รีเซต

สวิฟต์ (Swift) คืออะไร ตัดรัสเซีย ออกจาก ระบบ "SWIFT" เกิดผลกระทบอะไรบ้าง? ในสถานการณ์ "รัสเซียยูเครน"

สวิฟต์ (Swift) คืออะไร ตัดรัสเซีย ออกจาก ระบบ "SWIFT" เกิดผลกระทบอะไรบ้าง? ในสถานการณ์ "รัสเซียยูเครน"
Ingonn
28 กุมภาพันธ์ 2565 ( 13:54 )
405

สถานการณ์รัสเซียยูเครน ตึงเครียดมากขึ้น หลังจากสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรตะวันตก "คว่ำบาตรรัสเซีย" ด้วยการตัดธนาคารรัสเซียจากระบบ SWIFT ไม่ให้โอนเงินระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อส่งออกน้ำมันและก๊าซของรัสเซียเป็นอย่างมาก วันนี้ TrueID จึงจะพารู้จักกับ ระบบ SWIFT คืออะไร จะเกิดผลกระทบอะไรบ้างเมื่อรัสเซียถูกคว่ำบาตร ในสงครามรัสเซียบุกยูเครน

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และพันธมิตรตะวันตก ประกาศที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วยการตัดธนาคารรัสเซียหลายแห่ง ออกจากระบบสวิฟต์ (Swift) ระบบสมาคมธุรกิจโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก ซึ่งเป็นระบบสื่อสารด้านการเงินระหว่างธนาคารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงทั่วโลก มีหน้าที่เชื่อมโยงสถาบันการเงินทั่วโลกโอนเงินกว่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละวัน โดยรัสเซียพึ่งพาระบบชำระเงิน “สวิฟต์” อย่างมากในการส่งออกน้ำมันและก๊าซของรัสเซียอีกด้วย


สวิฟต์ (SWIFT) คืออะไร

SWIFT อ่านว่า สวิฟต์ ย่อมาจากคำว่า Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication คือ สมาคมเพื่อการโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก เป็นระบบเครือข่ายการเงินระดับโลกที่ธนาคารทั่วโลกใช้โอนเงินข้ามประเทศ ทำหน้าที่ส่งข้อความระหว่างธนาคารเพื่อยืนยันการโอนเงินระหว่างประเทศ สามารถชำระเงินข้ามพรมแดนได้อย่างรวดเร็วในการทำการค้าระหว่างประเทศ โดยครึ่งหนึ่งของการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศที่มีมูลค่าสูงทั่วโลกทำไปโดยผ่านเครือข่าย SWIFT มีการแลกเปลี่ยนข้อความมากกว่า 40 ล้านข้อความต่อวันผ่านทางระบบของ SWIFT มีเงินหมุนเวียนผ่านระบบกว่าล้านล้านดอลลาร์

 

SWIFT ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2516 หรือ ทศวรรษที่ 1970 ตั้งอยู่ในเบลเยียม โดยเชื่อมโยงกับธนาคารและสถาบันกว่า 11,000 แห่งในกว่า 200 ประเทศ มีธนาคารของรัสเซียอยู่ในระบบนี้ประมาณ 300 แห่ง

 

ใครเป็นเจ้าของดูแลสวิฟต์ (Swift)

SWIFT เป็นความร่วมมือจากสถาบันการเงินหลายพันแห่งทั่วโลก สร้างขึ้นโดยธนาคารในอเมริกาและยุโรป ซึ่งไม่ต้องการให้มีสถาบันใดสถาบันหนึ่งพัฒนาระบบของตัวเองและเกิดการผูกขาด

 

ตัดรัสเซีย ออกจากระบบ SWIFT เกิดผลกระทบอะไรบ้าง

สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และพันธมิตรตะวันตก ต้องการตัดรัสเซีย ออกจากระบบ SWIFT เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ ของรัสเซีย ไม่สามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินได้อย่างราบรื่น โดยการชำระเงินค่าพลังงานและสินค้าเกษตรต่างๆ จะถูกได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้เกิดความล่าช้าและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ท้ายที่สุดจะเป็นการตัดรายได้ของรัฐบาลรัสเซีย แต่คาดว่าธนาคารรัสเซียอาจกำหนดเส้นทางการชำระเงินผ่านประเทศที่ไม่มีการคว่ำบาตร เช่น จีน ซึ่งมีระบบการชำระเงินของตนเอง

 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ให้ความเห็นว่า รัสเซียพึ่งพาระบบชำระเงิน “สวิฟต์” อย่างมากในการส่งออกน้ำมันและก๊าซ
การตัดธนาคารรัสเซียจากระบบ SWIFT มีผลทำให้รัสเซียโอนเงินระหว่างประเทศยากขึ้น(มาก) ซึ่งจะส่งผลอย่างแรงกับเศรษฐกิจของรัสเซีย (ผลต่อ GDP อย่างน้อย 5%) แต่ก็จะส่งผลกับเศรษฐกิจยุโรปและทั่วโลกด้วย อย่างเช่นเรื่องก๊าซ ซึ่ง 30-40% ของก๊าซของยุโรปมาจากรัสเซีย จากนี้จะซื้อ/ขายกันหรือไม่อย่างไร? และจะมีผลต่อราคาก๊าซและราคานํ้ามันที่ไทยต้องซื้ออย่างไร? ส่วนผู้ประกอบการไทยที่รอการชำระเงินจากคู่ค้ารัสเซีย ต้องรีบสะสางโดยเร็ว

 

ด้านรศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ระบุผ่านเว็บไซต์ประชาไทว่า การใช้มาตรการคว่ำบาตรให้รัสเซียออกจาก SWIFT นี้ไม่ได้ทำแบบเบ็ดเสร็จ คือ มีการมุ่งเป้าไปยังธนาคารเป้าหมายเท่านั้น ผลกระทบในการสร้างความเสียหายต่อรัสเซียยังคงจำกัดวงอยู่ แต่จะกระทบต่อบริษัทพลังงานในเยอรมันค่อนข้างมาก ขณะที่ สถาบันการเงินในเยอรมันและสหรัฐอเมริกาที่ใช้ระบบ SWIFT สื่อสารและทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินในรัสเซียก็จะได้รับกระทบอย่างมากไปด้วย


การดำเนินการดังกล่าวย่อมส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและสถาบันการเงินบางแห่ง ต้นทุนในการทำธุรกรรมเพิ่มสูงขึ้น และทำให้รัสเซียไม่สามารถส่งออกน้ำมันและพลังงานสู่ตลาดโลกได้ตามปรกติย่อมส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไป

 

ข้อมูล ประชาไท , PPTV , ประชาชาติธุรกิจ , กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง