รีเซต

นักวิจัยไทยร่วมพัฒนาหุ่นยนต์กลิ้งลูกบอล แรงบันดาลใจจากด้วงมูลสัตว์

นักวิจัยไทยร่วมพัฒนาหุ่นยนต์กลิ้งลูกบอล แรงบันดาลใจจากด้วงมูลสัตว์
TNN ช่อง16
21 พฤศจิกายน 2567 ( 10:01 )
16

นักวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์ ที่มีคุณสมบัติในการกลิ้งวัตถุอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการสังเกตการทำงานของด้วงมูลสัตว์  ที่อาจจะนำมาต่อยอดการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ในอนาคต


ที่มา : Binggwong Leung et al.


งานวิจัยนี้นำโดย บิงกวาง เหลียง (Binggwong Leung), ปรเมษฐ์ มนูญพงศ์ (Poramate Manoonpong) จากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิทยสิริเมธี (VISTEC) ประเทศไทย และสตานิสลาฟ กอร์บ (Stanislav Gorb) จากมหาวิทยาลัยคีล ประเทศเยอรมนี โดยนักวิจัยได้สังเกตการทำงานของด้วงมูลสัตว์ พบว่ามีความเชี่ยวชาญในการจัดการวัตถุที่ซับซ้อน คือมีการประสานการทำงานระหว่างขาทั้ง 6 ข้างอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ขาหน้า 2 ข้างยันพื้น ในขณะขาส่วนกลาง และขาหลัง จะใช้กลิ้งลูกดินกลม 


จากการสังเกตและศึกษา ทำให้นักวิจัยได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า อัลฟา (ALPHA) โดยอิงหลักการกลิ้ง 4 ข้อที่สำคัญ คือ 


1. จังหวะการเคลื่อนไหว 

2. การควบคุมทิศทางเพื่อความสมดุล 

3. การปรับตัว (เช่น ขายืดหยุ่นได้เพื่อการยึดเกาะที่ดีขึ้น) 

4. ความยืดหยุ่นของภูมิประเทศ ส่งผลให้นักวิจัยสามารถสร้างการควบคุมการเคลื่อนไหวตามระบบประสาทแบบแยกส่วน (ระบบควบคุมหุ่นยนต์ที่ผสมผสานการเคลื่อนไหวเข้ากับระบบการจัดการวัตถุ) ขึ้นมาได้ 


ผลลัพธ์ทำให้ได้หุ่นยนต์ อัลฟา ที่สามารถเดินและกลิ้งลูกบอลหลายประเภทและน้ำหนักแตกต่างกันได้ ไม่ว่าจะเป็นลูกบอลที่นิ่ม แข็ง เบา หรือหนัก หุ่นยนต์สามารถรับและกลิ้งลูกบอลที่มีขนาด 2 เท่าของความยาวขาบนพื้นผิวที่เรียบและไม่เรียบ ความเร็วในการกลิ้งอยู่ที่ประมาณ 10 – 20 เซนติเมตรต่อวินาที อัตราความสำเร็จอยู่ที่ร้อยละ 80 หุ่นยนต์สามารถปรับท่าทาง ส่งผลให้ทรงตัว และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ยังพบว่าหากมีการเพิ่มวัสดุแบบนุ่มที่มีความยืดหยุ่นให้กับบริเวณขาของอัลฟา จะช่วยเพิ่มความเสถียรและการยึดเกาะได้ด้วย


นักพัฒนากล่าวว่า ระบบการควบคุมแบบนี้ สามารถใช้เป็นหลักการพื้นฐานในการทำให้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวสำหรับหุ่นยนต์ทำงานประสานกันได้ดีขึ้นในอนาคต ส่งผลให้อาจช่วยเพิ่มความสามารถให้หุ่นยนต์ในการเคลื่อนไหวและการจัดการวัตถุขนาดใหญ่ได้


งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Advanced Sciences ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2024


ที่มา : Binggwong Leung et al.

ที่มา : Binggwong Leung et al.

ที่มา : Binggwong Leung et al.



ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, Onlinelibrary.Wiley

ที่มารูปภาพ Onlinelibrary.Wiley

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง