รีเซต

‘พิพัฒน์’ เลื่อนเปิด ‘กรุงเทพฯ’ รับต่างชาติไป 15 ตุลาฯ หลังฉีดวัคซีนเข็ม 2 ไม่ถึง 70% ย้ำปี 64 นำร่องแค่ 9 จังหวัดก่อน

‘พิพัฒน์’ เลื่อนเปิด ‘กรุงเทพฯ’ รับต่างชาติไป 15 ตุลาฯ หลังฉีดวัคซีนเข็ม 2 ไม่ถึง 70% ย้ำปี 64 นำร่องแค่ 9 จังหวัดก่อน
มติชน
16 กันยายน 2564 ( 08:49 )
30
‘พิพัฒน์’ เลื่อนเปิด ‘กรุงเทพฯ’ รับต่างชาติไป 15 ตุลาฯ หลังฉีดวัคซีนเข็ม 2 ไม่ถึง 70% ย้ำปี 64 นำร่องแค่ 9 จังหวัดก่อน

ความคืบหน้าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจะเปิดเพิ่ม 5 จังหวัดตามแผนระยะที่ 2 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี (พัทยา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ) เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.แม่แตง อ.แม่ริม อ.ดอยเต่า) เพชรบุรี (ชะอำ) และประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) ซึ่งจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันที่ 1 ตุลาคมนั้น

 

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 15 กันยายน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วัน ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเปิดเพิ่ม 5 จังหวัดตามแผนระยะที่ 2 ในวันที่ 1 ตุลาคม ว่า จากหารือร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกรุงเทพมหานคร เบื้องต้นพบว่า ขณะนี้มี 4 จังหวัดที่พร้อมเปิดในวันที่ 1 ตุลาคม ได้แก่ เชียงใหม่ ชลบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

 

 

ส่วนกรุงเทพฯ นั้น ได้เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน เนื่องจากประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังได้รับวัคซีนไม่ถึง 70% ตามเงื่อนไขหลักที่วางไว้ แม้พบว่า มีประชากรได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เกิน 70% แล้ว แต่เข็มที่ 2 ยังอยู่ที่ 37% ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ จึงต้องรอระยะเวลาการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และการสร้างภูมิ อาทิ แอสตร้าเซนเนก้า ต้องใช้ระยะเวลา 8-12 สัปดาห์ในการฉีดเข็มที่ 2 ซ้ำ ทำให้ตอนนี้ยืนยันว่ามีวัคซีนเพียงพอ แต่ต้องรอเวลาในการฉีดเข็มที่ 2 ซึ่งใช้เวลาต่างกันในแต่ละยี่ห้อวัคซีน

 

 

การเปิดกรุงเทพฯ รับต่างชาติจึงล่าช้ากว่าเป้าหมาย 2 สัปดาห์ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนทุกคน โดย ในปี 2564 จะเปิด 9 จังหวัดนำร่องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนจังหวัดอื่นต้องรอปี 2565 ทีเดียว

 

 

“การเปิดกรุงเทพฯ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แบ่งเป็นกรุงเทพฯ ชั้นใน ชั้นนอก และชั้นกลาง ซึ่งจากเดิมจะเปิดพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในรับนักท่องเที่ยว แต่จากการหารือร่วมกันแล้วพบว่า การแยกพื้นที่ในกรุงเทพฯ ทำได้ยากมาก เพราะทางกรุงเทพฯ ได้ประเมินว่า พื้นที่กรุงเพทฯ มีหลายเขตมาก และอยู่ติดต่อกัน อาทิ หากขับรถจากกระทรวงท่องเที่ยวฯ ขึ้นทางด่วนยมราช ก็ผ่านแล้ว 3 เขต ทำให้การกำหนดเปิดแค่บางเขตในการรับนักท่องเที่ยวจะควบคุมการเดินทางเข้าหรือออกได้ลำบาก จึงมองว่าควรเลื่อนออกไปเปิดในวันที่ 15 ตุลาคมนี้แทน เพื่อรอการฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ในภาพรวมจังหวัดกรุงเทพฯ เพื่อให้เปิดได้ทั้งกรุงเทพฯ ครั้งเดียว รวมถึงเปิดได้แบบไม่ต้องกักตัวต่างชาติด้วย โดยจะเสนอเข้าศบศ.พร้อมกับอีก 4 จังหวัด ซึ่งเลื่อนการประชุมไปเป็นสัปดาห์ถัดไป จากเดิมเป็นวันที่ 17 กันยายนนี้” นายพิพัฒน์ กล่าว

 

 

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เบื้องต้นอาจใช้ชื่อโครงการเป็นกรุงเทพแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว หรือแม้แต่คนไทยที่มาจากต่างประเทศ ก็เข้าร่วมโครงการได้ โดยใช้หลักเกณฑ์ในรูปแบบเดียวกับภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ คือต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR จากประเทศต้นทางและถูกตรวจในประเทศอีก 3 ครั้ง ต้องเข้าพักในโรงแรมที่มีมาตรฐานเอสเอชเอพลัสเท่านั้น

 

 

โดยในช่วงกลางวันสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวพื้นที่ใดก็ได้ในเขตกรุงเทพมหานคร แต่ต้องกลับเข้าที่พักภายในโรงแรมเดิม ไม่สามารถกลับไปอยู่บ้านได้ ในกรณีที่มีบ้านในประเทศไทย เพราะอยากให้เข้าใจว่าการเข้าร่วมโครงการแซนด์บ็อกซ์ จะต้องขอใบอนุญาตเข้าประเทศ หรือ ซีโออี มาในรูปแบบแซนด์บ๊อกซ์ หากไม่เข้าโครงการนี้ก็เป็นไปตามรูปแบบเดิม คือ ถูกกักตัว 14 วันในห้องพักของโรงแรมที่เป็นสถานที่กักตัวเท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน

 

 

โดยในระหว่างดำเนินโครงการนี้ หากกระทรวงสาธารณสุขมีการผ่อนคลายการกักตัวเป็น 7 วัน หรือ 10 วันสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ โครงการนี้ก็จะปรับรูปแบบตามไป โดยกำหนดให้หลังจากอยู่ครบ 14 วันแล้ว จึงจะสามารถเดินทางไปพื้นที่อื่นหรือจังหวัดอื่นในประเทศไทยได้ หรืออาจพักค้าง 7 วัน และอีก 7 วัน สามารถไปยังพื้นที่นำร่องอีก 8 จังหวัด ได้แก่ เกาะภูเก็ต จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์) พังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง