รีเซต

เปิดประวัติ "พระพุทธชินราช" ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้

เปิดประวัติ "พระพุทธชินราช" ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้
TNN ช่อง16
7 มิถุนายน 2566 ( 11:58 )
259

เปิดประวัติ "พระพุทธชินราช" พระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก  ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้


วันที่ 6 เดือน 6 ปีพุทธศักราช 2566 ที่บริเวณพระราชวังจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก หม่อมหลวงสราลี กิติยากร พร้อมด้วย นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และ หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนชาวจังหวัดพิษณุโลกจำนวนนับพันคน พร้อมใจกันสวมใส่เสื้อผ้าชุดขาว และนำเอาดอกบัวที่ทุกคนได้พร้อมใจกัน ช่วยกันพับจำนวน 12,999 ดอก มากิจกรรมจัดริ้วขบวนแห่ดอกบัวที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารหรือวัดใหญ่ เพื่อเป็นพุทธบูชาเนื่องในโอกาส พระพุทธชินราช พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก ที่ในปีนี้ครบรอบ 666 ปี  


ภาพจาก ผู้สื่อข่าวพิษณุโลก

 


ภาพจาก ผู้สื่อข่าวพิษณุโลก

 




ประวัติ พระพุทธชินราช


พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารด้านตะวันตกในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด คงมีแต่พงศาวดารเหนือ ซึ่งเป็นเอกสารที่เล่าถึงตำนานเมืองเหนือเรื่องต่างๆ สมัยกรุงศรีอยุธยา ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ในปี พ.ศ. 2350 ที่อ้างถึงกษัตริย์เชียงแสนพระนามพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเป็นผู้สร้าง พร้อมกับการสร้างเมืองพิษณุโลกและพระพุทธรูปอีก 2 องค์คือพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา

พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ในชื่อ "ตำนานพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา" ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ โดยใช้พงศาวดารเหนือในการอ้างอิงจึงทำให้มีเนื้อหาหลักคล้ายคลึงกัน แต่เพิ่มเติมการสร้างพระเหลือเข้าไป และมีการระบุศักราชในการสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ไว้ดังนี้ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาหล่อในปี พ.ศ. 1498 และพระพุทธชินราชหล่อขึ้นในปี พ.ศ. 1500 (หย่อนอยู่ 7 วัน)

พ.ศ. 2423 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้ทรงแต่งตำนานการสร้างพระพุทธชินราชขึ้นอีกสำนวนหนึ่ง ชื่อ "พงษาวดารเหนือ : เป็นลิลิตเรื่องนิทานพระร่วง แลนิทานพระเจ้าธรรมไตรปิฎก นิทานพระชินศรี พระชินราช พระศาสดา" ซึงมีเนื้อเรื่องเช่นเดียวกับพงศาวดารเหนือและพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างพระบรมราชจักรีวงศ์กับพระพุทธชินราชเข้าไปด้วย


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มีพระดำริเกี่ยวกับประวัติการสร้าง พระพุทธชินราช จากหลักฐานทางพุทธศิลป์นำมาเปรียบเทียบกับพงศาวดารเหนือว่า พระพุทธชินราช ถูกสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เนื่องจากพุทธศิลป์อย่างพระพุทธรูปสุโขทัยระคนกับพุทธศิลป์เชียงแสนแต่มีพัฒนาการไปกว่าพระพุทธรูปที่มีอยู่เดิม และช่างผู้สร้างพระพุทธชินราชกับพระพุทธชินสีห์นั้นเป็นช่างเดียวกัน หากแต่พระศรีศาสดาเป็นช่างอื่นจากลักษณะประติมากรรมของพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ที่ปรากฏ แต่จะสร้างพร้อมกันทั้ง 3 องค์หรือไม่นั้นไม่ทราบแน่ชัด 


และเมื่อพิจารณาช่วงเวลาการสร้างแล้วทรงคาดว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์น่าจะสร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ในปี พ.ศ. 1900 มิใช่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โดยประทานเหตุผลว่า "พระเจ้าแผ่นดินซึ่งปรากฏพระเกียรติในเรื่องพระไตรปิฎกนั้นมีแต่พระองค์เดียวคือพระมหาธรรมราชาลิไทย...พระมหาธรรมราชานี้เองที่พงศาวดารเหนือเรียกว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก"

นอกจากนี้ยังมีการสันนิษฐานเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราชว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยพิชญา สุ่มจินดา ซึ่งได้กำหนดอายุเวลาของพระพุทธชินราชขึ้นใหม่จากพุทธลักษณะขององค์พระพุทธรูปจากรูปแบบของเรือนแก้ว โดยเทียบเคียงกับลวดลายบนซุ้มเรือนแก้วที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช อายุเวลาของลวดลายดังกล่าวอาจกำหนดได้ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย และจากสถาปัตยกรรมของพระวิหาร ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2232)

อย่างไรก็ตามความเห็นที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ณ ขณะนี้คือความเห็นในแนวทางเดียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เชื่อว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ถูกสร้างขึ้นในราว พ.ศ. 1900 ในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย)

หมายเหตุ: ซุ้มเรือนแก้ว รูปหล่ออาฬวกยักษ์และท้าวเวสสุวัณเป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นคนละยุคกับองค์พระโดยเชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาโดยสังเกตจากลักษณะลวดลายและลักษณะทางสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ยังมีการบูรณะพระพุทธชินราชโดยการเพิ่มอุณาโลมบริเวณพระนลาฏในสมัยหลัง (คาดว่าน่าจะทำขึ้นในสมัยอยุธยา เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานการบูรณะเพิ่มเติม)



ภาพจาก ผู้สื่อข่าวพิษณุโลก

 



การลงรักปิดทอง

เดิมพระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสำริดมิได้มีการลงรักปิดทองตั้งแต่แรกสร้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2146 สมเด็จพระเอกาทศรถได้เสด็จแปรพระราชฐานมายังเมืองพิษณุโลก และพระราชดำเนินมานมัสการ พร้อมทั้งโปรดให้มีการนำเครื่องราชูปโภคมาตีแผ่เป็นทองคำเปลวสำหรับปิดทองพระพุทธชินราช ครั้งนั้นจึงถือเป็นการลงรักปิดทองครั้งแรก ต่อมายังมีการลงรักปิดทองอีก 2 ครั้งใน พ.ศ. 2444 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการถวายสังวาลย์เพชรเป็นพุทธบูชาพร้อมกับการหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร และ พ.ศ. 2547 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

การสงคราม

พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารด้านตะวันตกของหมู่พระวิหารและระเบียงคต ทำให้เมื่อมีการศึกสงครามโดยเฉพาะในศึกอะแซหวุ่นกี้ พ.ศ. 2318 เมื่ออะแซหวุ่นกี้และทัพพม่าสามารถตีเมืองพิษณุโลกได้ จึงเผาทำลายพระราชวังจันทน์กับพระวิหารประธานด้านตะวันออกที่ประดิษฐานพระอัฏฐารสเท่านั้น พระพุทธชินราชและพระวิหารที่ประดิษฐานไม่ได้โดนเผาทำลายไปด้วย


การเคลื่อนย้ายที่ประดิษฐานและการจำลอง

พ.ศ. 2442 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามขึ้นเป็นพระอารามหลวงประจำพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะอัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ดังข้อความในพระราชปรารภ "เห็นพระพุทธลักษณะแห่งพระพุทธชินราชว่างาม หาพระพุทธรูปองค์ใดเปรียบมิได้ ครั้นเมื่อสร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้น ได้พยายามหาพระพุทธรูปซึ่งจะเป็นพระประธาน ทั้งในกรุงแลหัวเมือง...ก็ไม่เป็นที่พอใจ จึงคิดเห็นว่าจะหาพระพุทธรูปองค์ใดให้สวยงามเสมอพระพุทธชินราชนั้นไม่มีแล้ว..."

แต่ด้วยเหตุที่พระพุทธชินราชไม่เคยถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ที่แห่งใดเลย และทรงเกรงว่าเมื่อราษฎรชาวพิษณุโลกทราบข่าวการอัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครจะพากันเศร้าโศกเหมือน เมื่อครั้งที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงไปประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2372 และในเวลาไล่เลี่ยกันมีพระสงฆ์รูปหนึ่งได้อัญเชิญพระศรีศาสดาลงไปประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน 


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริที่จะหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) ขึ้นแทน ดังความในพระราชปรารภที่ว่า "ครั้นจะเชิญพระพุทธชินราชลงมาก็เห็นว่าเป็นหลักเป็นศิริของเมืองพิศณุโลก...จึงได้ปรารภที่จะคิดหล่อขึ้นใหม่ให้เหมือนพระพุทธชินราช..." ในปี พ.ศ. 2444 จึงได้มีการหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) ณ บริเวณเดิม (โพธิ์ 3 เส้า) ที่มีการหล่อพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา และอัญเชิญพระพุทธชินราช (จำลอง) ลงแพแล้วล่องลงมายังกรุงเทพมหานครต่อไป


ภาพจาก ผู้สื่อข่าวพิษณุโลก

 



ลักษณะทางพุทธศิลป์

พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง พระเกศาขดเป็นก้นหอยขนาดใหญ่ วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูมเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ มีพระอุณาโลมผลิกอยู่ระหว่างพระขนง พระวรกายอวบอ้วนมีสังฆายาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบฝังด้วยแก้ว นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน (ทีฆงคุลี) ฝ่าพระบาทแบนราบค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ ส้นพระบาทยาว มีรูปอาฬวกยักษ์และรูปท้าวเวสสุวัณหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์เฝ้าอยู่ที่พระเพลาเบื้องขวาและซ้ายขององค์ตามลำดับ มีซุ้มเรือนแก้วและสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทองประดับเบิ้องพระปฤษฎางค์ปราณีตอ่อนช้อยช่วยเน้นให้พระวรกายของพระพุทธชินราชมีความงดงามยิ่งขึ้น


การจัดหมวดหมู่


พระพุทธชินราช ถูกจัดให้อยู่ในพระพุทธรูปหมวดพระพุทธชินราช (พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองพิษณุโลก ซึ่งมีลักษณะต่างจากหมวดใหญ่เล็กน้อย คือพระพักตร์ที่อวบอ้วนมากกว่าและที่สำคัญคือการทำปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปหมวดนี้) ถือเป็น 1 ใน 4 หมวดของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย



ภาพจาก ผู้สื่อข่าวพิษณุโลก

 





ที่มา TNN รวบรวม / wikipedia

ข่าวที่เกี่ยวข้อง