอผ่านไปถึงรัฐบาลพิจารณา ประกอบด้วย

1.โรงแรมที่มีความประสงค์จะปิดกิจการชั่วคราวให้ลงทะเบียนขอปิดกิจการชั่วคราวมายังจังหวัด เพื่อสั่งปิดกิจการเป็นการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย เนื่องจากเพื่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิค-19 ตามมาตรา79/1 พรบ.คุ้มครองแรงงาน และให้ระบบประกันสังคมจ่ายเงินแก่ผู้ว่างงานจากเหตุสุดวิสัยในอัตรา 50% เป็นเวลา 180 วัน

2. ให้ยกเว้นการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทางฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเป็นระยะเวลา 180 วัน

3. ให้ยกเว้นการจ่ายภาษีที่ดิน ภาษีป้าย และภาษีบำรุงท้องที่ในปีพ.ศ.2563

4. ขอลดอัตราดอกเบี้ย 50 %จากธนาคารพาณิชย์ที่เอกชนกู้อยู่ โดยภาครัฐเป็นผู้ชดเชยส่วนลด

5. ขอลดค่าน้ำปะปา และค่าไฟฟ้า ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งกรณีนี้เป็นมาตราการของประเทศต่าง ๆ ที่ประกาศใช้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

และ 6. ค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณท์ในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค และอุปกรณ์สำหรับดำเนินการป้องกัน COVID-19 สามารถเอามาหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้

ทางด้านนายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้นำปัญหาดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตรัง เพื่อพิจารณาว่าถึงเวลาจะออกคำสั่งปิดห้างสรรพสินค้า และโรงแรม ได้แล้วหรือไม่ โดยท้ายที่สุดทางจังหวัดขอเวลาศึกษาฐานข้อมูลให้เพียงพอ นอกจากตัวเลขระบาดวิทยาแล้ว จะต้องทำการเอกซเรย์พื้นที่อย่างละเอียดถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดในพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครตรัง ที่ขณะนี้ทางเทศบาลยังไม่ได้ทำตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ในการเอกซเรย์พื้นที่ตัวเลขคนที่เดินทางจากต่างประเทศ จากพื้นที่ระบาด พื้นที่ระบาดต่อเนื่อง เดินทางจากมาเลเซีย จากกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจากจังหวัดระบาดคือ จ.ภูเก็ต มีประมาณเท่าไร ความเสี่ยงในการเกิดโรค ซึ่งแตกต่างจากตำบล หมู่บ้านต่างๆ ที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.ทำการเอกซเรย์อย่างละเอียด และสั่งกักตัวทุกคนที่เข้าในพื้นที่ จึงไม่มีฐานข้อมูลที่เพียงพอในการประเมินความเสี่ยง เพื่อนำมาพิจารณาว่าสมควรจะสั่งปิดหรือไม่ จึงขอเวลาเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อนำมาพิจารณาต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง