คปภ.ย้ำประกันโคเพย์ต้องเกิด พร้อมเปิดทางธุรกิจลงโทเคน
#คปภ. #ทันหุ้น- คปภ.เปิดนโยบายปี 68 พร้อมสนับสนุนประชาชนผู้บริโภคเข้าถึงประกัน ย้ำประกันร่วมจ่าย หรือ Co-payment เป็นทางเลือกที่ไม่ทำให้เบี้ยเร่งขึ้นเร็ว และคุมพฤติกรรมผู้ใช้เกินจำเป็น พร้อมหนุนภาคธุรกิจประกันหาผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ ทั้งสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหลักทรัพย์ค้ำ และไพรเวต อิคิวตี้
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ เลขาธิการ คปภ.กล่าวถึง แผนงานสำหรับปี 2568 ว่ามีหลายภาคส่วนที่ คปภ. ให้การสนับสนุน พร้อมเดินหน้าแผนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจประกันภัย และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมการเงินที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนจีดีพีไทยให้เติบโตได้ในปัจจุบันและอนาคต แผนงานของ คปภ. ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนทั้งในส่วนของประชาชนในการได้รับความคุ้มครองอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ในส่วนของภาคธุรกิจจะต้องให้การสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการต่างๆ ให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
นายชูฉัตรกล่าวว่า ธุรกิจประกันภัยจะเติบโตได้นั้น หัวใจสำคัญมาจากประชาชน ความเข้าใจ และความเชื่อมั่นของประชาชนต่อธุรกิจประกันภัย ดังนั้นที่ผ่านมา คปภ. จึงส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัยผ่านการเรียนการสอน หรือการแนะนำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับประกันภัย โดยเน้นให้ความรู้แบบสอดแทรกเนื้อหาเข้าไปให้ผู้เรียนได้มีโอกาสคิดวิเคราะห์ ต่อยอด เป็นทางเลือกมากกว่าการบังคับ
“ในส่วนของปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับภาคธุรกิจ มีการร้องเรียนเข้ามานั้น ในส่วนของเรามีการเร่งไกล่เกลี่ยให้ข้อพิพาทต่างๆ จบลงโดยเร็ว เพราะบ่อยครั้งที่เราเจอมักเป็นเรื่องความเข้าใจผิดของเงื่อนไขประกัน หรือร้องเรียนสินไหม แต่ไม่ได้ร้องเรียนเรื่องไปทางบริษัทเป็นต้น ซึ่ง คปภ. เราตั้งใจที่จะเร่งให้เรื่องร้องเรียนนั้นมีน้อยลง นั่นหมายถึงการสร้างความเข้าใจให้กับลูกค้าผู้เอาประกัน ถึงเงื่อนไขใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไป”
*ประกันร่วมจ่ายมี 2 แผน
นายชูฉัตร กล่าวต่อไปว่า อย่างประกันร่วมจ่าย หรือ Co-paymentที่จะเริ่มใช้ในเดือนมีนาคมนี้ ผู้เอาประกันยังมีความกังวลอยู่มาก ซึ่งทาง คปภ. ก็จะเร่งทำความเข้าใจ ในเงื่อนไข โดยสำหรับแบบประกัน Co-payment มี 2 รูปแบบ แบบแรกนั้นเป็นการร่วมจ่ายตั้งแต่ตอนเริ่มต้นทำประกันเลย ส่วนแบบที่ 2 จะเป็นการเข้าเงื่อนไขร่วมจ่ายในปีต่ออายุกรมธรรม์
ซึ่งในส่วนของร่วมจ่ายในปีต่ออายุกรมธรรม์ ผู้เอาประกันจะต้องเข้าเงื่อนไข ดังนั้นผู้ป่วยในด้วยกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป เช่น ปวดหัว ตัวร้อน เป็นต้น และ เคลมตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปในปีนั้น และเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนรวมกันตั้งแต่ 200%ของเบี้ยประกันเมื่อเข้าเงื่อนไข 3 ข้อนี้ผู้เอาประกันต่ออายุกรมธรรม์ จะถูกปรับเป็น Co-paymentหรือประกันร่วมจ่ายในปีที่ต่ออายุกรมธรรม์
“แต่หากว่า ในปีที่เป็น Co-paymentแต่ผู้เอาประกันภัยไม่ได้ใช้ความคุ้มครองที่เข้าเงื่อนไขทั้ง 3 แม้จะมีการเคลม 5 ครั้ง แต่ไม่ได้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเกิน 200% ของเบี้ย ในการต่ออายุกรมธรรม์ปีถัดไป จะถูกกลับไปใช้เงื่อนไขรูปแบบของความคุ้มครองเดิม ก่อนที่จะโดน Co-payment หรือเราเรียกว่าถ้าไม่เข้าเกณฑ์ ก็เซทซีโร่ไป”
นายชูฉัตรบอกว่า ด้วยเงื่อนไขมาตรฐานประกันสุขภาพใหม่ หรือ New Health Standardที่กำหนดห้ามยกเลิกการต่ออายุสำหรับประกันสุขภาพ ดังนั้นรูปแบบของ Co-payment และ Deductจึงถูกนำมาใช้ ซึ่งการมาของ Co-paymentรวมถึง Deduct ก็จะช่วยไม่ให้พอร์ตอัตราค่าสินไหมของประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นเร็วและแรง ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยเช่นนี้จะตามมาด้วยการปรับเบี้ยทั้งพอร์ต
“ผู้เอาประกันที่เคลมปกติ ไม่ได้เคลมเกิน ก็จะได้รับผลกระทบจากเบี้ยที่สูงขึ้น ในระยะถัดไปก็จะทำให้คนบางกลุ่ม หรือคนที่เพิ่งมีรายได้เข้าไม่ถึงประกันสุขภาพ หากอัตราเบี้ยประกันแพงเกินไป”
นายชูฉัตรกล่าวอีกว่า คปภ. ยังอยู่ระหว่างการทำแผนยุทธศาสตร์ประกันสุขภาพภาคเอกชนแม้ว่าคนไทยจะมีสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งประกันสังคม 30 บาทรักษาทุกโรคช่วยให้เข้าถึงการรักษาอยู่แล้ว แต่ด้วยโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปเป็นสังคมสูงวัย และเป็นวัยที่ต้องการความคุ้มครองด้านการรักษาพยาบาลมาก และเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสเคลมมาก ดังนั้น คปภ. รวมถึงหน่วยงานรัฐ เอกชนที่เกี่ยวข้องจึงต้องวางแผนยุทธศาสตร์ในการให้คนหลายกลุ่ม หลายเจนเนอเรชั่นเข้าถึงประกันสุขภาพ เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม
*เปิดทางลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล
นายชูฉัตรยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของภาคธุรกิจประกันภัย หลักๆ มีหลายเรื่องที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน หนึ่งในนั้นคือเรื่องปรับเปลี่ยนเกณฑ์การลงทุน ซึ่ง คปภ. เล็งเห็นชัดว่าปัจจุบันมีสินทรัพย์การลงทุนที่หลากหลายและมีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี เพื่อให้บริษัทประกันสามารถมีแหล่งลงทุน และมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือ ไพรเวต อิคิวตี้ (Private Equity)สินทรัพย์ที่อยู่นอกตลาดหุ้น
“แต่การลงทุนสินทรัพย์เหล่านี้ก็ต้องมีเงื่อนไขสำคัญในการตั้งสำรอง บริษัทจะต้องมีความแข็งแกร่ง ลงทุนได้ในสัดส่วนเท่าไรเพราะเงินที่นำไปลงทุนก็เป็นเงินของผู้ซื้อประกัน เงื่อนไขในการกำกับเหล่านี้เราก็ต้องรอบคอบ เบื้องต้นคาดว่าจะผ่านบอร์ดและยังคับใช้ได้ทันในไตรมาส 2/2569”