รีเซต

"SINGER" จับตาคืนชีพ โบรกฯ ชี้ราคาจูงใจ หาจังหวะสะสม

"SINGER" จับตาคืนชีพ โบรกฯ ชี้ราคาจูงใจ หาจังหวะสะสม
ทันหุ้น
18 มิถุนายน 2567 ( 12:12 )
29
"SINGER" จับตาคืนชีพ โบรกฯ ชี้ราคาจูงใจ หาจังหวะสะสม

#ทันหุ้น - บล.หยวนต้า ส่องหุ้น "SINGER" ปี 2566 SINGER มีผลขาดทุน 3,210 ลบ. พลิกจากกำไรสุทธิ 935 ลบ. ในปี 2565 เนื่องจากมีการตั้งสำรองจำนวนมากใน Q2/66 เพื่อรองรับการด้อยค่าของลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เดิมอยู่ภายใต้มาตราการช่วยเหลือทางการเงินสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ของ ธปท. แต่พอมาตรการดังกล่าวครบกำหนด ลูกหนี้บางส่วนไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามตกลง

 

ทั้งนี้ SINGER ได้กลับมามีกำไรสุทธิบางๆ ได้ 3 ไตรมาสติดต่อกันตั้งแต่ Q3/66 โดยเป็นผลจากการปรับปรุงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ 1) ลดจำนวนพนักงาน Back Office ลง จาก 600 คน เหลือ 260 คน พร้อมๆ กับนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายพนักงานลดลงราว 40% 2) ลดจำนวนพนักงานขาย Direct Sale ที่ไม่สามารถควบคุมหนี้เสียได้ตามเป้าหมาย เพื่อให้เหลือแต่พนักงาน Direct Sale ที่มีความสามรถในการขายและคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้ดี 3) เร่งระบายสินค้าที่ติดตามยึดมาโดยขายเป็นสินค้ามือสอง (เครื่องใช้ไฟฟ้าและตู้เติมน้ำมัน) ซึ่งมีการตั้งด้อยค่ามูลค่าไปแล้ว ทำให้ไม่สร้างภาพภาระทางการเงินเพิ่มเติมให้กับบริษัท และ 4) เพิ่มช่องทางการขายและเพิ่มสินค้าใหม่ๆ เน้นที่สินค้า Home Appliance ขนาดเล็ก และการขายโทรศัพท์มือถือที่มี Synergy ร่วมกับกลุ่ม

 

SGFINANCE+ เป็นโครงการที่ผู้บริหารมองว่าจะทำให้ SINGER และ SGC (บริษัทย่อยของ SINGER ถือหุ้น 74.92%) มีผลดำเนินงานที่ Turnaround โดยเป็นธุรกิจปล่อยสินเชื่อโทรศัพท์มือถือแบบ Locked System (ถ้าลูกค้าไม่ชำระเงินตามกำหนดจะถูก Lock เครื่องโดยการ Lock ที่ IMEI โดยตรง) ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้เข้าไปเป็นพันธมิตรกับ Key Dealer (JMART, IT City, COM7), Brand Shop และ Operator Shop รวม 2,077 ร้านค้า ซึ่งตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปี นี้จะครอบคลุมร้านค้าโทรศัพท์ทั้งหมด 5,000 ร้านค้า และหนุนให้ยอดขายและยอดปล่อยสินเชื่อโทรศัพท์ผ่าน SGFINANCE+ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่เดือนละ 20,000 เครื่อง เป็น 100,000 เครื่องในช่วงปลายปีซึ่งบริษัทจะได้รายได้จากรายได้ดอกเบี้ย รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียม 300 บาท/application ปัจจุบันโครงการ Locked System มีแบรนด์ที่เข้าร่วมโครงการ 3 แบรนด์คือ XIAOMI, VIVO และ OPPO

 

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยมีมุมมองเชิงบวกต่อ SINGER และ SGC หลังจบการประชุม โดยภาพรวมค่อนข้างชัดเจนว่าทั้ง 2 บริษัทจะมีผลดำเนินงานที่ Turnaround ในปี 2567 และโตต่อเนื่องในปี 2568 หนุนจากการลดค่าใช้จ่าย และการเพิ่มยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการเติบโตของสินเชื่อโทรศัพท์มือถือของ SGFINANCE+ โดยประเมินว่าในปี 2568 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปิดดำเนินงานเต็มปีและมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ เฉพาะในส่วนของ SGFINANCE+ หากมียอดขายโทรศัพท์ได้เดือนละ 70,000 เครื่อง (Discount 30% จากเป้าหมายของบริษัทที่เดือนละ 100,000 เครื่อง) จะสร้างก าไรสุทธิให้กับ SGC และ SINGER ได้ราว 572 ลบ. และ 428 ลบ. ตามลำดับ (รายละเอียดในตารางที่ 1)

สำหรับ SINGER นอกเหนือจากโครงการ SGFINANCE+ ที่รับรู้กำไรผ่านทาง SGC จำนวน คาดจะมีกำไรจากการขายอีก 230 ลบ. (คาดยอดขาย 1,500 ลบ.) ทำให้คาดจะมีกำไรสุทธิในปี 2568 จำนวน 658 ลบ. โต 15.6%YoY จากกำไรสุทธิปี 2567 ที่ Consensus คาดจะอยู่ที่ 569 ลบ. พลิกจากขาดทุน 3,210 ลบ. ในปี 2566 ทำให้ฝ่ายวิจัยมองว่าราคาหุ้น SINGER ที่ปรับลงมานาน จนปัจจุบันมี Discount เมื่อเทียบกับในอดีต เริ่มมีความน่าสนใจในการสะสม โดยประเมินมูลค่าเบื้องต้นของ SINGER โดยอิง PBV ที่ 0.6-0.7x ณ ระดับ Book Value ปี 2568 คาดการณ์ที่ 18.6 บาท ได้มูลค่าพื้นฐานปี 2568 ที่ 11.2-13 บาท

 

แม้บริษัทจะมีการตั้งสำรองจำนวนมากแต่ปัจจุบันยังมี D/E Ratio ต่ำเพียง 0.3x ทำให้ฝ่ายวิจัยมองว่าบริษัทยังมีฐานะการเงินแข็งแรง และมีโอกาสที่จะขยายธุรกิจได้โดยไม่ต้องเพิ่มทุน

 

การวิเคราะห์เทคนิค: แนวรับ 8.80/8.70 แนวต้าน 9.50/10.20 Stop loss 8.15

 

 

ความเสี่ยงสำคัญ: ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้, การเติบโตของยอดขาย

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง