รีเซต

สธ.โชว์ข้อมูลโควิด-19 ไทยดีต่อเนื่อง ฉีดวัคซีนแล้ว 33,621 โดส ย้ำ! ยังต้องสวมหน้ากาก

สธ.โชว์ข้อมูลโควิด-19 ไทยดีต่อเนื่อง ฉีดวัคซีนแล้ว 33,621 โดส ย้ำ! ยังต้องสวมหน้ากาก
มติชน
10 มีนาคม 2564 ( 15:55 )
40

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ในวันนี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สองหลัก คือ 39 ราย โดยระหว่างวันที่ 4-10 มีนาคม พบผู้ติดเชื้อในจำนวนน้อยต่อเนื่อง

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า แผนที่ประเทศไทย สีขาว จังหวัดที่ไม่เคยพบผู้ติดเชื้อมาก่อนมี 14 จังหวัด สีเขียว พบผู้ติดเชื้อรายล่าสุดมากกว่า 7 วัน มี 52 จังหวัด สีเหลือง พบผู้ติดเชื้อรายล่าสุดใน 7 วัน มี 1 จังหวัด สีส้มพบผู้ติดเชื้อรายล่าสุดใน 5 วัน มี 1 จังหวัด และ สีแดง พบผู้ติดเชื้อในช่อง 3 วันที่ผ่านมา มี 9 จังหวัด

 

“ใน จ.ปทุมธานี ที่พบผู้ติดเชื้อกลุ่มก้อนแรกในตลาด หลังจากนั้น พบอีก 1 ก้อน คือ ผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงชำแหละเนื้อสุกร โดยรายสุดท้ายที่พบคือเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้นก็ไม่มีรายที่เกี่ยวข้องเพิ่มอีก ทั้งนี้ทางพื้นที่ได้ดำเนินการจัดมาตรการต่างๆ ทำให้สิ่งแวดล้อมลดความแออัด เช่น ตลาด และมีมาตรการเสริมในการออกใบรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากว่ามีอาการหรือข้อสงสัยทางพื้นที่ก็พร้อมจะเข้าไปดูแล” นพ.เฉวตสรร กล่าว

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ข้อมูลสถานกักกันโรคในประเทศไทย มีผู้เดินทางทั้งหมด 256,705 ราย จาก 99 ประเทศ จำนวนประเทศที่ตรวจพบเชื้อ 85 ประเทศ ในจำนวน 2,262 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.8 ซึ่งหากแบ่งตามประเภทของสถานกักกันโรค ได้แก่ สถานการณ์โรคที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) มีผู้เดินทาง 116,501 ราย ติดเชื้อ 1,208 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.04 สถานการณ์โรคท้องถิ่นของรัฐ (Local Quarantine) 40,130 ราย ติดเชื้อ 184 ราย ร้อยละ 0.47 สถานกักกันโรคทางเลือก (Alternative State Quarantine) 90,253 ราย ติดเชื้อ 165 ราย ร้อยละ 0.81 สถานการณ์โลกทางเลือกท้องถิ่น (Alternative State Local Quarantine) 750 ราย ติดเชื้อ 16 ราย ร้อยละ 6.13 สถานกักกันโรคทางเลือกในสถานพยาบาล (Alternative Hospital Quarantine) 4,220 ราย ติดเชื้อ 7 ราย ร้อยละ 1.54 และสถานกักกันโรคของหน่วยงาน (Organization Quarantine) 4,851 ราย ติดเชื้อ 2 ราย ร้อยละ 0.41 ขณะที่ มาตราการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวใน จ.ตาก รวม 3,763 ราย ในจำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อ 6 ราย และรอผลตรวจอีก 724 ราย

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า จำนวนผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม จำนวน 3,721 ราย และสะสมตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ – วันที่ 9 มีนาคม จำนวน 33,621 ราย โดยพบผู้ที่มีอาการข้างเคียง 2,984 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.8 แต่เมื่อเทียบกับผลการศึกษาวิจัยวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 2 พบว่ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งสูงถึงร้อยละ 30 ดังนั้น ตัวเลขจากระบบรายงานดูเหมือนสูง แต่เป็นอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง สามารถหายได้เองไม่ต้องการรักษา ไม่ต้องเข้านอนโรงพยาบาล

 

“ทั้งนี้ กลุ่มผู้ได้รับวัคซีนมากที่สุดคือ บุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร้อยละ 85 รองมาคือ เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อร้อยละ 13 ส่วนบุคคลที่มีโรคประจำตัวร้อยละ 1 และ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงร้อยละ 1” นพ.เฉวตสรร กล่าว

 

ส่วนกรณีที่ศูนย์ควบคุมโรค (ซีดีซี) ประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เดือนแล้ว สามารถพบปะกับคนอื่นได้โดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า เป็นนโยบายของแต่ละประเทศที่ต่างกันตามหลักฐานทางวิชาการ ทำให้การปฏิบัติแตกต่างกัน จะทำให้มีข้อด้อยอย่างหนึ่งคือ การระบุว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย แต่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าคนไหนได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว ซึ่งถือเป็นความเสี่ยง ดังนั้น ประเทศส่วนใหญ่อย่างระมัดระวังในเรื่องนี้ โดยองค์การอนามัยโลก ระบุว่า แม้ได้รับวัคซีนครบแล้ว แต่ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือต่อเนื่อง

 

“เนื่องจากต้องใช้เวลาเพิ่มภูมิคุ้มกันของคนจำนวนมากในเปอร์เซ็นต์ที่สูง รวมถึงโรคนี้สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ และที่สำคัญคือ ผลของวัคซีนป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันการป่วยหนัก ส่วนป้องกันการแพร่เชื้อต้องติดตามผลหลังจากฉีดไปแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งประเทศไทยจะใช้วิธีการป้องกันอย่างระมัดระวัง วัคซีนเป็นเพียงมาตรการเสริม อย่าเพิ่งหย่อนการ์ด” นพ.เฉวตสรร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง