รีเซต

นศ.มช. ยื่นหนังสือแถลงการณ์ขอลดค่าธรรมเนียมการศึกษา 30 %

นศ.มช. ยื่นหนังสือแถลงการณ์ขอลดค่าธรรมเนียมการศึกษา 30 %
มติชน
17 เมษายน 2563 ( 16:03 )
153
2
นศ.มช. ยื่นหนังสือแถลงการณ์ขอลดค่าธรรมเนียมการศึกษา 30 %

นศ.มช. ยื่นหนังสือแถลงการณ์ขอลดค่าธรรมเนียมการศึกษา 30 % หนุนเทคโนโลยีสอนทางออนไลน์ฺ หลังได้รับผลกระทบโควิด -19 “น.พ.นิเวศน์” แจงที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศให้ลดได้ 10 % ถ้าคณะไหนเห็นด้วย พร้อมลดเพิ่ม

 

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 17 เมษายน  ที่สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กลุ่มนักศึกษาบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ นำโดย น.ส.รสริน คุณชม นักศึกษาปริญญาโท อายุ 29 ปี พร้อมนักศึกษากว่า 10 คน ได้ยื่นหนังสือ พร้อมออกแถลงการณ์เรื่อง การลดค่าธรรมเนียมในช่วงวิกฤตโควิด-19 ถึง น.พ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มช. ผ่านนายอาคม ตันตระกูล ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ มช. เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยลดค่าเทอม 30 % ภาคเรียนการศึกษาที่ 1 ปี 2563 สนับสนุนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ให้กับนักนักศึกษาที่ไม่พร้อม จัดทำประกาศโควิด-19 ให้นักศึกษาและบุคลากรทุกคน เพิ่มจำนวนอาหารและขยายระยะเวลา “โครงการรับอาหารฟรี” จัดเครื่องฟอกอากาศให้กับหอพักนักศึกษา


ภายในมหาวิทยาลัย และประกาศความชัดเจน เรื่องการจัดระบบการเรียนการสอนออนไลน์ครอบคลุมทั้งภาคการศึกษา ซึ่งนายอาคม ได้รับเรื่องดังกล่าวได้ เพื่อส่งให้คณะผู้บริหาร มช.ได้พิจารณาช่วยเหลือตามลำดับ โดยใช้เวลากว่า 30 นาที

 

น.ส.รสริน กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจต่ำตกและเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19ผู้ปกครองตกงาน ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ และนักศึกษาที่ทำงาน ก็ไม่มีรายได้เช่นกัน ทำให้เดือดร้อนหนัก จากการพูดคุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ผ่านมามาตรการช่วยเหลือเยียวยานักศึกษาไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง เป็นการช่วยเหลือ


บางกลุ่มเท่านั้น ดังนั้นอยากให้มหาวิทยาลัยช่วยเหลือเยียวยาให้กับนักศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน การขอลดค่าธรรมเนียม 30 % เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ปกครองและนักศึกษา ซึ่งค่าใช้จ่ายระดับปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายเรียนทางออนไลน์ ซึ่งนักศึกษาบางรายไม่มีคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊ก อินเตอร์เน็ตแรงไม่พอ ทำให้นักศึกษาต้องปรับตัวมาก อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาได้ ที่สำคัญอยากให้ประกาศว่าเทอมหน้าจะเรียนทางออนไลน์ได้เมื่อไร เพื่อให้นักศึกษาเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด เพราะยังมีนักศึกษาที่อาศัยหอพักในมหาวิทยาลัยกว่า 1,000 คน

 

“มหาวิทยาลัยมีมาตรการผ่อนผันค่าเทอม แต่ไม่ได้ให้แบบอัตโนมัติ หรือให้เปล่า ซึ่งต้องยื่นเรื่องขอผ่อนผัน ซึ่งมหาวิทยาลัยอาจพิจารณาให้ทุนการศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา จำนวน 250 ล้านบาท เพื่อให้นักศึกษากู้ยืม แต่ให้ใช้คืนภายหลัง ต่างจากการลดค่าธรรมเนียม 30 % ทุกคนได้รับประโยชน์เท่าเทียมกันหมด และทั่วถึง ซึ่งนักศึกษาสามารถนำเงินดังกล่าว ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้จ่ายค่าสาธารณูปโภค ในช่วงหยุดเรียนที่ผ่านมา ถ้าเทอมหน้าเรียนทางออนไลน์ มหาวิทยาลัยสามารถลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวอีกทางหนึ่ง” น.ส.รสริน กล่าว

 

ต่อมาเวลา 11.30 น. น.พ.นิเวศน์ พร้อมผู้บริหาร ได้แถลงข่าวชี้แจงข้อเรียกร้องของนักศึกษา ว่า มหาวิทยาลัยเตรียมความพร้อมสอนทางออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องการให้นักศึกษารวมตัวกันจำนวนมาก ได้ซื้อลิขสิทธิ์บริษัทซูม กว่า 3,000 ยูนิต มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท มาใช้การเรียนการสอนตั้งแต่ภาคฤดูร้อน และภาคการศึกษาที่ 1 และภาคการศึกษาที่ 2 ปีหน้า โดยมีศูนย์ไอทีเอสดีคอนเนอร์ มีเครื่องคอมพิวเตอร์และโน็ตบุ๊ค เข้าไปใช้บริการได้ กว่า 100 จุด รวมกว่า 1,000 เครื่อง พร้อมจัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวให้กับนักศึกษาที่ขาดแคลน เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงการเรียนทางออนไลน์มากขึ้น แต่ขอให้นักศึกษาตั้งใจเรียน และสำเร็จหลักสูตร ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยมากกว่า

 

นอกจากนี้สภามหาวิทยาลัย ได้เห็นชอบจัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาช่วงโควิด-19 จำนวน 250 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยให้นักศึกษากู้ยืมตั้งแต่การศึกษาภาคฤดูร้อน โดยเริ่มเรียนวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเงินกู้ยืมดังกล่าว อาจนำมาใช้เป็นค่าผ่อนผันค่าธรรมเนียม ค่าหอพักมหาวิทยาลัยเดือนละ 400 บาท หอพักภายนอก 1,500-1,800 บาท/เดือนและเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน เฉลี่ยเดือนละ 3,000 บาท/คน ซึ่งเตรียมความพร้อมช่วยเหลือเยียวยานักศึกษามากว่าครึ่งเดือนแล้ว พร้อมเชิญผู้บริหารคณบดี ผู้อำนวยการสำนัก มาประชุมหารือกองทุนดังกล่าว วันที่ 21 เมษายนนี้ อีกครั้ง

 

“ในการประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ร่วมกับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและบรรเทาความเดือนร้อนนักศึกษาช่วงโควิดระบาด ที่ประชุมเห็นชอบลดค่าธรรมเนียมการศึกษาได้เพียง 10 % เพื่อใช้เป็นมาตรฐานทั่วประเทศ ซึ่งการจัดค่าธรรมเนียมที่ผ่านมา ได้ส่งคืนให้กับคณะต้นสังกัดของนักศึกษาอยู่แล้ว เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ถ้าลดมาก จะมีผลกระทบต่อศึกษาโดยตรง กรณีขอลดค่าธรรม 30 % ถ้าคณะไหนเห็นชอบ ทางมหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการได้ ไม่มีปัญหา” น.พ.นิเวศน์ กล่าว

 

ที่ผ่านมาค่าธรรมเนียมการศึกษา เทอมละ 15,000-16,000 บาท เกินครึ่งของหลักสูตรทั้งหมด เป็นค่าธรรมเนียมที่ไม่สูงมากนัก อยู่ในช่วงกลาง ๆถึงปลาย ๆ เชื่อว่านักศึกษาไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ให้ทุนการศึกษา ปีละ 1,000 ทุน รวม 20 ล้านบาท ไม่รวมทุนการศึกษาของคณะอีก และมีเงินบริจาคของสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร คณาจารย์ ศิษย์เก่ากว่า 100 ราย ที่สนับสนุน การศึกษาอีก 1.2 ล้านบาทด้วย

 

“มหาวิทยาลัย มีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนยืมเงินเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) จำนวน 5,000 ราย หรือ 20 %ของนักศึกษาทั้งหมด ส่วนการตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยเพิ่ม เพื่อช่วยเสริมกองทุนดังกล่าว เนื่องจากมีนักศึกษาระดับปริญญาตรี27,000-28,000 คน ปริญญาโทและเอก อีก 8,000 คน เพื่อรองรับปัญหาดังกล่าว พร้อมขอให้นายสุวิทย์ ไปหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอผ่อนคลายกฎระเบียบของ กยศ. และ กรอ. เพื่อให้นักศึกษา
เข้าถึงกองทุนดังกล่าวมากขึ้น” น.พ.นิเวศน์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง