'ยูโรโซน' ยังหาสูตรอุ้มศก.ไม่ลงตัว
‘ยูโรโซน’ ยังหาสูตรอุ้มศก.ไม่ลงตัว
ประเทศในกลุ่มยูโรโซน หรือประเทศที่ตกลงใช้เงินสกุลยูโร จำนวนมากเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างหนักและได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจใหญ่หลวงจนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (อียู) แต่ยังคงมีปัญหาแตกต่างทางความคิดเพราะไม่เห็นด้วยกับที่หลายประเทศต้องการให้ออกตราสารหนี้ร่วม (มิวฌวลไลซิง เด็ท) เพื่อระดมเงินมาให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ประเทศที่ต้องการตราสารหนี้ร่วมอาทิ ฝั่งเศส, อิตาลี, สเปน กับชาติสมาชิกอียู ที่ไม่ได้อยู่ในยูโรโซนอีก 6 ชาติ อย่างไรก็ตาม ประเทศอย่างเยอรมนี, เนเธอร์แลนด์, ฟินแลนด์,และออสเตรีย คัดค้านแนวทางนี้มาตลอด จนเป็นเหตุให้การประชุมผู้นำอียูเมื่อ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ไม่สามารถตกลงแผนดำเนินการเพื่อการนี้ได้ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังอียู กำหนดจะถกทางเลือกต่างๆ กันอีกครั้งในวันที่ 1 และ 6 เมษายนนี้ ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐมนตรีคลังเพื่อชี้ขาดในวันที่ 7 เมษายน
ทั้งนี้ รอยเตอร์ระบุว่า ทางเลือกที่ต้องตัดสินใจมีอยู่ 4 แนวทางคือ การให้ยูโรโซนเข้าอุ้ม กลไกเสถียรภาพแห่งยุโรป (อีเอสเอ็ม) โดยที่อีเอสเอ็มจะเข้าไปทำหน้าที่ช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหา โดยการเปิดเครดิตไลน์ให้ไม่น้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ของประเทศนั้น, การใช้ธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (อีไอบี) ออกตราสารหนี้แทน เพื่อลดภาระหนี้ของแต่ละประเทศสมาชิก, ให้คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของอียู กู้ยืมด้วยการออกตราสารหนี้, และสุดท้ายคือ การใช้วิธีการกำหนดให้บริษัทธุรกิจลดชั่วโมงการทำงานลง แทนที่จะลอยแพคนงาน โดยที่อียูมีวงเงินค้ำประกันราว 25,000 ล้านยูโร เพื่อการนี้อีกด้วย