รีเซต

โควิด-19 : คำบอกเล่าจากพยาบาลห้องไอซียู ผู้ต้องเป็นคนถอดเครื่องช่วยหายใจ

โควิด-19 : คำบอกเล่าจากพยาบาลห้องไอซียู ผู้ต้องเป็นคนถอดเครื่องช่วยหายใจ
ข่าวสด
18 เมษายน 2563 ( 21:29 )
425
โควิด-19 : คำบอกเล่าจากพยาบาลห้องไอซียู ผู้ต้องเป็นคนถอดเครื่องช่วยหายใจ

 

โควิด-19 : คำบอกเล่าจากพยาบาลห้องไอซียู ผู้ต้องเป็นคนถอดเครื่องช่วยหายใจ - BBCไทย

เครื่องช่วยหายใจเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้คนไข้หลายคนกลับมาหายดีจากโรคโควิด-19 ได้ มันช่วยให้ออกซิเจนเข้าไปถึงปอด และก็พาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา โดยที่ร่างกายไม่ต้องทำงานเอง

อย่างไรก็ดี เครื่องช่วยหายใจไม่สามารถช่วยชีวิตทุกคนได้ ทีมแพทย์ทั่วโลกต่างต้องทำการตัดสินใจอันแสนยากลำบากว่าจะหยุดช่วยคนไข้ของพวกเขาเมื่อไหร่

"การถอดเครื่องช่วยหายใจเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายและเจ็บปวดมาก บางครั้งฉันรู้สึกว่าเป็นตัวเองที่ทำให้คน ๆ หนึ่งต้องตาย" ฮวนนิตา นิตลา หัวหน้าพยาบาลแผนกผู้ป่วยหนักแห่งโรงพยาบาลรอยัลฟรี ในกรุงลอนดอน เล่า

นิตลา เกิดทางตอนใต้ของอินเดีย และทำงานสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ในอังกฤษมา 16 ปี ในห้องผู้ป่วยหนัก

Getty Images

"การถอดเครื่องช่วยหายใจเป็นงานส่วนหนึ่งของฉัน" พยาบาลวัย 42 ปีผู้นี้บอกกับบีบีซีในวันหยุดวันหนึ่งของเธอ

คำขอสุดท้าย

ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน เม.ย. ขณะทำงานกะเช้า เธอได้รับแจ้งว่าต้องหยุดให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 คนหนึ่ง คนไข้คนดังกล่าวเคยเป็นพยาบาลตอนอายุ 50 กว่า และนิตลาต้องเป็นคนคุยเรื่องกระบวนการในช่วงสุดท้ายนี้กับลูกสาวของคนไข้

"ฉันย้ำว่าแม่ของเธอไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด และดูสบายเนื้อสบายตัว ฉันต้องถามเธอเรื่องคำขอสุดท้ายของแม่และก็พิธีกรรมทางศาสนาด้วย"

"คนไข้อยู่ในห้องรวมที่มี 8 เตียง ทุกคนป่วยหนัก ฉันดึงม่านปิด และก็ปิดสัญญาณเตือนทุกอย่าง พยาบาลทุกคนหยุดพูด ศักดิ์ศรีและความสุขกายของคนไข้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับพวกเรา" นิตลา เล่า

Juanita Nittla
นิตลา ทำงานสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ในอังกฤษมา 16 ปี

จากนั้นเธอก็ต่อสายหาตัวลูกสาว และแนบโทรศัพท์เข้าที่หูคนไข้

"สำหรับฉัน มันเป็นแค่การโทรศัพท์ แต่มันช่วยคนในครอบครัวขอบคนไข้ได้มาก พวกเขาอยากจะคุยผ่านวิดีโอคอล แต่โชคไม่ดี ที่ห้ามไม่ให้มีการใช้มือถือในห้องไอซียู"

ชั่วขณะสุดท้าย

นิตลา เล่นมิวสิกวิดีโอเพลง ๆ หนึ่งบนคอมพิวเตอร์ให้คนไข้ดูตามคำขอของครอบครัว จากนั้นเธอก็ถอดเครื่องช่วยหายใจ

"ฉันนั่งจับมือคนไข้จนกระทั่งเขาหมดลมหายใจไป"

Juanita Nittla

การตัดสินใจหยุดให้การช่วยเหลือคนไข้ต้องผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นอายุคนไข้ โรคประจำตัว และโอกาสรักษาหาย

คนไข้คนนั้นเสียชีวิตภายใน 5 นาทีหลังจากที่นิตลาถอดเครื่องช่วยหายใจ

"ฉันเห็นแสงไฟกระพริบบนจอมอนิเตอร์ แล้วอัตราการเต้นของหัวใจกลายเป็นศูนย์ เป็นเส้นเรียบบนจอ"

ตายอย่างโดดเดี่ยว

จากนั้น นิตลา ก็ถอดสายให้ยาสลบ ลูกสาวของคนไข้ซึ่งยังไม่รู้ว่าแม่เสียชีวิตไปแล้วก็ยังคุยกับแม่ต่อไป พร้อมกับสวดมนต์ไปด้วย ในที่สุด นิตยาก็ต้องยกสายโทรศัพท์มาบอกกับลูกสาวว่าแม่เธอได้จากไปแล้ว

SILVIO AVILA / AFP

ในฐานะพยาบาล หน้าที่เธอไม่ได้สิ้นสุดแค่นั้น เธอและเพื่อนพยาบาลยังต้องช่วยกันอาบน้ำศพ คลุมด้วยผ้าสีขาว และใส่ร่างไว้ในถุงบรรจุศพ ก่อนปิดถุง นิตลาใช้มือทำสัญลักษณ์เครื่องหมายกางเขนให้ผู้ตายอีกด้วย

ก่อนมีวิกฤตไวรัสโคโรนา ญาติสามารถมาคุยปรึกษากับแพทย์ต่อหน้า และในบางประเทศ ก็ได้รับอนุญาตให้เข้าไปหาคนไข้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะถอดเครื่องช่วยหายใจ แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปในยุคโรคโควิด-19

"มันน่าเศร้าที่ต้องเห็นคนเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเช่นนี้"

Getty Images

เตียงไม่พอ

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 โรงพยาบาลที่นิตลาทำงานอยู่ขยายพื้นที่เพิ่มเตียงผู้ป่วยไอซียูจาก 34 เป็น 60 เตียง ต้องใช้พยาบาลทั้งหมด 175 คนในการดูแล นิตลาบอกว่าตอนนี้พยาบาลหนึ่งคนต้องดูแลคนไข้สามคน ทั้งที่แต่ก่อนเป็นสัดส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง และเพื่อนร่วมงานเธอบางคนก็มีอาการ และต้องกักตัวอยู่ตอนนี้

"ก่อนเริ่มงาน เราจับมือกันและพูดว่า ขอให้ทุกคนปลอดภัย เราดูแลกันและกัน คอยดูให้ทุกคนใส่ถุงมือ หน้ากาก และอุปกรณ์ป้องกันอย่างรัดกุม"

เธอบอกว่าที่โรงพยาบาลขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจ เครื่องให้สารอาหารและยาทางหลอดเลือดดำ ถังออกซิเจน และยาหลายตัว แต่ยังดีที่อุปกรณ์ป้องกันยังเพียงพอสำหรับบุคลากรทางการแพทย์

Juanita Nittla
"ก่อนเริ่มงาน เราจับมือกันและพูดว่า ขอให้ทุกคนปลอดภัย"
Juanita Nittla
ฮวนนิตา (กลาง) กับเพื่อนพยาบาล

แผนกผู้ป่วยหนักของเธอมีผู้เสียชีวิตวันละคน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยก่อนการระบาดของไวรัสโคโรนามาก

"มันน่ากลัวมาก"

แต่ในฐานะหัวหน้าพยาบาล เธอก็ต้องเก็บความรู้สึกไว้

"ฉันฝันร้าย นอนไม่หลับ กลัวว่าจะติดไวรัส"

ปีที่แล้ว เธอต้องลางานหลายเดือนเพราะเป็นวัณโรค เธอจึงรู้ดีว่าปอดเธอเสียหายไปแค่ไหน

"คนบอกว่าฉันไม่ควรมาทำงาน แต่นี่คือการระบาดใหญ่ ฉันทิ้งทุกอย่าง และมุ่งทำงานของฉันต่อไป"

"เมื่อเสร็จงานแต่ละวัน ฉันคิดถึงคนไข้ในความดูแลของฉันที่เสียชีวิตไป แต่ฉันก็พยายามจะไม่ไปนึกถึงเมื่อออกจากโรงพยาบาลมา"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง