รีเซต

ค้าชายแดน-ผ่านแดน โตต่อเนื่อง 5 เดือนแรกพุ่ง 6.7 แสนล้าน มั่นใจปีนี้ทะลุ 1.4 ล้านล้าน

ค้าชายแดน-ผ่านแดน โตต่อเนื่อง 5 เดือนแรกพุ่ง 6.7 แสนล้าน มั่นใจปีนี้ทะลุ 1.4 ล้านล้าน
ข่าวสด
29 มิถุนายน 2564 ( 21:18 )
85
ค้าชายแดน-ผ่านแดน โตต่อเนื่อง 5 เดือนแรกพุ่ง 6.7 แสนล้าน มั่นใจปีนี้ทะลุ 1.4 ล้านล้าน

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนพ.ค. 2564 ว่า มีมูลค่าสูงถึง 150,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แบ่งเป็น การค้าชายแดนมีมูลค่า 75,695 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.17% การค้าผ่านแดนมีมูลค่า 75,163 ล้านบาท เพิ่ม 7.97% ส่งผลให้ 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) การค้าชายแดนกับการค้าผ่านแดนมีมูลค่า 677,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.15% การค้าชายแดนอย่างเดียว มูลค่า 371,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.85% การค้าผ่านแดน มูลค่า 306,038 ล้านบาท เพิ่ม 42.57% โดยคาดว่า ยอดค้าชายแดนและค้าผ่านแดน ปีนี้จะทะลุเป้าหมาย ที่วางไว้ว่าจะขยายตัวที่ 3-6% จากปีก่อน หรือมีมูลค่า 1.36-1.40 ล้านล้านบาท

 

 

 

โดยการค้าชายแดน ส่วนใหญ่ขยายตัว โดยเฉพาะมาเลเซีย มูลค่า 134,474 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 53% ลาว 87,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.30% เมียนมา 78,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% ส่วนกัมพูชา มูลค่า 70,364 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.68% ส่วนการค้าผ่านแดน จีนมีมูลค่า 140,406 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 54.85% สิงคโปร์ 46,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.74% เวียดนาม 28,586 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.73%

 

 

 

โดยมีปัจจัยบวกคือ การทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ในรูป กรอ.พาณิชย์ รวมทั้ง เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเริ่มฟื้นตัว ดังนั้นจะเร่งเปิดด่านเพื่อส่งเสริมการส่งออกให้มากขึ้น มีเป้าหมาย 11 ด่าน ให้เปิดได้เร็วที่สุดภายใต้ข้อจำกัดโควิด-19 เพื่อให้การค้าเดินหน้าต่อไปได้ โดยวันที่ 1 ก.ค. ก.ค. จะหารือร่วมกับเอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทย เพื่อหาทางร่วมกันในการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน/ผ่านแดนระหว่างไทย-ลาว

 

 

 

นอกจากนั้น จะเดินทางไปภาคอีสานในช่วงวันที่ 9-11 ก.ค. เช่น จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น เพื่อเร่งรัดการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ด้วยการเปิดด่านต่างๆ ในภาคอีสาน จับมือกับภาคเอกชนในนาม กรอ.พาณิชย์ ขจัดปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นเชิงรุกโดยเร็ว และช่วยเหลือผู้ส่งออกรายย่อยโดยเฉพาะผู้ส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอีหรือไมโครเอสเอ็มอีเอส ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือแหล่งเงินกู้ที่จำเป็นต่อสถานการณ์ปัจจุบันโดยจะจัดโครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับเอสเอ็มอีส่งออก ซึ่งจะมีการเปิดตัวโครงการในวันที่ 7 ก.ค. นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง