รีเซต

เปิดไทม์ไลน์ "ครอบครัวทูต" ด.ญ.9 ขวบ ติดโควิด-19 พักคอนโดฯส่วนตัว ศบค.ชี้ระลอก2 ใกล้เข้ามาแล้ว

เปิดไทม์ไลน์ "ครอบครัวทูต" ด.ญ.9 ขวบ ติดโควิด-19 พักคอนโดฯส่วนตัว ศบค.ชี้ระลอก2 ใกล้เข้ามาแล้ว
มติชน
13 กรกฎาคม 2563 ( 13:56 )
273
เปิดไทม์ไลน์ "ครอบครัวทูต" ด.ญ.9 ขวบ ติดโควิด-19 พักคอนโดฯส่วนตัว ศบค.ชี้ระลอก2 ใกล้เข้ามาแล้ว
เปิดไทม์ไลน์ “ครอบครัวทูต” ด.ญ.9 ขวบ ติดโควิด-19 พักคอนโดฯ ส่วนตัว ศบค.ชี้ระลอก2 ใกล้เข้ามาแล้ว

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) กล่าวระหว่างแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า นอกเหนือจากชุดข้อมูลของทหารอียิปต์ และลูกเรือที่จะต้องมีการสบสวนโรคมในพื้นที่ จ.ระยอง แล้ว ยังมีชุดข้อมูลที่สืบเนื่องจากวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม ที่การรายงานผู้ป่วย 12 ราย โดยเป็นนักศึกษา 11 ราย และเด็กหญิง 1 ราย จึงต้องขยายผลของผู้ป่วยเด็กหญิงรายนี้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เด็กหญิง 1 ราย ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับคณะทัวร์ของคณะทูต เป็นผู้ป่วยเด็กหญิง อายุ 9 ปี เดินทางกลับมาภูมิภาคแอฟริกา โดยวันที่ 7 กรกฎาคม ออกเดินทางออกจากภูมิภาคแอฟริกามาประเทศไทย 5 คน โดยเป็นมารดาและครอบครัวรวมผู้ป่วยแล้ว ตรวจเชื้อก่อนเดินทางตามข้อกำหนดในประเทศซูดาน ถึงประเทศไทยวันที่ 10 กรกฎาคม เวลา 05.40 น. และตรวจหาเชื้อผลการคัดกรองไม่มีอาการ แต่เมื่อส่งตรวจแล้วพบเชื้อ โดยบิดาได้ส่งผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) เอกชนแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร และนำสมาชิกที่เหลือไปพำนักที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องเพิ่มเติม โดยวันที่ 11 กรกฎาคม ผลตรวจแพทย์พบว่า มีอาการปอดอักเสบจึงได้ส่งตัวมารักษาต่อที่ รพ.ของรัฐแห่งหนึ่งใน กรุงเทพฯ

“ศบค.ได้คุยกันว่า รายนี้เป็นตามข้อกำหนดใน (3) คือ บุคคลในคณะทูต กงสุล องค์การต่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ ที่มาปฏิบัติงานในประเทศไทย ซึ่งเราทำแบบนี้มาตั้งแต่แรกคือการให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยให้อาศัยในพื้นที่สถานทูต ถือเป็นการกักบริเวณแบบ Self-Quarantine หรือเรียกว่า เป็นพื้นที่ของท่านและต้องอยู่ในครบ 14 วัน เป็นมาตรการในข้อ 4 ที่ระบุว่า ให้เข้ารับการกักกันในที่พำนักของบุคคลดังกล่าวที่อยู่ในการกำกับควบคุมดูแลจากต้นสังกัดเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ซึ่งเราเห็นความไม่ตรงกันในหลายพื้นที่ ในแต่ละสถานทูต ก็มีทั้งเป็นสถานที่ของตนเอง และในกรณีนี้เป็นครอบครัวเขาที่มาพักอยู่ที่คอนโดฯ เราจึงจะต้องกำหนดมาตรการโดยละเอียดที่คอรบคลุมมากกว่านี้ เพราะเป็นความเสี่ยงเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่สามารถโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไปร่วมกัน มาตรการต่างๆ เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ โรคนี้เป็นโรคใหม่” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญคือ 1.สถานที่พำนักในคอนโดฯ แห่งนี้ทีมสอบสวนโรคจะต้องเข้าไปสอบสวนในพื้นที่ และเรียนให้ประชาชนในพื้นใกล้เคียงเข้าใจและให้ความร่วมมือ แต่ไม่ต้องตกใจเนื่องจากผู้ป่วยเด็กหญิงมีอาการน้อยมาก การเดินมามาในระยะสั้น แต่หากมีความสงสัยเรื่องใดให้สอบถามกับกรมควบคุมโรคได้ 2.ศบค.ได้คุยกันในระหว่างหน่วยงาน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ การตรวจชุดข้อมูลของพำนักหรือระบบการรายงานข้อมูล ซึ่งจำเป็นต้องรับทราบและขอความร่วมมือ เนื่องจากเป็นทูตต่างประเทศที่เดินทางมา เราจะต้องดูแลกันในทุกฐานะ ทุกศาสนา ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างดี ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพื่อให้คนไทยปลอดเชื้อให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ โดยรัฐบาลไทยได้ดูแลลูกของท่านทูตเป็นอย่างดี จึงต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน

ผู้สื่อข่าวถามว่า นักธุรกิจชาวปากีสถานที่เอกสารไม่ครบแต่บินมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ ศบค.จะดำเนินการอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้า ศบค.ชุดเล็กได้หารือกันว่า ในชุดของผู้เดินทางมาจากปากีสถาน 27 ราย มีเอกสารครบถ้วน พร้อมมีระบบรายงานระหว่างทางการไทย ซึ่งมี 2 แบบ คือ แบบที่ 1 นำเอกสารเข้ามาอย่างครบถ้วน แบบที่ 2 เอกสารที่ประสานกันระหว่างภายในหน่วยงานของไทยที่จะต้องระบุรายชื่ออย่างครบถ้วน โดย 27 ราย มีเอกสารที่เดินทางเข้ามาครบหมด แต่เอกสารที่ส่งกันภายในหน่วยงานภายใน พบว่า 19 ราย มีเอกสารครบ แต่อีก 8 ราย ยังขาด ซึ่งเป็นการประสานงานล่าช้า ไม่ได้เป็นการลักลอบหรือหลบหนีเข้ามา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปปรับปรุงแก้ไข

เมื่อถามว่า การหลบหนีเข้ามาในพื้นที่พรมแดนธรรมชาติ ศบค.มีการดำเนินการอย่างไร และผู้เดินทางเข้ามาแล้วจะติดตามอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่ดำเนินการมาโดยตลอดและมีการรายงานว่ามีผู้ลักลอบเข้ามากว่า 3,000 ราย แต่เมื่อเข้ามาแล้วหากมีการตรวจพบก็จะมีการผลักดันออกไปซึ่งเป็นการสนธิกำลังระหว่างตำรวจและทหาร ดังนั้นจำนวนตัวเลขเป็นเพียงการสะสมในเดือนมิถุนายน แต่มีจำนวนผู้ที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ ไม่มาก แต่พรมแดนทางบกมีความกว้างไกล จึงอาจจะมีการลักลอบเข้ามา แต่หากการเข้ามาอยู่ในเมืองจะได้รับการกักขังอยู่ที่ส่วนกลาง และจะมีพื้นที่รองรับ โดยหลายรายเข้ามาหลายวันแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศพื้นบ้าน 3-4 ประเทศ ซึ่งจะมีการตรวจอย่างละเอียด และกรมควบคุมโรคได้เข้าไปตรวจโรคอยู่เป็นระยะ โดยบางรายอยู่เป็นระยะนานโอกาสสัมผัสเชื้อและไม่ได้เป็นแหล่งเพาะเชื้อแต่อย่างใด เพียงรอกฎหมายในการผลักดันออกนอกประเทศเท่านั้น

เมื่อถามอีกว่า กรณีทหารจากอียิปต์และครอบครัวคณะทูตจากภูมิภาคแอฟริกา เหตุใดจึงสามารถพักที่คอนโดมิเนียมหรืออกนอกพื้นที่ได้ และ ศบค.จะมีการทบทวนให้มีการกักกันโรคฯ 14 วัน หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กรณีเป็นกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นใน (3) ในรายที่เป็นเด็กหญิงที่มากับคณะทูต ซึ่งได้กำหนดไว้คร่าวๆ ว่า ให้เข้ารับการกักกันในที่พำนักของบุคคลดังกล่าวที่อยู่ในการกำกับควบคุมดูแลจากต้นสังกัด ซึ่งหมายถึงว่าให้สถานทูตเป็นต้นสังกัด และมีความเชื่อใจกัน

“แต่ทางสถานทูตมีพื้นที่เป็นอาณานิคม ซึ่งให้เกียรติ แต่พอมาเจอแบบนี้พบว่าสถานที่พำนักกลายเป็นคอนโดฯ จึงเป็นประเด็นที่เราต้องกำชับกัน มีการขอให้ร่วมกันรับผิดชอบและจะมีมาตรการมากขึ้น โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองประธานกรรมการในคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้มอบให้กระทรวงการต่างประเทศ ทำความเข้าใจกับสถานทูตต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยกว่านี้ จะต้องเข้าใจตรงกันว่า 14 วัน จะต้อง 14 วันจริงๆ และเป็นพื้นที่ของท่านจริงๆ โดยที่ไม่ต้องออกนอกพื้นที่ ส่วนกรณีลูกเรือทางการทหารที่เข้ามาก็เช่นกัน ทุกครั้งเวลาเข้ามา โดยกรณีนี้คือ (5) ผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำที่เป็นลูกเรือ ซึ่งเชื่อมโยงกับทางทหาร โดยวันนั้นเป็นวันเดียวกับที่ ผบ.ทบ.สหรัฐอเมริกา เดินทางมาที่ไทย เราเห็นความเข้มของด้านนู้น แต่เป็นวันเดียวกันที่ทางลูกเรือนี้มาเช่นเดียวกัน จึงเห็นความแตกต่าง ทั้งสนามบินที่ลง พื้นที่ข้อต่อในกิจการ/กิจกรรมที่จะต้องเข้าไปกำกับติดตาม มีสิ่งที่ต้องปฏิบัติให้เสมอกันทุกที่ จึงเป็นข้อเรียนรู้ และไม่มีการกล่าวโทษใคร เนื่องจากโรงแรมโนโวเทล ที่กำหนดในการกักกันโรคฯ ที่มีระบบดูแล และอยู่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ แต่เมื่อมีการบินเข้ามาเยอะ ทำให้มีการไปลงจอดที่สนามบินอื่น แต่อย่างไรก็ตามระบบการกักกันโรคจะต้องตามไปด้วย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

โฆษก ศบค.กล่าวว่า ไม่ได้เป็นความผิดชอบ ละเลย แต่เป็นจุดที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน และเป็นข้อต่อรายละเอียดปลีกย่อย ในขณะนี้ยังไม่มีข้อเสียหายอย่างไร แต่หากเราควบคุมโรคได้ รวมถึงจะต้องปิดจุดนี้ จึงอยากให้ประชาชนทราบว่า การติดเชื้อระลอกที่ 2 เริ่มใกล้เข้ามาแล้ว ขอให้ทุกท่านดูแลตัวเองเป็นอย่างดี เพื่อความปลอดภัย และในสัปดาห์นี้ วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะลงพื้นที่ไปยัง จ.ศรีสะเกษ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เพื่อตรวจสอบพื้นที่และนำชุดข้อมูลต่างๆ นำมารายงานในวันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคมนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง