รีเซต

สธ.ไม่ฟันธง "23 แรงงานเมียนมา" ติดเชื้อจากไทย เหตุช่วงเวลาคาบเกี่ยว

สธ.ไม่ฟันธง "23 แรงงานเมียนมา" ติดเชื้อจากไทย เหตุช่วงเวลาคาบเกี่ยว
มติชน
22 มิถุนายน 2563 ( 18:17 )
97
สธ.ไม่ฟันธง "23 แรงงานเมียนมา" ติดเชื้อจากไทย เหตุช่วงเวลาคาบเกี่ยว
สธ.ไม่ฟันธง “23 แรงงานเมียนมา” ติดเชื้อจากไทย เหตุช่วงเวลาคาบเกี่ยว

กรณีที่ทางการประเทศเมียนมา รายงานพบชาวเมียนมาเดินทางกลับจากไทย ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จำนวน 23 ราย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา

 

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบรายชื่อพาสปอต พบว่า 19 ราย เป็นชาวเมียนมาที่อยู่ในสถานที่กักกันของรัฐประเทศไทย ที่ด่าน อ.สะเดา จ.สงขลา มีการติดเชื้อและรักษาหายแล้วตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการ คือการรักษาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้มีการกักตัวต่อ 14 วัน สวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดต่ออีก 1 เดือน ซึ่งตลอดเวลาคนเหล่านี้อยู่ในศูนย์กักแยกของไทยตามมาตรฐานที่กำหนด ก่อนจะถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง ก่อนจะนำมาสู่การกักกันที่ฝั่งเมียนมา ซึ่งมีการตรวจด้วยวิธี RT-PCR เหมือนกับผู้ป่วยในไทยที่รักษาหายแล้ว กลับพื้นที่ มีการตรวจซ้ำก็พบสารพันธุ์กรรม แต่เมื่อนำเพาะเชื้อก็ไม่ขึ้น แปลว่าเป็นซากเชื้อที่ไม่มีการแพร่โรค ดังนั้นในส่วนของ 19 รายนั้น เพียงแต่ประสานขอข้อมูลเพิ่ม ไม่ได้มีเพิ่มเติมอะไร

 

“แต่ยังมีอีก 4 ราย ที่อยู่ระหว่างตรวจสอบ สอบสวนโรค คาดว่าน่าจะมาจากภาคใต้ตอนบนเช่นเดียวกัน อาจจะเป็นแถวด่าน จ.ระนอง หรือที่อื่น ซึ่งยังต้องรอการสอบสวนที่ชัดเจน เบื้องต้นมีข้อมูลขึ้นมาจากภาคใต้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน มาถึง อ.แม่สอด จ.ตาก เช้าวันที่ 5 มิถุนายน และอยู่ทำธุรกรรมต่างๆ ก่อนส่งข้ามฟากเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ทราบว่ามีการตรวจเชื้อวันที่ 17 มิถุนายน และรายงานผลวันที่ 19 มิถุนายน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ภาพรวมทั้งหมดไม่ได้นิ่งนอนใจ ดำเนินการ 1.ค้นหาผู้สัมผัส ที่โดยสารรถมายัง อ.แม่สอด 2.ที่พำนักที่บริเวณแม่สอด และ 3.กระบวนการของผู้สัมผัสที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งตัวทั้งหมดกลับไปยังฝั่งเมียนมา ตอนนี้ตรวจคัดกรองผู้สัมผัสแล้วยังไม่มีใครติดเชื้อแม้แต่รายเดียว แต่ก็ได้กำชับสถานที่ต่างๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้ให้มีการทำความสะอาด พร้อมยกระดับการตรวจคัดกรองเชิงรุก ซึ่งที่ผ่านมาตรวจแรงงานเมียนมาประมาณ 1 หมื่นรายไม่พบติดเชื้อ แต่ตอนนี้จะตรวจคัดกรองมากขึ้นที่ 3 จุด คือ 1.ศูนย์กักแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายในกรุงเทพมหานคร 2.จุดที่อาจจะมีแรงงานต่างชาติรอข้ามฝั่ง และ 3.ดูศูนย์กักแยกที่ชายแดนภาคใต้ว่ายังมีผู้คงค้างหรือไม่ และได้รับการตรวจแล้วหรือไม่

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีผู้ป่วยเมียนมา 4 ราย ที่ไม่ได้อยู่ในศูนย์กักมาก่อน แปลว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการติดเชื้อในประเทศไทย นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ แต่ต้องดูเส้นทางเนื่องจากมีช่วงระหว่างเดินทาง ข้ามทาง และอยู่ศูนย์กักเป็นไปได้หมด ซึ่งที่ผ่านมา ไทยมีการตรวจเชิงรุกในแรงงานต่างด้าวในประเทศก็ไม่เจอ พร้อมตรวจคนไทยที่สบายดี กลุ่มต่างๆ กว่า 6 หมื่นราย ก็ไม่เจอ หมายความว่า เชื้อที่อยู่ในประเทศน้อยลงมาก แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะ 4 รายนั้น ต้องหาที่มา จึงต้องดูว่า 4 รายนั้นเข้าไทยมาช่องทางไหน ต้องประสานไปที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง หรืออีกทางหนึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่ามีการติดเชื้อจากฝั่งเมียนมาได้ เพราะมีโอกาสติดได้จากทุกที่ แต่ 4 คนนั้น ติดเชื้อไม่มีอาการ และประเทศไทยมีมาตรการให้ทุกคนสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง โอกาสแพร่ ติดเชื้อโรคโควิด-19 ก็อาจน้อย แต่เราไม่ละเลย มีการสอบสวนโรค และฆ่าเชื้อตามทุกจุดทั้งยานพาหนะ และด่าน อ.แม่สอด

เมื่อถามย้ำว่า พอจะมั่นใจได้หรือไม่ว่ากรณีนี้จะไม่ทำให้เกิดการระบาดวงกว้าง (Super spreader) นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ใน 19 ราย ที่อยู่ในศูนย์กักกันนั้นมีความมั่นใจ เพราะรักษาหายแล้ว แต่ใน 4 รายยังอยู่ในการสอบสวน แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าจะไม่เป็นเหมือนซูเปอร์ สเปรดเดอร์นั้น อยู่ที่ประชาชนทุกคน หากยังสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ถ้า 4 รายนี้ไปที่ไหนแล้วเจอแต่คนที่สวมหน้ากากอนามัย โอกาสจะเกิดซูเปอร์ สเปรดเดอร์ ก็น้อย อย่างไรก็ตาม ต้องไปดูรายละเอียด คงได้ข้อมูลเร็วๆ นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง