"เมื่อโชห่วย ไม่ได้ห่วย"พลิกค้าปลีกสู่"New Normal"แบบ"แม็คโคร"
วิถี "New Normal" ที่ปัจจุบันเป็นคำฮิต ติดหูไปเกือบทุกวงการ ในวงการธุรกิจน่าจะคุ้นเคยกันมากขึ้น เพราะจากที่ผ่านมาด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีอิทธิพลทำให้วิถีปกติใหม่ หรือ New Normal นี้เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น ด้วยความจำเป็นที่ผู้บริโภคต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จนกลายเป็นเรื่องใหม่ที่ปกติไปโดยอัตโนมัติ
คงไม่ต้องยกตัวอย่างพฤติกรรม New Normal กันอีกก็เห็นจะได้ เพราะหลายคนน่าจะเข้าใจกันมากขึ้นว่ามีอะไรบ้างที่เป็น New Normal แต่เมื่อเอ่ยถึง “โชห่วย” แล้วโชห่วยมันเกี่ยวอะไรกับ New Normal กัน ซึ่งธุรกิจค้านี้เองนับเป็นธุรกิจปลีกรายย่อยที่เป็นฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจไทย และชื่อที่คนนึกถึงลำดับแรกก็คือ “แม็คโคร” ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ที่ปักธงความเป็น “มิตรแท้โชห่วย” มีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการค้าปลีกระดับชุมชนมานับไม่ถ้วน จนสามารถเก็บข้อมูลเชิงลึกของธุรกิจประเภทนี้เอาไว้มากที่สุด
“วีระชัย ตู้วชิรกุล” ผู้จัดการอาวุโส แม็คโคร 4.0 บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ผู้รับผิดชอบดูแลโครงการมิตรแท้โชห่วย หนึ่งในโครงการที่ขับเคลื่อนพันธกิจพาโชห่วยไทยฝ่าทุกวิกฤต ได้ให้มุมคิดจากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ผ่านเวทีเสวนา “ยุทธศาสตร์ค้าปลีกวิถีใหม่ ฝ่าโควิด-19” ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหลายประเด็นด้วยกัน
โชห่วยไม่ใช่ธุรกิจไร้อนาคต (Sunset)
ด้วยประสบการณ์ที่ทำงานกับมิตรแท้โชห่วย “วีระชัย” ออกเยี่ยม พูดคุยกับร้านค้าปลีกรายย่อยทั่วประเทศมาแล้วไม่ต่ำกว่า หนึ่งหมื่นร้านค้า โดยเล่าว่า “จากจุดเริ่มต้นด้วยแนวคิดว่า แม็คโคร เป็นส่วนหนึ่ง สังคมไทย ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาปีนี้เป็นปีที่ 31 แล้ว มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างเครือข่ายร้านค้าปลีกร่ายย่อยให้แข็งแกร่ง ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่เข้ามา ด้วยความเชี่ยวชาญในการทำงานกับกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อย โชห่วยไทย เราพบว่าปัญหาหลักๆ ของธุรกิจประเภทนี้หนีไม่พ้น พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ,ขาดคนรุ่นใหม่สืบทอดกิจการ, ขาดความรู้ในการจัดการร้านค้าปลีก เป็นที่มาของการเปิดตัวโครงการ แม็คโครมิตรแท้โชห่วย ในปี พ.ศ.2550 พื้นที่สำหรับพัฒนาต่อยอดขีดความสามารถ แบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์จริง และสร้างเครือข่ายสังคมโชห่วยไทยให้เข้มแข็ง”
โดยวงจรชีวิตของโชห่วย ตั้งแต่เริ่มเติบโต ประสบความสำเร็จหรือกำลังจะตาย เขายอมรับว่าพบเจอมาแล้วทุกรูปแบบ ซึ่งจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า จำนวนร้านโชห่วยในประเทศไทยปัจจุบันมี 500,000 ร้านค้า
คุณวีระชัย บอกว่า จากประสบการณ์ คนมักเข้าใจ ‘โชห่วย’ ผิด ธุรกิจนี้เป็นเหมือนปิระมิด มีกลุ่มฐานล่างสุด กลุ่มตรงกลาง และด้านบน ในกลุ่มโชห่วยฐานล่างสุดนั้นสร้างรายได้ต่อวัน หลักพัน ถึงหลักหมื่น สูงสุดที่เคยเจอ (ไม่รวมค้าส่งที่บางรายทำอยู่) มีรายได้วันละ 30,000-40,000 บาท เท่ากับว่าเขามียอดขายต่อเดือนประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งกำไรในธุรกิจโชห่วยคือ 15 เปอร์เซนต์ ถ้ามิกซ์มาร์จิ้น หรือผสมผสานสินค้าที่ทำกำไรได้ดี กำไรสามารถไปได้ถึง 20 เปอร์เซนต์
“เวลาเจอปัญหาจากการทำธุรกิจโชห่วย ก็เหมือนกับการเดินทางไปเจอสี่แยก คุณจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เดินหน้า หรือถอยหลัง ทุกอย่างขึ้นกับการปรับตัวของคุณ!” คุณวีระชัย กล่าว
อยู่รอดและอยู่รวย ทุกคนทำได้!
หลายคนมองว่า ธุรกิจโชห่วยเป็นธุรกิจทางเลือก แต่จริงๆ แล้วก็เป็นธุรกิจทางรอด ที่อยู่รอดและอยู่รวยได้เช่นกัน โดยในยุคที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง โชห่วย หรือร้านค้าปลีกรายย่อยต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้าคุ้นชินกับดิจิทัลสแกน อีเพย์เม้นนท์ สมาร์ทโฟน ต้องยอมรับว่า นโยบายที่ให้ประชาชนใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐทำให้คนพยายามใช้ดิจิทัล พอช่วงโควิดจึงปรับตัวใช้อีเพย์เม้นท์ หรือเกือบ 100 เปอร์เซนต์ของคนในชุมชนใช้สมาร์ทโฟนหมดแล้ว โชห่วยจึงต้องปรับตัวรองรับ ลูกค้าไม่ได้มีเงินสดแค่ในกระเป๋า แต่มีอยู่ในมือถือ วิธีการเพิ่มรายได้ให้ร้านก็คือ เปิดช่องทางการรับเงินที่มาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังเกิดกระแสทำอาหารกินเองในครอบครัวมากขึ้น แม็คโครเห็นเทรนด์นี้ชัดเจน จึงส่งเสริมให้โชห่วยปรับพื้นที่ขายสินค้าแช่แข็ง ผ่าน ‘ครัวชุมชน’ ซึ่งบริการสินค้าเนื้อสัตว์แช่แข็งขนาดแพคประมาณ สองขีด หรือ 200 กรัม ตอบโจทย์ความต้องการ นอกจากมีกำไรสูงแล้ว ยังทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในชุมชน เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้โชห่วยกลายเป็นร้านในดวงใจอีกด้วย
ที่สำคัญโชห่วยยังต้องใส่ใจในสุขภาพความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้า ด้วยการเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ มองหาสินค้าใหม่ให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ที่เกิดขึ้น จากเดิมขายน้ำตาล น้ำปลา ขนม ก็มาเป็นสินค้าเกี่ยวกับความสะอาด ต้องผสมผสานสินค้าให้เหมาะสม จะช่วยเพิ่มกำไรได้ และ การจัดการสต๊อกสินค้ายังเป็นหัวใจที่ โชห่วยต้องนึกถึงและใส่ใจเสมอ ซึ่งแม็คโครแนะนำให้จัดเก็บสต๊อกให้น้อยที่สุด เพื่อบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ
โชห่วยต้องเป็นทุกอย่างในชุมชน!
อีกพฤติกรรมก็คือ สถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนหันมาสนใจติดตามข่าวสารโชเชียลมีเดียมากขึ้น แม้แต่คนในชุมชนติดตามใกล้ชิดเช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญก็คือ โชห่วย มีเฟซบุ๊กเพจ มีไลน์ออฟฟิศเชียล เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับลูกค้าในชุมชน สร้างสรรค์ทางเลือกในการสร้างรายได้แบบใหม่
“โชห่วยไทย ผมว่าเขาปรับตัวได้นะ เริ่มจากอะไรที่ง่าย ใช้ได้เร็ว เชื่อมโยงสิ่งที่มีอยู่มาพัฒนาร้าน อย่างบริการดิลิเวอรี่ บริการสั่งสินค้า อัพเดทสินค้าใหม่ๆ ผ่านไลน์ เฟซบุ้ค โชห่วยต้องเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชุมชน เชื่อมโยงการขนส่งในชุมชน ใช้เทคโนโลยี มาสร้างสรรค์ธุรกิจให้เกิดความเข้มแข็งโดยลงทุนให้น้อยที่สุด”คุณวีระชัย กล่าว
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การปรับตัวรับ New Normal ของแม็คโคร ยังพุ่งเป้าไปที่การกระชับพื้นที่ความเป็นมิตรแท้โชห่วย ด้วยการเปิดบริการไลน์แอพพลิเคชั่น เป็นช่องทางให้คำปรึกษา เสริมความเข้มข้นจากเดิมที่มีพร้อมสรรพใน www.โชห่วยไทย.com
โดยในปลายปีนี้ แม็คโครยังเตรียมจัด" ตลาดนัดโชห่วย" ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ชี้ช่องรวย โชห่วยไทย วิถีใหม่” ซึ่งเตรียมขนเทคนิคการบริหารร้านโชห่วยในยุคโควิด-19 เสริมความเข้มแข็งให้ธุรกิจโชห่วยอย่างแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เข้มรักษาระยะห่าง!แม็คโคร ยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 รับคลายล็อกดาวน์ระยะ2
แม็คโคร เปิดขาย 06.00-8.00 น. เฉพาะผู้สูงวัย ลดเสี่ยงโควิด-19
ลดห้างแรก!แม็คโคร ขานรับมาตรการรัฐลดราคาเนื้อหมูช่วยปชช.
แม็คโครรับนโยบายพาณิชย์ ขนสินค้าร่วมลดราคาสูงสุด 50%
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE