รีเซต

"เจ้าสัวซีพี" ชมนายกฯ แก้วิกฤตโควิด-19 พร้อมพยุงเศรษฐกิจ แนะ ควรรีบเตรียมแผนฟื้นฟูหลังวิกฤต

"เจ้าสัวซีพี" ชมนายกฯ แก้วิกฤตโควิด-19 พร้อมพยุงเศรษฐกิจ  แนะ ควรรีบเตรียมแผนฟื้นฟูหลังวิกฤต
มติชน
11 เมษายน 2563 ( 16:10 )
410
1
"เจ้าสัวซีพี" ชมนายกฯ แก้วิกฤตโควิด-19 พร้อมพยุงเศรษฐกิจ  แนะ ควรรีบเตรียมแผนฟื้นฟูหลังวิกฤต

เจ้าสัวซีพีชมนายกฯ แก้วิกฤตโควิด-19 พร้อมพยุงเศรษฐกิจ  แนะควรรีบเตรียมแผนฟื้นฟูหลังวิกฤต

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวในโอกาสเปิดให้สื่อมวลชนเข้าชม โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรี เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ ก่อสร้างสำเร็จทันตามกำหนดเวลา โดยมีคำถามจากสื่อมวลชนถึงคำแนะนำทางเศรษฐกิจ

นายธนินท์ กล่าวว่า ในยามวิกฤตไวรัสโควิด-19 เช่นนี้ เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกัน ถ้าเราฟื้นได้เร็ว กักตัวอยู่บ้าน ไม่เอาเชื้อไปแพร่ต่อ ประเทศไทยจะฟื้นได้เร็ว ทุกคนจะได้ประโยชน์ ถ้าประเทศไหนฟื้นได้ก่อน เราก็จะได้ขายสินค้าไปได้ก่อน การท่องเที่ยวจะกลับมาก่อน แต่ทุกคนต้องร่วมมือกับรัฐบาล

“ผมยกย่องนายกฯ ประยุทธ์ เที่ยวนี้เด็ดขาด มีเหตุมีผล ขอแต่ประชาชนต้องร่วมมือกัน รองนายกฯ จุรินทร์ มีนโยบายดีมาก คิดไปถึงว่าจะช่วยเกษตรกรยังไงอีกด้วย มีเหตุมีผลที่จะคุมราคา ขอร้องภาคเอกชนอย่าส่งออก ต้องช่วยคนในประเทศก่อน เครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ยินดีน้อมรับและเห็นด้วย เพราะเป็นประโยชน์ในวิกฤตนี้ และตัดการส่งออกนอก เพื่อนำไข่มาเป็นประโยชน์ให้กับประชาชนไทย แต่ไข่เราเป็นส่วนน้อย ไม่ถึง 30% ของตลาด ของคนอื่นอีก 70% อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า ไข่ซีพีไม่ขึ้นราคาจากราคากำหนดโดยกระทรวงพาณิชย์อย่างแน่นอน นอกจากนี้อาหารต้องราคาถูก และมีคุณภาพ เข้าถึงได้”

ธนินท์ เจียรวนนท์

ต่อข้อถามถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด จะมีคำแนะนำสำหรับภาคธุรกิจอย่างไร นายธนินท์ กล่าวว่า ตนผ่านวิกฤตมาหลายรอบ ที่เมืองจีนเคยเจอโรคซาร์ สนามบินไม่มีใครไปเลย โลตัสที่จีนก็ไม่มีใครเข้า โรคซาร์ตอนนั้นระบาดเร็วและเป็นเฉพาะประเทศจีนเท่านั้น แต่วันนี้โควิด-19 คนที่เป็นอาจไม่รู้สึกอะไร ไปติดให้คนอื่นอีกเยอะกว่าจะรู้สึก ติดง่ายแต่เสียชีวิตน้อย จึงติดกันเยอะ รัฐบาลถึงต้องออกมาตรการห้ามออกจากบ้าน ซีพีมีนโยบายว่า ตอนที่ดีที่สุดต้องคิดว่าจะมีวิกฤตมา เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น วันนี้จีนรู้ มีประสบการณ์ตั้งแต่โรคซาร์ มีมากกว่าอเมริกา จึงเฉียบขาดมาก รู้ว่าอันตรายมากถ้าไม่จัดการให้จบจะเป็นเรื่องใหญ่ วันนี้เปิดเมืองแล้ว แต่พวกไม่จำเป็นต้องออกจากบ้าน อย่างชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ไม่จำเป็นไม่ต้องออกมา ถ้าขาดแคลนอะไร จะเอาไปส่งถึงหมู่บ้าน พวกที่จำเป็นก็ออกมา แต่ให้ใส่หน้ากากป้องกันตัวเองให้ดี ที่อู่ฮั่นร้ายแรงที่สุด ร้านค้าจำเป็นต้องเปิดก็เปิด เพราะถ้าปิดเศรษฐกิจจะเสียหาย แต่ผมเชื่อว่าจีนมียาแล้ว และตอนนี้นายกฯ ไปขอซื้อได้แล้ว จีนกับญี่ปุ่นขายให้เราได้ทั้งสองประเทศ คนของผมที่อู่ฮั่นป่วย 13 คน จากสามหมี่นคน เมืองอื่นอีกแสนกว่าคน ไม่ป่วยเลย แต่ 13 คนตอนนี้หายหมดแล้ว

“ในยามวิกฤตต้องคิดว่าเมื่อสว่างแล้วจะทำยังไง ตอนที่สว่างราบรื่น ก็มาคิดว่าวิกฤตมาจะทำยังไง ผมทำอะไรสำเร็จดีใจวันเดียว เพราะวิกฤตมาได้ทุกวัน เราเตรียมพร้อมหรือยัง”นายธนินท์ กล่าว

นายธนินท์ กล่าวว่า วันนี้ต้องมาคิดแล้ว ถ้าฟื้นกลับมาเราจะทำยังไง เราจะปกป้องก็ปกป้องไป แต่ในเวลาเดียวกัน ถ้าฟื้นกลับมา เราจะรับมือยังไง วันนี้อัมพาตไปหมด ถ้าฟื้น มียารักษา เปิดประเทศแล้ว ให้พนักงานมาทำงานได้ตามปกติแล้ว วันนี้ต้องมาถึงแน่นอน ถ้าไม่มาถึงยิ่งกว่าสงครามโลกครั้งที่สองอีก ดังนั้นต้องเตรียมพร้อมหลังวิกฤตจะทำยังไง จะมีอุปกรณ์ พนักงาน พร้อมไหม อย่างร้านอาหาร มีครัว อุปกรณ์ พนักงาน กุ๊ก คนออกมาไม่ได้ ก็ไปส่งให้เขาถึงบ้าน ให้พนักงานที่อยู่ว่าง ๆ ไปส่งถึงบ้าน ถ้าเขาต้องการของใช้อย่างอื่น ก็เอาไปให้ด้วย เราช่วยได้ก็ช่วย

 

ธนินท์ เจียรวนนท์

“แนะนำรัฐบาลว่า วิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่ความผิดของใคร ไม่ได้เกิดจากธุรกิจเล็ก กลาง ใหญ่ บริหารไม่ดี แต่เป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทุกประเทศเป็นแบบนี้ ดังนั้น รัฐบาลต้องช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด เพราะหลายธุรกิจมีอนาคต ธุรกิจไม่ว่าเล็ก กลาง ใหญ่ ก็เหมือนแม่ไก่ ที่ออกไข่มาเป็นภาษี กลับมาพัฒนาประเทศ หากธุรกิจอยู่ไม่รอด หลังวิกฤต กว่าจะสร้างธุรกิจเล็ก กลาง ใหญ่ ขึ้นมาได้ใหม่ อาจต้องใช้เวลามาก ว่าจะกลับมาเหมือนเดิมได้”

นายธนินท์ ยกตัวอย่าง รัฐบาลอังกฤษจ่ายเงินเดือนให้พนักงานทุกคน 80% เจ้าของโรงแรมไม่ต้องจ่าย เพื่อรักษาธุรกิจไว้ แต่ห้ามไล่พนักงานออก เมื่อภาวะปกติ โรงแรมค่อยไปรับผิดชอบภาระเงินเดือนพนักงาน เมืองไทยในยามวิกฤต รัฐบาลก็ควรจะช่วยจ่ายหรือแบ่งเบา ไม่ให้ธุรกิจที่ถูกผลกระทบ ไล่พนักงานออก รัฐบาลมีเงินเก็บไว้เพื่อความมั่นคงทางการเงิน ต้องเก็บไว้อย่างพอดี ในยามวิกฤตอย่างนี้เก็บไว้โดยไม่เอาออกมากู้วิกฤต อาจจะทำให้เสียหายมากกว่านี้ เมื่อเศรษฐกิจกระทบเป็นลูกโซ่ไปแล้ว เกิดเป็นภาระหนี้เสีย กระทบถึงภาคการเงิน ถึงตอนนั้นอาจเสียเงินมากกว่า ประเทศอาจล้มละลายได้

ธนินท์ เจียรวนนท์

“ดังนั้น ความคิดเห็นส่วนตัว คือ วันนี้รัฐบาลอาจต้องเตรียมพร้อม วันหน้าถ้าทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ ถ้าธุรกิจเล็ก กลาง ใหญ่ ยังอยู่ เช่น หากรักษาธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ ปีหนึ่งมีคนมาเที่ยวเมืองไทย สี่แสนล้านบาท สร้างงาน เงินไหลเข้าประเทศ รัฐบาลควรปกป้องธุรกิจที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว เพราะเป็นแหล่งจ้างงานบริการให้คนหลายแสนคน อย่าให้โรงแรม ไกด์ ทัวร์ รถยนต์เสียหาย ต้องให้เขาอยู่รอด รัฐบาลต้องเตรียมพร้อม ถ้าของเราปลอดภัยแล้ว จะมีหลักการอะไรดี ๆ ให้คนกล้ามาเที่ยวเมืองไทยเป็นที่แรก ถ้าทำได้อย่างนี้ เงินเข้าประเทศไม่ใช่แค่สี่แสนล้าน ลงไปชักชวนให้เขามาเที่ยวเมืองไทย ใครรับผิดชอบท่องเที่ยวให้ทำแผนมา ตรงไหนไม่ดีก็ไปแก้ ไปสัมผัสคนมาเที่ยวเมืองไทยครั้งแรก ไปชักชวนปกป้องเขา อันนี้ต้องเตรียมตั้งแต่ตอนนี้ เพราะมีความพร้อม เมื่อหลังวิกฤต”นายธนินท์ กล่าว

นายธนินท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ วัฒนธรรมคนไทยยอดเยี่ยมมาก ทั่วโลกอยากมาเที่ยว ต้องให้เขามั่นใจว่ามาเที่ยวเมืองไทยแล้วติด ต้องมีวิธีจะทำยังไง ปกป้องยังไง มาพักผ่อนในโรงแรมไม่ต้องออกไปข้างนอก มีสระว่ายน้ำ อาหาร มีหมอมาช่วยดูแล ให้เขาเชื่อมั่น จะได้เหมาเครื่องบินมาทั้งลำ มั่นใจ ปลอดภัย ไม่มีโรค วันนี้รัฐบาลอาจต้องคิดว่า ถ้าฟื้นแล้ว เงินที่จะเข้าประเทศที่เร็วสุดมากจากอุตสาหกรรมใด ท่องเที่ยว อาจเป็นตัวที่เร็วที่สุด หรือบริษัทที่ต้องส่งของออกไปขายต่างประเทศเขาขาดแคลนอะไร พอฟื้นวิกฤตโรคระบาดเมื่อไร ทำอย่างไรให้เขากลับมาทำธุรกิจได้เร็วที่สุด และธุรกิจจะยังเหมือนเดิมหรือไม่ พฤติกรรมคนเปลี่ยนไปหรือไม่ ในโลกนี้ของขาดแคลนเยอะเลย ตอนแรกกลั้นหายใจไว้ ประหยัดไว้ จะซื้อก็ไม่มีของขาย พอถึงตรงนั้น พ้นวิกฤต คนจะออกมาจับจ่าย ประเทศไทยต้องเตรียมส่งออกอะไร ที่ทุกประเทศขาด ระวางเรือ container มีพร้อมหรือยัง สินค้ามีไหม วัตถุดิบมีไหม

“รัฐบาลยังมีงานต้องทำอีกเยอะ ถือโอกาสนี้ปรับฐานการแข่งขันประเทศ อะไรที่ขาดประสิทธิภาพ ถือโอกาสนี้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทีมงานส่วนหนึ่งอาจไปดูแลเรื่องโควิด-19 เรื่องสุขภาพ ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข จึงจะรู้จริง แต่อีกส่วนหนึ่งต้องรักษาเศรษฐกิจของประเทศให้รอดไปได้ ต้องไปดูท่องเที่ยว พาณิชย์ วันนี้ประเทศใดเตรียมพร้อมก่อน จะได้เปรียบ สินค้าบริโภคในประเทศอะไรจะขาด ก็ต้องเตรียม อะไรขายต่างประเทศได้ ก็ต้องเตรียมพร้อม”นายธนินท์ กล่าว

นายธนินท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับเกษตรกร เงินที่จะสะพัดในสังคมเร็วที่สุดคือเกษตรกร คนยากจน ในความเห็นผมเมืองไทยไม่ควรมีคนยากจน เพราะประเทศไทยมีพร้อมทุกอย่าง อยู่ที่การบริหารจัดการ ต้องดูว่าอะไรที่เรายังไม่เจริญก้าวหน้า ต้องดูประเทศที่เจริญแล้วอย่างสิงคโปร์เขาทำยังไง ประเทศนิดเดียว แต่ร่ำรวยมาก หรือจีนช่วยเหลือคนยากจนยังไง ไม่ใช่ใช้ระบบคอมมิวนิสต์นะ แต่ดูว่าใช้ระบบเศรษฐกิจยังไง ดังนั้น ประเทศไทยเรามีพร้อมกว่าในหลาย ๆ ด้าน แค่นำข้อดีของแต่ละประเทศมาปรับใช้

“ผมยังมั่นใจในประเทศไทย เพราะวัฒนธรรมของประเทศไทยดีที่สุดในโลก และผมยังเชื่อมั่นว่า ถ้ารัฐบาลบริหารให้ดี ๆ ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก เพราะประเทศไทยอยู่ศูนย์กลางของ 3,000 กว่าล้านคน ซึ่งกำลังเติบโต เศรษฐกิจกำลังขยาย กำลังซื้อมหาศาล มีที่ไหนที่จุดศูนย์กลาง 3,000 กว่าล้านคนในโลกนี้บ้าง เราใกล้อินเดีย จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อาเซียน 10 ประเทศ 600 กว่าล้านคน เราเป็นจุดศูนย์กลางอยู่แล้ว จีน 1,400 กว่าล้านคน อินเดีย 1,200 ล้านคน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย รวม ๆ กันแล้ว 3,000 กว่าล้านคน กำลังเติบโต ยุโรป 400 กว่าล้านคน อเมริกา 300 กว่าล้านคน ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้เป็นศูนย์กลางการค้าขาย แหล่งกระจายสินค้าระดับโลก ต้องกล้าคิดใหญ่ ต้องสร้างคน ถ้าคนเราไม่พอ ก็เอาคนเก่ง มีความรู้เข้ามาก่อน เอาคนเก่ง ๆ มาช่วยสร้างเศรษฐกิจเรา มาช่วยสร้างให้คนไทยเก่งขึ้นอีก ยกระดับคนไทย จะเสียหายอะไร เรามีแต่ได้กับได้ เราต้องมาช่วยกันสร้างประเทศไทย นำเงินลงทุน และเทคโนโลยีมาสู่ประเทศไทย”นายธนินท์ กล่าว และว่า จริง ๆ คนไทยต้องรวยที่สุด รวยกว่าสิงคโปร์อีก เราต้องอย่าคิดว่าเราเก่งแล้ว รู้แล้ว คิดว่าเราเก่งที่สุด ดูประเทศอื่น เขาดีเขาเก่งอะไร แล้วเอาของเขามาใช้ ผมคิดอย่างนี้ ใครเก่ง ใครทำดี ผมยกย่องเขา แล้วผมทำให้ดีกว่า เราเห็นเขาเก่ง ถ้าเราเก่งจริง เราต้องต่อยอดให้ได้

“อย่างไรก็ตาม ในฐานะภาคเอกชน เราก็คงทำหน้าที่ของเรา ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงส่วนน้อย แต่คนไทยทุกคนก็มีหน้าที่ในการดูแลตนเอง ยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ต้องไม่ออกจากบ้าน ไม่ไปแพร่เชื้อ ถือเป็นความรับผิดชอบ ในส่วนของซีพีเอง ก็ถือเป็นหน้าที่ แต่ละหน่วยงานภายในเครือซีพี ต้องไปคิดว่า จะทำอะไรเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม ซีพีเอฟ ก็มีการนำอาหารไปให้ครอบครัวหมอที่ถือว่าเสียสละช่วยโควิดกว่า 200 ล้านบาท ทางเซเว่นฯ ก็ทำอาหารกล่อง 20 บาท เพื่อลดภาระผู้บริโภค และมอบชุด PPE ให้กับหมอ อีก 77 โรงพยาบาล 77 ล้านบาท ทางทรูก็คิดระบบที่ทำให้นักเรียนเรียนทางไกลผ่านระบบทางไกลของทรูฟรี ไม่คิดค่าอินเทอร์เนต ให้คนเข้าถึงข้อมูล ทำงานได้สะดวก ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ในการทำให้ประเทศชาติ ประชาชนได้ประโยชน์เป็นหลัก” นายธนินท์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง