รีเซต

สธ.จ่อจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย 3 กลุ่ม ตามแนวชีวิตวิถีใหม่

สธ.จ่อจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย 3 กลุ่ม ตามแนวชีวิตวิถีใหม่
มติชน
12 มิถุนายน 2563 ( 16:00 )
120
สธ.จ่อจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย 3 กลุ่ม ตามแนวชีวิตวิถีใหม่

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย นพ.สาธิต สันตดุสิต ผู้อำนวยการสถาบันสิริธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ แถลงถึงการให้บริการการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แก่ผู้ป่วย ในช่วงของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

 

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์โรคโควิด-19 เริ่มดีขึ้น จึงปรับรูปแบบการให้บริการด้านสาธารณสุขรูปแบบใหม่ รวมถึงบริการการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ด้วยโดยเฉพาะ 3 กลุ่มสำคัญ คือ 1.กลุ่มโรคสำคัญคือหลอดเลือดสมองตีบ หรือแตก สมองบาดเจ็บ ไขสันหลังบาดเจ็บซึ่งกระทบอาจจะทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ 2.กลุ่มผู้พิการที่ต้องได้รับเครื่องช่วยพิการเพื่อช่วยการดำรงชีวิตประจำวัน และ 3.กลุ่มผู้สูงอายุ

 

“สธ.ได้เน้นย้ำ 7 มาตรการฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วย คือ มาตรการที่ 1 คัดกรองก่อนมาถึงสถานพยาบาล ถ้าเสี่ยงต้องรับการตรวจเชื้อก่อน ถ้าไม่เสี่ยงสามารถไปโรงพยาบาล (รพ.) ได้ เมื่อมาถึงก็ต้องคัดกรองอีกครั้ง มาตรการที่ 2 จัดลำดับ จำแนกประเภทผู้ป่วย คือ 1.กลุ่มที่ต้องได้รับการฟื้นฟูที่สถานพยาบาล โรคหลอดเลือดสมอง ช่วงการฟื้นฟูที่ดีที่สุดตั้งแต่เริ่มป่วย 6 เดือนแรก เพราะ กล้ามเนื้อ เส้นประสาทที่เสียไปสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ดี และที่ต้องได้รับบริการเร่งด่วน อาทิ ปวดรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อน กลุ่มเหล่านี้ต้องเข้ารับมาที่ รพ.ก่อน 2.กลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องมาสถานพยาบาล อาทิ ผู้สูงอายุ โรคกระดูกและกล้ามเนื้อที่อาการไม่เปลี่ยนแปลง” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

 

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า มาตรการที่ 3 เมื่อผ่านการคัดกรองแล้ว แม้ว่าไม่มีความเสี่ยง แต่มีบางหัตถการที่ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นพาหะแพร่เชื้อโดยไม่มีอาการ คือผู้ป่วยที่ต้องฝึกการกลืน ฝึกการพูด เคาะฟังปอด ดังนั้นกลุ่มนี้จะต้องส่งตรวจก่อน เพื่อสร้างความปลอดภัยทั้ง 2 ฝ่าย มาตรการที่ 4 จัดการฟื้นฟูแบบมีระยะห่าง 1-2 เมตร หรืออาจจะฟื้นฟูในที่โล่ง ระบายอากาศได้ดีนอกอาคาร การทำความสะอาด ล้างเครื่องมือเป็นระยะ นัดหมายล่วงหน้า มาตรการที่ 6 จัดระบบการฟื้นฟูทางไกล ในรายที่มีอาการคงที่ ไม่อันตรายแล้ว และแพทย์พิจารณาแล้วว่าญาติสามารถฝึกทำการฟื้นฟูได้ แต่ก็ให้เปิดช่องทางเฉพาะสำหรับให้ประชาชนปรึกษาเรื่องการฟื้นฟูสุขภาพได้ อาจจะเป็นเบอร์หมอครอบครัว รวมถึงการส่งยาทางไปรษณีย์ และ 7.สร้างระบบส่งต่อผู้ป่วยที่จำเป็นในเครือข่าย ทั้ง 7 มาตรการนี้ รพ.จะค่อยๆ ทยอยทำตามศักยภาพของตัวเอง

 

ด้าน นพ.สาธิต กล่าวว่า ในช่วงระบาดโควิด -19 ทำให้สถาบันสิรินธรต้องปิดบริการบางอย่างที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ อาทิ ธาราบำบัด และการฝึกการกลืน เป็นต้น ทำให้มีคนไข้บางส่วนยังการมาพบแพทย์ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย สถาบันฯ จึงเริ่มเปิดให้บริการฟื้นฟูเกือบจะเต็มรูปแบบแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยยังคงมาตรการควบคุมโรคเข้มข้น คือต้องทำการนัดหมายล่วงหน้าผ่านการโทรศัพท์ หรือ คิวอาร์โค้ด ที่เว็บไซต์สถาบันฯ รวมถึงนัดหมายแอดมิทในกลุ่มคนไข้ที่ต้องฟื้นฟูเร่งด่วน มีการลดจำนวนเตียงจาก 60 เตียง เหลือ 48 เตียง เพื่อเว้นระยะห่างได้ ส่วนการทำกิจกรรมฟื้นฟู การทำกายภาพจะจัดเตียงเว้นเตียง และทำความสะอาดฆ่าเชื้อรองรับคนป่วยที่มารับการฟื้นฟูในรอบต่อไป

“ส่วนคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องมาฟื้นฟูที่สถาบันฯ ก็มีการทำวิดีโอสอนการฟื้นฟูที่บ้าน และมีระบบวิดีโอคอลเพื่อติดตามผลเป็นระยะๆ สำหรับการดูแลผู้พิการก็ได้จัดเครือข่ายกระจายอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ โดยในภาคเหนืออยู่ที่ รพ.เวชชารักษ์ จ.ลำบาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ รพ.ศรีสะเกษ ภาคกลางอยู่ที่ รพ.เมตตาประชารักษ์ วัดไร่ขิง ส่วนภาคใต้อยู่ที่ รพ.นครศรีธรรมราช และกำลังดำเนินการที่ รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และรพ.ยะลา” นพ.สาธิต กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง