รีเซต

UNESCO ยังไม่ลดระดับ 'เกรตแบร์ริเออร์รีฟ' เข้าสู่บัญชีมรดกโลกภาวะอันตราย

UNESCO ยังไม่ลดระดับ 'เกรตแบร์ริเออร์รีฟ' เข้าสู่บัญชีมรดกโลกภาวะอันตราย
TNN World
28 กรกฎาคม 2564 ( 10:12 )
74

ข่าววันนี้ คณะกรรมการมรดกโลก ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มีมติเมื่อวันก่อน ระหว่างการประชุมประจำปีเป็นการภายใน ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นที่เมืองฝูโจว ในมณฑลฝูเจี้ยน ระบุว่า ยังไม่ลดระดับแนวปะการัง "เกรตแบร์ริเออร์รีฟ" เข้าสู่ทำเนียบมรดกโลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย 
ซัสแซน เลย์ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลีย กล่าวขอบคุณการลงมติของ UNESCO ว่า ยังคงเข้าใจและเล็งเห็นความพยายามอย่างจริงจังของออสเตรเลีย ในการรักษาสภาพแวดล้อมของเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลแคนเบอร์ราทุ่มงบประมาณมหาศาล เพื่อปกป้องแนวปะการังขนาดใหญ่และมีความยาวที่สุดของโลก ทอดยาวเป็นระยะทางประมาณ 2,300 กิโลเมตร 


อย่างไรก็ตาม ทิม แบดแมน ผู้อำนวยการโครงการมรดกโลกของ UNESCO ยังคงยืนกรานว่า สถานการณ์ของเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ในเวลานี้กำลังตกอยู่ในอันตรายอย่างชัดเจน จากวิกฤติการฟอกขาว ซึ่งเป็นผลจากอุณหภูมิของน้ำทะเลในบริเวณนั้นที่สูงขึ้นอย่างมาก ทำให้สาหร่ายซูแซนเทลลี ซึ่งอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง ล้มตาย และทำให้สภาพของปะการังเสื่อมโทรมลงทุกขณะ 


ด้านบรรดาวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมในออสเตรเลีย ต่างผิดหวังกับมติของคณะกรรมการ UNESCO ที่เชื่อว่าตัดสินใจเรื่องดังกล่าว โดยอิงการเมืองมากกว่าหลักวิทยาศาสตร์ ทั้งที่มีข้อมูลสนับสนุนชัดเจนว่า แนวปะการังแห่งนี้กำลังตกอยู่ในอันตราย


ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา UNESCO มีข้อเสนอเบื้องต้น เกี่ยวกับการเตรียมลดสถานะของเกรตแบร์ริเออร์รีฟ สร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้แก่ออสเตรเลีย ด้านองค์กรอนุกรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายแห่งวิจารณ์ว่า เรื่องนี้ คือความน่าอับอายขายหน้าของนายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน ซึ่งยังคงปฏิเสธเห็นชอบนโยบายคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 เพราะอุตสาหกรรมหลายประเภทในออสเตรเลีย ยังคงพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินเป็นหลัก 


แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การ UNESCO ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี 1981 ขณะที่องค์การระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ IUCN เผยแพร่รายงาน เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วว่า ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก กำลังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุด ของมรดกโลกทางธรรมชาติ

 

ภาพ : Reuters

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง