รีเซต

สธ.เปิด 3 ฉากทัศน์ รับมือโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ เริ่มตุลาฯนี้

สธ.เปิด 3 ฉากทัศน์ รับมือโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ เริ่มตุลาฯนี้
มติชน
7 ตุลาคม 2563 ( 15:51 )
148
สธ.เปิด 3 ฉากทัศน์ รับมือโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ เริ่มตุลาฯนี้
สธ.เปิด 3 ฉากทัศน์ รับมือโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ เริ่มตุลาฯนี้ ยันไม่เกิดเป็นกลุ่มก้อนถ้าสวมหน้ากาก

 

วันนี้ (7 ตุลาคม 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. พร้อมด้วยอธิบดีจากทุกกรม แถลงถึงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขในการรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในระยะถัดไป

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า 9 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรควิด-19 ได้ดีมาก และต่างประเทศให้เกียรติว่า ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคได้เป็นอันดับที่ 1 แต่ด้านหนึ่งพบว่า เศรษฐกิจของประเทศก็ถดถอยค่อนข้างสูงเช่นกัน แต่จากที่ได้ศึกษาและทบทวบเกี่ยวกับโรคจนมีองค์ความรู้ในการต่อสู้โควิด-19 ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทำให้ประเทศไทยมีการติดเชื้อสะสมเพียง 3,615 ราย ในขณะที่ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อกว่า 36 ล้านราย ทั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของประชาชนในการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง และใช้แอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ”

 

“เพื่อความสมดุลของเศรษฐกิจและสุขภาพ เราจะต้องแง้มประตูประเทศเล็กๆ เพื่อการค้าขาย การท่องเที่ยว แต่จะต้องมีมาตรการสาธารณสุขต่างในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ร่วมถึงป้องกันการระบาดจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น สธ.จะต้องพัฒนาการดูแลประชาชนและซักซ้อมป้องกันการเข้าเมืองผิดกฎหมาย” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

 

ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ.ได้จัดทำฉากทัศน์ของการระบาดรอบถัดไป ซึ่งจะต่างจากการระบาดรอบแรกโดยสิ้นเชิง และจะไม่มีลักษณะของการระบาดใหญ่ เพราะมีมาตรการทางสังคม มาตรการสาธารณสุข และมาตรการส่วนบุคคล พร้อมทั้งประชาชนให้ความร่วมมือสวมหน้ากาก ซึ่งเปรียบเหมือนวัคซีนประจำวันและที่ผ่านมาสามารถป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ฉากทัศน์ที่ 1 การระบาดจากการนำเชื้อมาจากต่างประเทศ ยอดผู้ป่วยจะเป็นยอดเล็ก ๆ มีผู้ติดเชื้อประมาณ 1-2 ราย และระบบสาธารณสุขเข้าไปควบคุมไม่เกิดการแพร่กระจาย มาตรการของประชาชนคือ ต้องสวมหน้ากากอนามัยร้อยละ 85-90 ขึ้นไป เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ล้างมือ พร้อมทั้งสังเกตอาการป่วยของตนเอง

 

ฉากทัศน์ที่ 2 เมื่อมีการรายงานผู้ติดเชื้อ จะมีการระบาดเล็กๆ ราว 10-20 ราย และระบบสาธารณสุขจะสามารถควบคุมได้ภายใน 3-4 สัปดาห์ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่เข้มงวดขึ้น

 

ฉากทัศน์ที่ 3 เป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิด แต่หากประชาชนร่วมมือในการป้องกันโรคได้ดี ฉากทัศน์นี้ก็จะไม่เกิดขึ้น เป็นการติดเชื้อในลักษณะกลุ่มก้อน ติดเชื้อกลุ่มคนจำนวนมาก อย่างเช่นตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย คือ สนามมวย มีการติดเชื้อราว 100-200 ราย ในฉากทัศน์นี้ประชาชนจะต้องให้ความร่วมมืออย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ประกอบการ เพราะการติดเชื้อในลักษณะนี้มักจะเกิดในสถานประกอบเป็นหลัก

 

“พักหลังเราสวมหน้ากากอนามัยต่ำกว่าร้อยละ 80 แต่ก็สามารถป้องกันโรคได้ อย่างไรก็ตาม สธ.อยากให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยให้ได้ร้อยละ 85-90 ขึ้นไป พร้อมทั้งหมั่นล้างมือ เว้นระยะห่างระหว่างกัน และผู้ที่มีอาการป่วย ไอ ไข้ เจ็บคอ จมูกไม่รับกลิ่น ลิ้นไม่รับรส จะต้องรีบไปพบแพทย์ทันที และจะต้องเข้มงวดในการเช็กอินในแอพพลิเคชั่นไทยชนะต่อไป” ปลัด สธ.กล่าว

 

 

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้จัดทำมาตรการรองรับการระบาดในระยะต่อไป โดยอิงตาม 3 ฉากทัศน์ข้างต้น ซึ่งจะพบว่าทั่วโลกมีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว เฉลี่ย 1 ล้านราย ใน 4 วัน ขณะที่ประเทศไทยในระยะหลังพบผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ การดำเนินการเพื่อให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติให้เร็วที่สุด และสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ และสุขภาพ โดยต้องลดความเสี่ยงโควิด-19 มาตรการสำคัญ 4 อย่าง คือ 1.การป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม 2.ตรวจจับสัญญาณการระบาด เพื่อควบคุมอย่างรวดเร็ว 3.การดูแลรักษา และ 4.การให้ข้อมูล สื่อสารกับประชาชน

 

“ระยะหลังประชาชนให้ความร่วมมือ และไว้วางใจใน สธ. เช่น ช่วงแรกอาจจะมีข้อสงสัยว่า สธ.ปกปิดข้อมูลหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าในระยะ 5 เดือนมานี้ แทบไม่มีคำถาม และรัฐมนตรีว่าการ สธ.ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยกำชับว่าเมื่อรู้อะไรต้องบอกประชาชนให้หมด” นพ.โอภาส กล่าว

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า แผนการจัดการสถานการณ์ในระยะต่อไปมี 3 ส่วน ได้แก่ 1.การป้องกัน รณรงค์ จัดการสถานกักกันโรค (Quarantine) ป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ประเทศ 2.วางระบบเฝ้าระวังและตรวจหาผู้ป่วยอย่างรวดเร็วในหลายระดับ และ 3.ควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรง ด้วยการสอบสวนโรคทันทีเมื่อมีสัญญาณติดเชื้อ โดยเฉพาะการสร้างหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรค ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้มีทีมสอบสวนโรครวม 1,000 ทีม และจะต้องเพิ่มให้มากขึ้นถึง 3 เท่า ดังนั้นการเพิ่มศักยภาพจังหวัดในการจัดการกับโควิด-19 ได้แก่ 1.การเตรียมพร้อม มีระบบบัญชาการเหตุการณ์ระดับประเทศ กระทรวง จังหวัด และระดับเขต สร้างทีมสอบสวนโรคอีก 3 เท่า จัดการระบบสถานกักกันโรคให้ได้มาตรฐาน 2.เร่งรัดมาตรการที่ด่านควบคุมโรคบริเวณชายแดน ที่ยึดหลักอยู่ 2 แห่ง คือ ชายแดนเมียนมา และมาเลเซีย 3.เป้าหมาย การเตรียมพร้อมได้ดี หากเกิดการติดเชื้อขึ้น ทุกจังหวัดสามารถควบคุมโรคได้เร็วที่สุดใน 3-4 สัปดาห์ ลดอัตราการเสียชีวิตให้มากที่สุด และ 4.ประชาชนเป็นส่วนสำคัญที่สุด

 

“การเฝ้าระวังจะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1.ด่านป้องกันโรคทั้งอากาศ เรือ บก 2.โรงพยาบาล ทั้งเอกชนและรัฐบาล และ 3.เฝ้าระวังในชุมชนและสถานที่เสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าว ผับบาร์ ส่วนการเฝ้าระวังในกลุ่มต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยโรคปอดบวม ในสถานที่มีความเปราะบาง อาทิ ผู้ต้องขัง พื้นที่ชายแดน กิจกรรมที่มีการรวมตัวคนจำนวนมาก การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน ก็จะทำดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การจัดตั้งสถานกักกันโรคในทุกจังหวัด ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยควบคุมการระบาดในช่วงที่ผ่านมาได้ และสุดท้ายการเตรียมความพร้อมทั้งส่วนกลางและจังหวัด ระยะต่อไปต้องซักซ้อมแผนฉากทัศน์ต่าง ๆ ทั้ง 3 ฉากทัศน์ ซึ่งจะดำเนินการในเดือนตุลาคมเป็นต้นไป” นพ.โอภาส กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง