เขื่อน ยิ่งอายุเยอะยิ่งแข็งแรง
‘มนุษย์’ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และต้องพึ่งพาธรรมชาติ สร้างสรรค์ธรรมชาติ รวมถึงดูแลธรรมชาติ แต่ไม่สามารถควบคุมหรือคาดการณ์ธรรมชาติได้ ไม่ว่าพายุจะเริ่มก่อตัวอยู่บนท้องฟ้า หรือเปลือกโลกกำลังเคลื่อนตัวอยู่ใต้พิภพ แต่สามารถป้องกันผลกระทบจากธรรมชาติได้ด้วยนวัตกรรม
มนุษย์ ริเริ่มคิดค้นนวัตกรรมเพื่อนำธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะ แสงแดด ลม หรือน้ำ โดยเฉพาะน้ำซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีมากที่สุดในโลก มนุษย์ได้คิดค้นและก่อสร้างนวัตกรรมที่เรียกว่า ‘เขื่อน (DAM)’ ขึ้นครั้งแรกที่ประเทศจีน เมื่อ 2,200 ปีที่แล้ว ในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ ชื่อว่า ‘เขื่อนตูเจียงเยี่ยน (Dujiangyan)’ ต่อมา เขื่อนถูกสร้างขึ้นทั่วโลกอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งในประเทศไทย โดยเขื่อนเอนกประสงค์แห่งแรกของไทย คือ เขื่อนยันฮี หรือต่อมาได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า เขื่อนภูมิพล ตั้งอยู่ที่จังหวัดตาก เป็นเขื่อนที่ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกของไทยด้วย
‘เขื่อน’ ทำหน้าที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งการชลประทาน เกษตรกรรม อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ป้องกันอุทกภัย ประมง คมนาคม และการท่องเที่ยว รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากน้ำมาผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ในความดูแลของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า มาตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ทำให้ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงหรือช่วง Peak Load ของแต่ละวัน ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ‘เขื่อน’ จึงถือเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติและสังคมไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
‘เขื่อนยิ่งอายุเยอะ ยิ่งแข็งแรง’ แตกต่างจากมนุษย์ที่ยิ่งแก่ยิ่งร่วงโรย เพราะ ‘เขื่อน’ ถูกออกแบบ ก่อสร้าง และบำรุงรักษาด้วยหลักทางวิศวกรรมที่ผ่านการสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์อย่างละเอียด ซึ่งช่วงเวลาที่ต้องเฝ้าระวังสุขภาพเขื่อนเป็นพิเศษ นั่นคือ ช่วงที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงมักกล่าวกันว่า เขื่อนที่มีอายุเยอะจะมีความแข็งแรงมั่นคง ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การบำรุงรักษาตามมาตรฐานสากล ซึ่ง กฟผ. มีทีมเจ้าหน้าที่บำรุงรักษาและตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนอยู่เป็นประจำ ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน และมีคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยเขื่อน (กปข.) ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาของ กฟผ. เข้าตรวจสอบเขื่อนเป็นประจำทุกๆ 2 ปี
ซึ่งบางโอกาสได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สภาวิศวกร นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากองค์การเขื่อนใหญ่ระหว่างชาติ (International Commission on Large Dams: ICOLD) มาร่วมตรวจสอบเขื่อน เพื่อให้เกิดมุมมองด้านความปลอดภัยจากบุคคลภายนอก และกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ก็จะมีการตรวจสอบเขื่อนเป็นกรณีพิเศษทันที นอกจากความมั่นคงแล้ว กฟผ. ร่วมกับหน่วยงานราชการ จัดทำแผนปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินในกรณีที่จำเป็นต้องระบายน้ำเป็นจำนวนมาก พร้อมมีการซักซ้อมแผนร่วมกันเป็นประจำ
ที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุการณ์ทางธรรมชาติ อย่างน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือแผ่นดินไหว ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงปลายปี 2561 – ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นติดต่อกันหลายครั้งในระยะเวลาใกล้เคียงกัน โดยมีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่บริเวณอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ห่างจากเขื่อนศรีนครินทร์ ประมาณ 55 กิโลเมตร เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นบริเวณกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศให้เป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง จึงเกิดกระแสข่าวต่างๆ ผ่านทางสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์อย่างแพร่หลาย ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลขึ้น
ว่าที่ร้อยตรีอนนท์ โรจน์ณรงค์ วิศวกรระดับ 9 กองความปลอดภัยเขื่อน ฝ่ายบำรุงรักษาโยธา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวของ กฟผ. อธิบายว่า การเกิดแผ่นดินไหวหลายครั้งติดต่อกันนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะหลังจากเกิดแผ่นดินไหวหลัก (Main Shock) ขึ้น ก็มักจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กตามมาในบริเวณใกล้เคียงอีกหลายครั้ง เรียกว่า After Shock ซึ่งถือเป็นการปลดปล่อยพลังงานของแผ่นเปลือกโลกและรอยเลื่อนต่างๆ ทำให้ไม่ต้องสะสมพลังงานมากจนเกินไป
สำหรับเขื่อนศรีนครินทร์ตั้งอยู่ห่างจากกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ประมาณ 50 กิโลเมตร แน่นอนว่า เขื่อนศรีนครินทร์ รวมทั้งเขื่อนต่าง ๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี ย่อมได้รับอิทธิพลจากการปลดปล่อยพลังไม่มากก็น้อยแตกต่างกันตามระยะห่างของเขื่อนกับกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ กฟผ.ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเขื่อนชั้นนำของเมืองไทยทำการวิเคราะห์ความมั่นคงของเขื่อนศรีนครินทร์ต่อแรงกระทำจากแผ่นดินไหวด้วยวิทยาการล่าสุดที่วิศวกรรมเขื่อนในสากลให้การยอมรับในปัจจุบัน พบว่าเขื่อนศรีนครินทร์มีความคงทนสามารถรับแรงกระทำจากแผ่นดินไหวขนาด 7 ได้อย่างดี
ระหว่างวันที่ 21-24 มกราคม 2562 คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยของเขื่อนได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนท่าทุ่งนา ประจำปี 2562 พบว่า เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนท่าทุ่งนา ไม่พบประเด็นปัญหาที่มีผลต่อความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนท่าทุ่งนา ตัวเขื่อนและอาคารประกอบต่างๆ อยู่ในสภาพดี มีความมั่นคงปลอดภัยต่อการใช้งาน รวมทั้งมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ คอยใส่ใจดูแลตรวจสอบและบำรุงรักษาเขื่อนเป็นอย่างดี ด้วยกระบวนการตรวจสอบเขื่อนที่เป็นไปตมาตรฐานสากล
นายดนัย วัฒนาดิลกกุล หัวหน้ากองความปลอดภัยเขื่อน ฝ่ายบำรุงรักษาโยธา ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยของเขื่อน กล่าวเสริมว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน โดยมีการดำเนินการตรวจสอบและบำรุงรักษาเขื่อนตามมาตรฐานสากลขององค์การเขื่อนใหญ่ระหว่างชาติ (ICOLD) เป็นประจำและสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งระบบตรวจสุขภาพเขื่อนแบบอัตโนมัติ หรือ DS-RMS (Dam Safety Remote Monitoring System) เป็นระบบที่ กฟผ. ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center) หรือ NECTEC พัฒนาขึ้น โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกับเทคโนโลยีของเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อนมาบูรณาการใช้ในการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในด้านความมั่นคงปลอดภัยในเขื่อนใหญ่ ของ กฟผ.
ด้วยประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านความปลอดภัยเขื่อนมามากกว่า 35 ปี ปัจจุบัน กฟผ. มีทีมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบและประเมินความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนที่พร้อมให้บริการในธุรกิจด้านการตรวจสอบและประเมินความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนให้กับลูกค้าภายนอก ทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบซ่อมแซมเขื่อนและอาคารประกอบ การวิเคราะห์จัดทำแผนที่น้ำท่วมและแผนเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ฉุกเฉิน การจัดอบรมการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน และการตรวจสอบและวิเคราะห์ชีวภาพทางน้ำและนิเวศวิทยาทางน้ำของอ่างเก็บน้ำ ฯลฯ พร้อมก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจตรวจสอบและประเมินความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนระดับภูมิภาคอย่างเต็มที่
กฟผ. มุ่งมั่นที่จะดูแลและบำรุงรักษาเขื่อนที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างเข้มข้น จริงจัง และสม่ำเสมอตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เขื่อนมีความมั่นคงปลอดภัย ดำรงอยู่ และยังประโยชน์สูงสุด ให้กับประชาชนและสังคมไทยต่อไปตราบนานเท่านาน