รีเซต

‘บล.เอเชียพลัส’ ประเมินทิศทางหุ้นไทยเดือน ต.ค. 63 ปัจจัยเสี่ยงอื้อ หวั่นการเมืองร้อนทำตลาดผันผวน

‘บล.เอเชียพลัส’ ประเมินทิศทางหุ้นไทยเดือน ต.ค. 63 ปัจจัยเสี่ยงอื้อ หวั่นการเมืองร้อนทำตลาดผันผวน
มติชน
25 กันยายน 2563 ( 09:44 )
86
‘บล.เอเชียพลัส’ ประเมินทิศทางหุ้นไทยเดือน ต.ค. 63 ปัจจัยเสี่ยงอื้อ หวั่นการเมืองร้อนทำตลาดผันผวน

นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชียพลัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ปัจจัยที่ต้องติดตามยังเป็นปัจจัยเดิมที่ตามมาจากเดือนกันยายน ได้แก่ การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะยังเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งในเอเชียและยุโรป อาทิ สเปน ฝรั่งเศษ อังกฤษ อิตาลี โดยเอเชียเห็นภาพผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ อาทิ อินเดีย อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ ที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยในเดือนกันยายน ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุที่ให้น้ำหนักมาจากเห็นภาพการกลับมาล็อกดาวน์ในหลายประเทศ อาทิ สเปน อังกฤษ โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลก (จีดีพี) ติดลบ 4.9% ซึ่งหากมีการล็อกดาวน์รอบใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้โอกาสการฟื้นกลับมาของเศรษฐกิจไม่ได้เร็วอย่างที่คาดการณ์ไว้ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย รวมถึงการค้นพบวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่คาดว่ากรอบความคืบหน้าและใช้งานได้ ยังเป็นปี 2564

 

นายฐกฤต กล่าวว่า อีกประเด็นที่ต้องติดตาม การเห็นจุดสิ้นสุดของการปรับลดประมาณการจีดีพีของทั้งโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย และกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย ที่คาดว่าจะไม่เห็นกาาปรับลดลงมากกว่านี้ โดยเริ่มเห็นหลายสถาบันปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีของปี 2563 เพิ่มขึ้นจากเดิมด้วย อาทิ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่วนของไทยเป็นหอการค้าไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นการปรับขึ้นมา นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการใช้เกณฑ์ชั่วคราว เรื่องราคาเสนอขายชอร์ตสูงกว่าราคาตลาด (Short Sell) และเกณฑ์ราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (ซิลลิ่ง-ฟลอร์) ไม่เกิน 15% ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนนี้ ซึ่งหากกลับมาใช้เกณฑ์ปกติ อาจทำให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้นได้ เพราะหากประเมินจากมูลค่าการซอร์ตเซล ในช่วงก่อนใช้เกณฑ์ชั่วคราว มีมูลค่าอยู่ที่ 3.9 พันล้านบาทต่อวัน แต่เมื่อใช้เกณฑ์ซอร์ตเซลชั่วคราวแล้ว ทำให้มูลค่าการซอร์ตอยู่ที่ 702 ล้านบาทต่อวันเท่านั้น ทำให้หากมีปัจจัยลบที่กระแทกเข้ามา ตลาดหุ้นไทยอาจถูกเทขายได้รุนแรงมากกว่าภาวะปกติ

 

“เรื่องการเมืองในประเทศ ที่คาดว่าจะเห็นการชุมนุมของกลุ่มผู้แสดงออกทางการเมืองอีกหลาย ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้ต้องติดตามการชุมนุมทางการเมืองอย่างใกล้ชิด เพราะหากการเมืองยังไม่นิ่ง จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชน และการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยลดระดับ 1,200 จุด หรือลงลึกแตะระดับ 1,100 จุดหรือไม่นั้น ยังต้องติดตามปัจจัยพื้นฐานที่เป็นความเสี่ยงหลัก ตามที่ให้น้ำหนักไว้ ซึ่งหากความเสี่ยงมีเพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้ดัชนีปรับลดระดับลงได้ ซึ่งปัจจัยการเมืองจะเป็นปัจจัยหลักที่มีน้ำหนักกดดันการปรับขึ้นของดัชนีหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง” นายฐกฤต กล่าว

 

นายฐกฤต กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการเลือกตั้งสหรัฐ ที่เหลือเวลาอีก 34 วัน ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยทั้ง 2 พรรคการเมืองของสหรัฐ จะมีการหาเสียงกับประชาชนมากขึ้นในทุกวัน เริ่มจากสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม พบว่าตลาดหุ้นในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม จะมีความผันผวนมาก และมีโอกาสสูงมากที่ดัชนีจะปรับลดลง แต่ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ตลาดหุ้นจะปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ในเดือนตุลาคม หากพิจารณาจากสถิติในอดีต ก็มักมีความผันผวนมากกว่าปกติอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 เป้าหมายดัชนีหุ้นไทยจะอยู่ที่ระดับ 1,450 จุด ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.50% แต่หากดอกเบี้ยลดลงเหลือ 0.25% ดัชนีหุ้นไทยจะมีเป้าหมายอยู่ที่ระดับ 1,526 จุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง