รีเซต

สธ.แย้มแผน 3 ระยะ ก่อน "เปิดเมือง" ย้ำชีวิตวิถีใหม่แม้จบ "โควิด-19" วอนสังคม "เวิร์กฟอร์มโฮม" ต่อ

สธ.แย้มแผน 3 ระยะ ก่อน "เปิดเมือง" ย้ำชีวิตวิถีใหม่แม้จบ "โควิด-19" วอนสังคม "เวิร์กฟอร์มโฮม" ต่อ
มติชน
10 พฤษภาคม 2563 ( 15:29 )
238
1
สธ.แย้มแผน 3 ระยะ ก่อน "เปิดเมือง" ย้ำชีวิตวิถีใหม่แม้จบ "โควิด-19" วอนสังคม "เวิร์กฟอร์มโฮม" ต่อ

สธ.แย้มแผน 3 ระยะ ก่อน “เปิดเมือง” ย้ำชีวิตวิถีใหม่แม้จบ “โควิด-19” วอนสังคม “เวิร์กฟอร์มโฮม” ต่อ

เปิดเมือง- เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า สถานการณ์ในประเทศไทยภายหลังมาตรการผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรม ได้ครบ 1 สัปดาห์ ถือว่าค่อนข้างดี แต่ยังอยู่ในระยะของการแพร่ระบาดของโรค เพียงแต่มีการถอยหลังจากการแพร่ระบาดในวงกว้างมาเป็นวงจำกัด และจะต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาผู้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ในระดับที่ต่ำไปให้ได้มากที่สุดด้วยมาตรการต่างๆ

ทั้งนี้ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ยังมีโอกาสที่จะกลับไปอยู่ในการระบาดระยะต่อเนื่องที่เป็นระยะวิกฤตได้ หากประชาชนเริ่มไม่ระวังตนเองในการใช้ชีวิต หรือ การ์ดตก เกิดความประมาท การที่พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวนน้อย ไม่ได้หมายความว่ามีผู้ป่วยในประเทศเพียงเท่านี้ โดยระยะการจัดการปัญหาโควิด-19 แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 โรคมีการแพร่ระบาด ที่มีการระบาดทั้งหมด 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 ไม่มีผู้ป่วย หรือผู้ป่วยในวงจำกัด ระดับที่ 2 คือ การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ระดับที่ 3 คือการแพร่ระบาดระดับวิกฤต ต่อมาคือ ระยะที่ 2 สร้างภูมิคุ้มกัน และ ระยะที่ 3 ฟื้นฟู

“การที่เราพบผู้ป่วยวันนี้ 5 ราย และพบเป็นการระบาดในประเทศ 2 ราย ไม่ได้แปลว่าในประเทศวันนี้มีผู้ป่วยแค่ 2 ราย สิ่งที่สำคัญคือ โรคนี้อาการค่อนข้างน้อย ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่คิดว่าตนเองไม่ได้ติดเชื้อ ในส่วนนี้ทาง สธ.จึงมีมาตรการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน (Active case finding) จะคลายใจได้ต่อเมื่อการระบาดในทั่วโลกเริ่มดีขึ้น หรือ การมีวัคซีนสำหรับคนกลุ่มสำคัญ กลุ่มยุทธศาสตร์ ในประเทศไทย เราจึงจะเข้าระยะที่ 3 คือระยะฟื้นฟูได้ โดย สธ.ได้จัดทำแผนของทั้ง 3 ระยะ เรียบร้อยแล้ว” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับระยะที่ 3 คือ ฟื้นฟู เป็นการดำเนินการค้นหาปัญหา ถอดบทเรียนจากวิกฤตครั้งนี้เพื่อนำไปป้องกันแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ในอนาคต เช่น ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันตัว จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องที่เหมาะสม บางเรื่องสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้จบวิกฤต การเข้าถึงวัคซีนที่สามารถผลิตได้เองโดยไม่ต้องรอซื้อจากต่างประเทศ รวมถึงเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่ไม่สามารถผลิตได้เอง ก็จะต้องมีการหาทางผลิตให้ได้ในประเทศ เช่น หน้ากาก N95 ให้เพียงพอ ชุดป้องกัน PPE หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ การคิดระบบบริการใหม่ให้มีระบบสำรองที่สำคัญ เช่น หากต้องการเตียงผู้ป่วย 100 เตียง จะต้องทำการสร้าง 1 ตึกใหม่อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี และในเวลานั้นวิกฤตอาจจะจบลงไปแล้ว ก็อาจจะใช้ไม่ทันสถานการณ์ จึงจะต้องมีการคิดระบบบริการที่เหมาะสม

“เรื่องเหล่านี้พูดง่าย แต่ทำได้ยาก เพราะในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉินมีความแตกต่างกันมาก เช่น สถานการณ์ปกติมีความต้องการหน้ากากอนามัย วันละ 1-2 ล้านชิ้น แต่ในภาวะฉุกเฉินอาจจะต้องใช้มากกว่านั้น เราจะต้องวิธีที่จะต้องผลิตได้เอง รวมถึงยา วัคซีน เราจะทำอย่างไรให้เข้าถึงได้เร็ว ผลิตได้เอง แข่งกับเขาได้บ้าง” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การเปิดเมือง คือ การเปิดให้ภาคธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ แต่ต้องมีความระมัดระวังในการใช้ชีวิต ไม่ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง และต้องปฏิบัติตนเองให้เหมาะสม ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล สำหรับสถานประกอบที่ให้เจ้าหน้าที่ทำงานจากบ้านได้ ควรดำเนินตามมาตรการนี้ต่อไป การเหลื่อมเวลาทำงาน

ประเด็นที่ 2 การออกแบบทางวิศวกรรม ในการจัดสถานที่บริการให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเสริม การใช้แผงกันป้องกันฝอยละอองสารคัดหลั่ง

ประเด็นที่ 3 การปรับปรุงระบบงาน การประชุดทางไกลผ่านวิดีโอ การเพิ่มธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ต การเรียนรู้ทางไกล

ประเด็นที่ 4 การป้องกันส่วนบุคคล การสวมใส่หน้ากากอนามัยผ้า ล้างมือบ่อยๆ การใช้ช้อนกลงส่วนตัว

 

“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะอยู่ต่อไปให้นานที่สุด ด้วยการปฏิรูป คิดปรับเปลี่ยนกระบวนการภายใน ที่เรียกว่า ชีวิตวิถีใหม่ (New normal) อย่างแท้จริง ที่เกิดขึ้นในภาวะฉุกเฉินแล้วอาจจะจบลงไป บางคนอาจจะบอกว่าอย่าเรียกเลยว่า New normal มันเป็นเรื่องของการตอบโต้ชั่วคราวมากกว่า แต่สิ่งที่พยายามหยิบมาพบว่ามันมีประโยชน์มากกว่า การจัดการแค่โควิด-19 เรื่องหลายเรื่องไม่ใช่เรื่องใหม่ เหล่านี้คือ New normal แต่ตัวเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้เราเปลี่ยนผ่านช่วงนี้ไปให้ได้เร็วขึ้น” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะอยู่เพียงชั่วคราว สธ.อยากให้ทุกฝ่ายลุกขึ้นมาจริงจังกับเรื่องเหล่านี้ เพราะไม่ได้ช่วยแค่โรคโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่สามารถช่วยได้อีกหลายเรื่อง เช่น ปัญหาการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ปัญหาจราจร ปัญหาสุขภาพจิต เป็นต้น จึงอยากให้มีการผลักดันเรื่องเหล่านี้ต่อไป ส่วนคำถามที่มักจะถามบ่อยคือ ปัญหาโควิด-19 จะจบลงเมื่อใด

“แต่คำถามนี้จะต้องถามกลับไปที่ประชาชนทุกคนเอง เพราะคนไทยทุกคนมีพลังอำนาจในการยุติและลดผลกระทบต่างๆ ได้ ในการเปิดกิจการให้บริการ ผู้ประกอบกิจการจะต้องดูแลให้เป็นไปตามาตรการอย่างเคร่งครัด ผู้เข้าใช้บริการมีการป้องกันตนเองระหว่างใช้บริการ หากอยากกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขในระดับหนึ่ง ทุกฝ่ายจะต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ในการป้องกันตนเอง” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง