รีเซต

กกต. ใช้ลต.ซ่อมส.ส.ลำปาง-สมุทรปราการ เป็นโมเดล จัดอบจ. คุมเข้มป้องกันไวรัสโควิด

กกต. ใช้ลต.ซ่อมส.ส.ลำปาง-สมุทรปราการ เป็นโมเดล จัดอบจ. คุมเข้มป้องกันไวรัสโควิด
มติชน
10 ธันวาคม 2563 ( 09:56 )
82
กกต. ใช้ลต.ซ่อมส.ส.ลำปาง-สมุทรปราการ เป็นโมเดล จัดอบจ. คุมเข้มป้องกันไวรัสโควิด

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตระหนักถึงความปลอดภัยจากโรคโควิด-19ของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง แม้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นยังไม่ได้บัญญัติให้มีมาตรการใดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่ กกต. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมเตรียมรับมือไว้อย่างรัดกุมโดยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด–19 กกต. ได้ใช้รูปแบบการเลือกตั้ง ส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่าง เขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดลำปาง และเขตเลือกตั้งที่ 5 จังหวัดสมุทรปราการ มาใช้เป็นแนวทางสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้

 

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์ตั้งแต่การกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อหน่วยเลือกตั้งให้น้อยลงเพื่อลดความแออัดของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง การจัดระยะห่างของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ก่อนเข้าไปยังที่เลือกตั้ง การจัดให้มี อสม. เพื่อทำหน้าที่คัดกรองโดยการตรวจวัดอุณหภูมิผู้มาใช้สิทธิ บริเวณหน้าที่เลือกตั้ง ส่วนกรณีพบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียส จะให้แยกใช้สิทธิลงคะแนนในคูหาพิเศษซึ่งอยู่บริเวณหน่วยเลือกตั้งเดียวกันเพื่อไม่ให้ปะปนกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งอื่น

 

ขณะเดียวกันทาง อสม.จะมีการรายงานตามขั้นตอนของสาธารณสุขต่อไป นอกจากนี้ในหน่วยเลือกตั้งยังจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์สำหรับผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งได้ล้างมือก่อนเข้าไปในที่เลือกตั้ง และที่โต๊ะตรวจสอบบัญชีรายชื่อและรับมอบบัตรเลือกตั้งรวมถึงก่อนออกจากที่เลือกตั้งด้วย อีกทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในบริเวณหน่วยเลือกตั้ง และกำหนดให้มีการทำความสะอาดอุปกรณ์ฯ ในหน่วยเลือกตั้งตามเวลาที่กำหนดด้วย

 

อย่างไรก็ตาม กกต. ยังย้ำด้วยุว่าจากการลดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อหน่วยเลือกตั้งดังกล่าว อาจทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เคยไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งเดิมเกิดความสับสน โดยเฉพาะรายชื่อตนเองที่ไม่ปรากฏในหน่วยนั้นๆ ทำให้ต้องเดินทางไปออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยอื่นซึ่งอยู่ไกลออกไป แนะนำว่าให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตรวจสอบรายชื่อของตนเองล่วงหน้าโดยสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelectloc/ หรือตรวจสอบจากเอกสารหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน ซึ่งได้แจ้งไปยังเจ้าบ้านทุกบ้านแล้ว ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บริการข้อมูลสายด่วน 1444

ข่าวที่เกี่ยวข้อง