รีเซต

คลังยันรัฐบาลมีเงินพอรับมือโควิด เตรียมลุยกู้เต็มเพดาน1ล้านล.

คลังยันรัฐบาลมีเงินพอรับมือโควิด เตรียมลุยกู้เต็มเพดาน1ล้านล.
มติชน
26 มกราคม 2564 ( 09:35 )
52

วันที่ 26 มกราคม นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงแผนการกู้เงินในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ว่า ในปี 2563 มีการกู้ไปประมาร 30% ของ พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ส่วนในแผนการกู้ของปี 2564 ได้กู้ส่วนที่เหลือทั้งหมดใน พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท มาเตรียมให้รัฐบาลนำไปใช้จ่ายสำหรับการแก้ไขผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

 

สำหรับเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ข้อมูล ณ วันที่ 22 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินไปแล้ว 711,607 ล้านบาท สบน.กู้ไปแล้วทั้งสิ้น 393,761 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ครม.อนุมัติกรอบแล้ว 19,698 ล้านบาท สบน.ได้มีการเบิกไปแล้ว 1,561 ล้านบาท

 

นางแพตริเซีย กล่าวว่า 2.แผนงานเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ครม.อนุมัติกรอบแล้ว 558,753 ล้านบาท โอนมาจากแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 10,000 ล้านบาท โดยเบิกแล้ว 322,819 ล้านบาท และ 3.แผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ครม.อนุมัติกรอบ 133,159 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 48,998 ล้านบาท
นางแพตริเซีย กล่าวว่า ในส่วนของโครงการเราชนะ สบน.ได้ทำการเบิกจ่ายและเตรียมเงินไว้สำหรับการใช้จ่ายในโครงการเราชนะแล้ว ซึ่งใช้เงินจากส่วนของแผนการช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ จำนวน 2.1 แสนล้านบาท โดยสบน.จะกู้ในช่วง เดือนมกราคม – เดือนกุมภาพันธ์ 2564 แบ่งเป็น จากการออกตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว พันธบัตรออมทรัพย์ และเงินกู้ จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี)

 

นางแพตริเซีย กล่าวว่า หนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) คิดเป็น 56 % ในปี 2564 เป็นการคำนวณจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะปรับตัวลดลง ประมาณ 1% จากคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 จะขยายตัวเป็นบวก ปรับตัวลดลงเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

 

นางแพตริเซีย กล่าวถึงเงินของรัฐบาลสำหรับการดูแลในเรื่องโควิด-19 ว่า ขณะนี้รัฐบาลยังมีเงินเพียงพอโดยใน ส่วนของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ใช้ไปแล้วประมาณ 4 แสนล้านบาท และเพิ่มส่วนของที่ใช้ในโครงการเราชนะ 2 แสนล้านบาท เป็น 6 แสนล้านบาท จึงเหลืออีก 4 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังไม่รวมงบประมาณกลาง เพราะฉะนั้น เงินของรัฐบาลยังมีอยู่เยอะ ขึ้นอยู่กับการบริหารการใช้เงินของรัฐบาลว่าต้องการจะใช้เงินก้อนไหน ถ้าใช้เงินกู้ สบน.ก็มีให้ 4 แสนล้าน แต่จะใช้แบบไหนนั้น ถ้าเป็นการใช้ในแผนเยียวยา ก็ต้องทำการโอนกรอบแผนเงินจากฟื้นฟูมาใช้ในแผนเยียวยา ส่วนถ้าใช้ในแผนพื้นฟู เพราะคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะหยุดลง ก็ใช้กรอบในแผนฟื้นฟู ดังนั้นจึงเร็วเกินไปสำหรับการตอบว่าจะต้องทำอะไรในตอนนี้ แต่บอกได้ว่ารัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับการใช้ในแผนงานเกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์โควิด-19

 

แหล่งที่มาของเงินในแผนการบริหารจัดการหนี้ ปี 2564 จำนวน 2.3 ล้านล้านบาทนั้น ประกอบด้วย พันธบัตรรัฐบาล ประมาณ 8.01 แสนล้านบาท คิดเป็น 36% ตั๋วเงินคลัง (treasury bill) 6 เดือน ประมาณ 5.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 22 % สัญญาใช้เงินระยะสั้น ประมาณ 8.22 แสนล้านบาท คิดเป็น 35% พันธบัตรออมทรัพย์ ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท คิดเป็น 5% และ จากสัญญาเงินกู้ จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) 46,500 ล้านบาท คิดเป็น 2 % ของเงินในแผนบริหารจัดการหนี้

 

เรื่องที่กังวลว่าหนี้สาธารณะของประเทศนั้นเพิ่มขึ้นสูง ว่า ขณะนี้สถานการณ์มันไม่ปกติ และมี พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเพื่อใช้แก้ไขสถานการณ์โควิด-19 แต่เมื่อเทียบกับสถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศอื่นๆนั้น มีหลายที่พุ่งขึ้นสูงกว่าประเทศไทยเยอะมาก จนบ้างคนมองว่าไทยสามารถบริหารหนี้สาธารณะได้ดีมาก และ หนี้สาธารณะ 50% นั้น แบ่งเป็น หนี้สาธารณะที่เป็นภาระของรัฐบาล 40 % และ เป็นส่วนของรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินที่รัฐค้ำประกันอีก 10 %

 

นางแพตริเซีย กล่าวว่า ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า มีจำเป็นต้องมี พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเพื่อช่วยจากสถานการณ์โควิด เพราะถ้าไม่มีการกู้เงินเลย ก็จะไม่มีเม็ดเงินมาใช้ในโครงการและมาตรการต่างๆ อาทิ คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน คิดว่าในขณะนี้ไม่ควรคำนึงถึงตัวเลขของหนี้สาธารณะมากนัก เพราะว่าถ้าเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ดี ตัวหารก็จะขยาย และสัดส่วนของหนี้สาธารณะก็จะลงมาเอง เพราะฉะนั้น หนี้จำเป็นต้องมี เนื่องจากหนี้สาธารณะเป็นเงินที่ใช้ในการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะที่ประเทศไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง