รีเซต

เรื่องต้องรู้ คุณแม่มือใหม่ จับเข่าคุยกุมารแพทย์ 'โควิด-19' นี้ 'เบบี๋' ต้องรอด

เรื่องต้องรู้ คุณแม่มือใหม่ จับเข่าคุยกุมารแพทย์ 'โควิด-19' นี้ 'เบบี๋' ต้องรอด
มติชน
21 เมษายน 2563 ( 10:42 )
195

 

เบบี๋ต้องรอด – การต้อนรับสมาชิกใหม่ตัวน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลกสู่อ้อมกอดที่แสนอบอุ่น นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวดีๆ ของหลายๆ ครอบครัว กระนั้นในห้วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทยที่มียอดผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง กระทั่งพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอายุน้อยที่สุดในไทยคือทารกแรกเกิด อายุ 1 เดือน

 

ส่งผลให้กลุ่มผู้ปกครองและผู้เลี้ยงดูเด็กเล็ก เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับขั้นตอนการดูแลและข้อควรปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับเจ้าตัวน้อยให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัสโควิดและเชื้อโรคทั่วไป ที่แม้ว่าแนวโน้มการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเด็ก จะมีอัตราผู้ป่วยไม่มากเท่ากับช่วงวัยอื่น แต่การป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

 

 

“อยู่บ้านดีที่สุด”

รศ.พญ.พิมล วงศ์ศิริเดช กรรมการบริหาร ชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด กล่าวคำแรกเมื่อถามถึงวิธีการดูแลเด็กเล็กให้ห่างไกลจากโควิด-19 ก่อนจะแนะนำต่อไปว่า

 

“ไม่พาเด็กไปในที่สุ่มเสี่ยง พาออกไปข้างนอกตามที่จำเป็น เช่น การไปโรงพยาบาลเพื่อรับการฉีดวัคซีนพื้นฐานตามที่แพทย์นัด หรือเด็กมีอาการไม่สบาย ในกรณีเหล่านี้ก็สมควรที่จะต้องพาไปโรงพยาบาล แต่หากจะพาออกไปซื้อของด้วยกันหรือพาไปเที่ยวนอกบ้าน แบบนี้ก็ควรที่จะต้องเว้นไว้ก่อน”

 

 

นอกจากนี้ รศ.พญ.พิมลยังชี้ให้เห็นว่า บุคคลที่จะพาเชื้อโรคมาสู่เด็กแรกเกิดก็คือ “ผู้ใหญ่” ฉะนั้น ผู้ใหญ่ในบ้านต้องสำรวจตัวเองว่ามีโอกาสนำเชื้อมาให้เด็กในบ้านหรือไม่ และไม่พาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดด้วย

 

“จุดนี้สำคัญที่สุด” กุมารแพทย์ย้ำ และว่า

 

“ในตอนที่ยังไม่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ไม่แนะนำให้พาเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดออกไปไหนอยู่แล้ว เพราะมีโอกาสที่จะสัมผัสผู้คนเยอะ แม้จะไม่มีเชื้อโควิด ก็ยังมีเชื้อโรคที่รับมาทางระบบทางเดินหายใจได้”

 

 

อยู่บ้านไม่ประมาท
สวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ

จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่ากุญแจสำคัญของการป้องกันเด็กเล็กให้ห่างจากโควิด-19 นั้น คือ “ผู้ใกล้ชิดกับเด็ก” ทั้งผู้ปกครอง และผู้เลี้ยงดู เพราะอาจจะกลายเป็นผู้นำเชื้อมาติดกับเด็กได้

 

 

รศ.พญ.พิมลเผยว่า ถ้าผู้ใหญ่ป้องกันตัวเองให้ดี เด็กก็ไม่มีโอกาสรับเชื้อ เพราะการแพร่เชื้อนั้นมีอยู่ 2 ทางหลักๆ คือ “การสัมผัส” เมื่อมือไม่สะอาด อาจจะไปหยิบจับวัตถุนอกบ้านที่มีเชื้อโรคติดอยู่ แล้วมาสัมผัสเด็กก็ทำให้ติดเชื้อได้ ฉะนั้นต้องระมัดระวังในการป้องกัน และใส่ใจกับการล้างมือบ่อยๆ อย่างสะอาดและถูกวิธี

 

อีกทางคือการแพร่เชื้อผ่าน “การไอจาม” จุดนี้ กุมารแพทย์ กล่าวว่า โดยสัญชาตญาณผู้ปกครองมักจะระวังตัวเป็นพิเศษที่จะไม่ไอหรือจามใส่หน้าลูกอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น มีอาการแพ้อะไรสักอย่าง หรือเป็นหวัดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจทำให้จามได้

 

“ดังนั้น ผู้ปกครองต้องใส่หน้ากากอนามัยเวลาที่อยู่ใกล้ชิดกับเจ้าตัวน้อย รวมไปถึงขณะที่ให้นมลูก และสัมผัสลูกด้วย” รศ.พญ.พิมลย้ำ

นอกจากนี้ การพูดคุยกันภายในครอบครัวเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการป้องกันและสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการดูแลเด็กเป็นเรื่องสำคัญ

 

รศ.พญ.พิมลแนะนำว่า ในช่วงนี้ญาติๆ คงต้อง “งดเยี่ยม” และเดินทางมาแสดงความยินดีไปก่อน โดยเปลี่ยนเป็นการแสดงความยินดีผ่านการสื่อสารออนไลน์จะดีกว่า เพื่อเป็นการป้องกันการสัมผัสจากคนอื่นๆ รวมไปถึงเป็นกระทำตามข้อแนะนำเรื่องการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) อย่างน้อย 2 เมตร ซึ่งมีความสำคัญมากในการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสสู่กัน

 

นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ปกครองดูแลเด็กเล็กเองไม่ไหว ต้องการคนมาช่วยดูแล ตรงนี้ก็ต้องตรวจสอบให้ดีและมั่นใจว่าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง โดยองค์กรกุมารแพทย์ที่อเมริกาก็ได้ออกมาแนะนำเช่นกันว่า ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีประวัติเสี่ยงติดเชื้อโควิด และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ปกติ ควรเลี่ยงที่จะมาช่วยเลี้ยงเด็กเล็ก

 

ส่วนในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปข้างนอกจริงๆ

รศ.พญ.พิมล แนะนำเพิ่มเติมว่า ให้เลือกการเดินทางที่มีความปลอดภัยและเหมาะสมในแต่ละกรณี อาทิ เดินทางด้วยรถส่วนตัว หรือใช้บริการรถสาธารณะที่มีความเป็นส่วนตัวมากกว่า ส่วนเด็กเล็กไม่สนับสนุนให้สวมหน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้า (Face Shield) หากมีความจำเป็นจริงๆ การวางเด็กไว้ในรถเข็นเด็กและเอาผ้าคลุมรถเข็น น่าจะเป็นทางที่ดีกว่า

 

ปฏิบัติตามมาตรฐาน
ชะล้างเชื้อโรคด้วย ‘สบู่’

 

แล้วต้องทำความสะอาดเจ้าตัวน้อยอย่างไรจึงจะสะอาด ปลอดภัย ในห้วงที่เชื้อไวรัสโควิดระบาดเรื่องนี้ไม่ยาก

 

รศ.พญ.พิมลกล่าวว่า สามารถทำความสะอาดร่างกายเด็กได้ตามปกติ และทำตามมาตรฐานการดูแลทารกที่ถูกต้อง เพราะ “การทำความสะอาดด้วยสบู่” ดีที่สุด เพราะเชื้อไวรัสมีส่วนประกอบของไขมัน เวลาที่ใช้สบู่ซึ่งมีค่าพีเอชเป็นด่าง ก็สามารถทำลายเซลล์ไวรัสที่เป็นไขมันออกไปได้ ทั้งยังเป็น “ชะล้าง” ออกไปเลย

 

“ต่างจากการใช้เจลล้างมือที่เป็นส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ที่เหมาะจะใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่มีที่ล้างมือ หรือล้างมือแล้วแต่ไปจับอะไรนิดหน่อย แบบนี้ก็สามารถล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลล้างมืออีกรอบได้ ซึ่งจะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ แต่เชื้อโรคยังอยู่ในมือเรา ไม่ได้ชะล้างออกไปเหมือนการล้างมือด้วยสบู่” อาจารย์พิมลชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของการใช้สบู่และเจลล้างมือ

 

สวมแมสก์-เฟซชิลด์ ให้เด็ก

อันตราย ไม่สนับสนุน

จากประกาศของชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย ที่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันใบหน้า (Face Shield) และหน้ากากอนามัย ให้ทารกแรกเกิดว่า “ไม่สนับสนุน”

 

รศ.พญ.พิมล ในฐานะกรรมการบริหารของชมรม กล่าวว่า จากการสรุปความคิดเห็นของกรรมการและสมาชิกชมรมซึ่งเป็นหมอเด็กด้านทารกแรกเกิดทั่วประเทศ รวมถึงองค์กรกุมารแพทย์ในต่างประเทศไม่แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยและเฟซชิลด์แก่เด็กเล็ก เพราะศูนย์ควบคุมการหายใจของเขายังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ปกติแล้วเวลาที่เราไปที่แคบๆ อากาศไม่ถ่ายเท เมื่อรู้สึกได้ว่าอากาศไม่พอ นั่นคือเกิดภาวะขาดออกซิเจน ร่างกายก็จะมีกลไกอัตโนมัติด้วยการหายใจเร็วและแรงขึ้น เพื่อพยายามเพิ่มอากาศที่มีออกซิเจนเข้าไปให้มากขึ้น และถ้าทนไม่ได้ก็จะพยายามหาทางหนีออกมาจากสิ่งแวดล้อมนั้น

 

แต่สำหรับเด็กแรกเกิด โดยเฉพาะเด็กที่เพิ่งคลอด หรือคลอดก่อนกำหนด ศูนย์ควบคุมการหายใจของเขายังตอบสนองต่อกลไกนี้ได้ไม่ดีนัก รวมไปถึงกลไกป้องกันตัวอย่างการอ้าปากหายใจชดเชยก็ยังทำไม่ได้ ฉะนั้น หากเด็กเกิดมีอาการขาดออกซิเจน ในระยะแรกอาจช่วยเหลือตัวเองได้นิดหน่อย แต่ในบางคนอาจจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย

 

“เชื่อว่าคุณแม่หลายท่านอาจจะได้รับคำแนะนำจากคุณหมอว่า ในช่วง 6 เดือนแรก อย่าเพิ่งให้ลูกนอนคว่ำ เพราะลูกยังไม่มีความสามารถที่จะพลิกหน้าพลิกตัวได้ และท่านอนคว่ำยังทำให้เสี่ยงต่อการที่หน้ากดกับที่นอนแล้วเกิดภาวะขาดหายใจ เพราะฉะนั้น ก็เช่นเดียวกันกับการนำแมสก์ไปใส่ให้ลูก ลูกจะดึงทิ้งเองก็ทำไม่ได้ ไม่รู้จะเอาหน้าหนีไปอย่างไรเมื่อหายใจไม่ออก” รศ.พญ.พิมลกล่าว และชี้ให้เห็นถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ว่า

 

“ภาวะขาดออกซิเจนในเด็กเล็กๆ จะยิ่งไปกดศูนย์ควบคุมการหายใจ แทนที่เขาจะช่วยตัวเองให้หายใจเพิ่มมากขึ้น อาจจะหยุดหายใจไปเลยก็ได้”

 

 

นอกจากนี้ การหายใจออกคือการนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากร่างกาย แต่เมื่อสวมหน้ากากอนามัยจนแน่น ก็เท่ากับว่าสูดเอาลมหายใจออกที่เป็นคาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้ามา ออกซิเจนจากภายนอกก็เข้าไม่ได้ เพราะหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ก็จะมีคุณสมบัติในการกรองอากาศในระดับหนึ่ง และยิ่งถ้าเป็นหน้ากากอนามัยจะกันน้ำ วัสดุที่นำมาทำหน้ากากจึงมีแรงต้านต่อการไหลเข้า-ออกของอากาศ เด็กต้องใช้แรงในการหายใจมากขึ้น ด้วยโพรงจมูกที่เล็กนิดเดียวของเขา

 

เด็กจึงหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปมากขึ้นแทนที่จะเป็นออกซิเจน ซึ่งการสูดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปเยอะๆ ยังไปกดระบบประสาท ส่งผลให้เกิดอาการเซื่องซึม หรือหมดสติได้

 

ขณะเดียวกัน การใส่เฟซชิลด์ที่ผลิตจากพลาสติกส่วนหนึ่ง อาจเกิดความคมและทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บได้ระหว่างการสวมใส่ ฉะนั้น การใส่หน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้าให้เด็กเล็กจึงไม่มีความปลอดภัยเลย ถ้ากลัวมากๆ อยากจะใส่เฟซชิลด์กันจริงๆ ก็ต้องใส่ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด เช่นระหว่างการเดินทางในที่สาธารณะ แต่ไม่ควรใส่ตลอดเวลา

 

รศ.พญ.พิมลกล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ทุกคนมองโลกในแง่บวก และดำเนินกิจวัตรประจำวันอย่างมีสติ ไม่เอ็กซ์ตรีมจนเกินไป แต่ก็ไม่หละหลวม และต้องไม่ลืมที่จะให้กำลังใจกันและกันด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง