หมอทวีศิลป์ ยังไม่ตัดสิน ดีเจมะตูม เป็นซูเปอร์ สเปรดเดอร์ ยันเฟซซิลด์ไม่ช่วยอะไร
วันนี้ (21 มกราคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) กล่าวระหว่างแถลงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า มีการตั้งคำถามว่าการระบาดรอบใหม่รุนแรงกว่ารอบแรกหรือไม่ จึงนำข้อมูลวิเคราะห์ พบว่า การระบาดรอบแรกในผู้ป่วย 4,237 ราย เสียชีวิต 60 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.42 แต่ระบาดรอบใหม่มีผู้ป่วย 8,416 ราย เสียชีวิต 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.13 ดังนั้น ความรุนแรงจึงน้อยกว่ารอบแรก
“อย่างไรก็ตาม อายุกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตเฉลี่ยเท่าๆ กันอยู่ที่ 58 และ 56 ปี เป็นเพศชายมากกว่าหญิงเหมือนกัน โรคประจำตัวที่พบมากที่สุดในกลุ่มผู้เสียชีวิตคือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคปอด/มะเร็งปอด ไตวาย ตามลำดับ” โฆษก ศบค.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงการระบาดในกรุงเทพมหานคร จำเป็นต้องล็อกดาวน์ และตรวจหาเชื้อเชิงรุกในชุมชนหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่มีคนจำนวนมาก เดินทางได้ง่าย เป็นศูนย์กลางประเทศ จึงพบผู้ป่วยและกระจายออกไป ฉะนั้น กรุงเทพฯ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องควบคุมโรค ส่วนการตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุก มีรายงานว่าตรวจไปแล้ว 41,508 ราย พบผู้ติดเชื้อ 60 ราย ทั้งนี้ การระบาดกระจายไปในหลายกลุ่ม จากเดิมติดจากบ่อน จ.ระยอง สถานบันเทิง ขนส่งสาธารณะ แต่ตอนนี้เจอคละกันมาก ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ การป้องกันส่วนบุคคล
“โดยไปถึงห้องส่งในการจัดรายการของดีเจ ซึ่งใกล้ตัว เราก็ไม่รู้ว่าเมื่อคืนเขาไปจัดรายการกับใคร ไปงานเลี้ยงเจอใครบ้าง เราจึงต้องเข้มในการดูแลสุขอนามัยส่วนตัว” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
เมื่อถามต่อว่าในกรณีของ ดีเจมะตูม จะเป็นซูเปอร์ สเปรดเดอร์ในวงการบันเทิงหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในตอนนี้อาจจะเร็วไปที่จะสรุปเช่นนั้น แต่ต้องขอบคุณและชื่นชม ที่เปิดเผยรายละเอียดผ่านสื่อ โดยเบื้องต้นที่รับทราบไทม์ไลน์ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม มีความเชื่อมโยงหลายที่เช่น สถานที่ทำงาน กิจกรรมส่วนตัว คาดว่ามีตารางการทำงานส่วนตัวอยู่แล้ว แต่ในคนทั่วไปอาจจำไทม์ไลน์ไม่ได้ หมอชนะจึงมีความจำเป็น
“ผู้ที่เห็นไทม์ไลน์ของดีเจ ก็จะรับทราบและแยกแยะว่าตัวเองเสี่ยงมากแค่ไหน หากนั่ง กิน ดื่มกันมากในระยะ 1 เมตร ก็มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นประโยชน์ของไทม์ไลน์จะได้ผลคือผู้สัมผัสเกิดความตื่นตัวด้วย และแยกกักตัวเอง อย่างเช่นอาจารย์ท่านหนึ่งที่ใกล้ชิด กักตัวเอง เป็นความรับผิดชอบส่วนตัวที่ต้องช่วยกัน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
โฆษก ศบค.กล่าวต่อไปว่า การสวมเฟซชิลด์ป้องกันใบหน้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะขนาดหน้ากากผ้าก็ยังกันละอองฝอยได้บางส่วนเท่านั้นเอง ขณะที่เฟซชิลด์เป็นเหมือนแว่น และละอองฝอยสามารถหลุดมาได้สบายมาก ไม่ได้ช่วยเลย หากยิ่งนั่งใกล้กันเพียง 50 เซนติเมตร มีโอกาสได้รับละอองฝอยน้ำลายเต็มๆ
“ที่จะช่วยคือระยะห่างเกินกว่า 2 เมตร ทั้งนี้แม้ยืนห่างกันแต่อยู่ในห้องปิด อยู่ต้นทางของลมแอร์ อยู่ไกลออกไป 2 เมตรก็มีสิทธิ ฉะนั้นไม่มีอะไร 100% ดีที่สุดแล้วให้สวมหน้ากากผ้า/อนามัย เฟซซิลด์ไม่ได้ช่วยอะไรเลย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว