รีเซต

สาธิตเคลียร์ปมหมอพร้อม ย้ำกลุ่มเสี่ยงชื่อตกหล่น ติดต่อนัดวันฉีดวัคซีนที่ รพ.

สาธิตเคลียร์ปมหมอพร้อม ย้ำกลุ่มเสี่ยงชื่อตกหล่น ติดต่อนัดวันฉีดวัคซีนที่ รพ.
มติชน
3 พฤษภาคม 2564 ( 12:42 )
202

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในรายการ NBT รวมใจสู้ภัยโควิด-19 ประเด็นการลงทะเบียน “หมอพร้อม” จองคิวรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า หมอพร้อม มี 2 เวอร์ชั่น คือ ไลน์บัญชีทางการ และแอพพลิเคชั่น หน้าที่หลัก คือ บันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีน รายละเอียดวัคซีนที่ได้รับ ประเมินอาการไม่พึงประสงค์ นัดวันฉีดเข็มที่ 2 ประเมินอาการหลังฉีดอีกครั้ง ที่สำคัญคือ ออกใบรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ รูปแบบอิเลกทรอนิกส์และคิวอาร์โค้ด ขณะนี้มีผู้ที่สนใจลงทะเบียนหมอพร้อมมาก แสดงให้เห็นถึงความต้องการรับวัคซีนของประชาชน เป็นไปตามนโยบายที่เรารณรงค์ให้คนส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 70 ได้ฉีดวัคซีน แต่ต้องตามความสมัครใจ

 

 

นายสาธิต กล่าวถึงระบบหลังบ้านหมอพร้อมว่า โรงพยาบาล (รพ.) จะเป็นผู้ลงข้อมูลกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีน 2 กลุ่มใน 16 ล้านโดสแรก ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คือ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค และผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ดังนั้น จึงมีข้อมูลในระบบแล้ว แต่การลงทะเบียนก็เพื่อยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมและยืนยันการรับวัคซีน

 

 

“แต่ที่จะพบปัญหาคือ ผู้สูงอายุ หรือ กลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีประวัติการรักษาใน รพ. มาก่อนเลย ทำให้ไม่มีข้อมูลในหมอพร้อมเช่นกัน ดังนั้น รพ.จะมีระบบนำเข้าข้อมูลส่วนตัวกลุ่มเสี่ยง ซึ่งประชาชนสามารถติดต่อเพื่อให้ รพ. นำชื่อเข้าสู่ระบบหมอพร้อม และนัดคิวฉีดได้เลย” รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.กล่าว

 

 

นายสาธิต กล่าวว่า ส่วนปัญหาที่ประชาชนเลือกสถานที่ฉีดไม่ได้ เกิดจากภูมิลำเนาที่อยู่จริง และประวัติการรักษาในสถานพยาบาลอยู่คนละแห่งกัน เช่น พักที่ จ.ระยอง แต่มีประวัติรักษาที่ รพ.ราชวิถี โดยขณะนี้ระบบได้ปรับปรุงเพื่อให้เลือก รพ.ได้แล้ว ซึ่ง สธ.ต้องการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ฉีดใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไกล อย่างไรก็ตาม ในกรุงเทพมหานคร มีความสะดวกมากขึ้น หลาย รพ.เปิดบริการฉีดนอกสถานที่ เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือจุดบริการอื่นๆ

“ส่วนผู้ที่ยังไม่สามารถลงทะเบียนได้เลย ก็ขอให้ติดต่อที่ รพ.ใกล้บ้าน เพื่อกรอกข้อมูล นัดวันฉีดวัคซีนได้ ปัญหาที่พบขณะนี้ คือ การสื่อสารที่ผิดพลาด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้มี รพ. ในสังกัด สธ. เพียงอย่างเดียว แต่ยังมี รพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) อีก 8 แห่ง รพ.สังกัดโรงเรียนแพทย์ และ รพ.สังกัดเอกชนจำนวนมาก ดังนั้นใน รพ.เหล่านี้ เขามีหน้าที่ฉีดให้ประชาชนที่มีชื่อใน รพ.ของเขา ไม่ต้องลงผ่านหมอพร้อม สิ่งที่ สธ. ต้องทำคือ ให้ รพ.เหล่านี้เปิดสล็อตที่เป็นวันเวลาที่ รพ.มีคิวว่าง สำหรับฉีดให้ประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม” นายสาธิต กล่าว

 

 

นายสาธิต กล่าวว่า ขอย้ำว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของคนทั้งประเทศต้องฟรี โดยรัฐบาลจะออกค่าใช้จ่ายในการฉีด 20 บาทต่อเข็ม และสถานพยาบาลจะไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ กับประชาชนได้ ยกเว้นผู้ที่ต้องการฉีดในห้องพิเศษ ที่ไม่ปะปนกับคนอื่น ซึ่งจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนระยะแรกจะเริ่มต้นในคนไทย แต่สำหรับชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนก่อนก็จะเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพราะอาศัยในพื้นที่ระบาดอย่างที่เราฉีดไปใน จ.สมุทรสาคร ดังนั้น ต้องเรียนว่าขณะนี้ขอฉีดให้กับคนไทยก่อน เพื่อลดปัญหาในมิติอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลไม่เคยปิดกั้นเรื่องวัคซีน ดังนั้นหากภาคเอกชนหาวัคซีนมาได้ กลุ่มคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยก็สามารถจ่ายเงินเพื่อฉีดเองได้

 

 

นายสาธิต กล่าวว่า ในส่วนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีกว่า 1.04 ล้านคนทั่วประเทศ สธ.ได้มอบนโยบายให้สร้างความเข้าใจด้านการฉีดวัคซีนกับประชาชน พร้อมรวบรวมข้อมูลกลุ่มเสี่ยงในหมู่บ้านส่งให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ทำการนัดหมายฉีดวัคซีนต่อไป แต่อาจเกิดความล่าช้าบ้าง เนื่องจากเป็นการประชุมผ่านประธาน อสม.ในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ประสานไปยัง อสม.แต่ละตำบลต่อไป ดังนั้นประชาชนที่สะดวกสามารถติดต่อกับ รพ. หรือ รพ.สต ได้เองเพื่อความรวดเร็ว

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลหมอพร้อม ณ เวลา 12.00 น. (3 พฤษภาคม 2564) มีผู้จองคิววัคซีนแล้ว 611,277 ราย โดยผ่านไลน์หมอพร้อม 438,247 รายและแอพพ์ฯ อีก 173,030 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง