รีเซต

สื่อระดับโลก ชี้ คนไทยบางกลุ่ม ก่อเฮตสปีชต่อเมียนมา พร้อมตั้งคำถามกลับ

สื่อระดับโลก ชี้ คนไทยบางกลุ่ม ก่อเฮตสปีชต่อเมียนมา พร้อมตั้งคำถามกลับ
ข่าวสด
24 ธันวาคม 2563 ( 18:30 )
96

รอยเตอร์ ชี้ คนไทยบางกลุ่ม ก่อเฮตสปีชต่อเมียนมา ขณะที่คนไทยบางกลุ่มใช้โซเชียลมีเดียเพื่อปกป้องคนงานเมียนมา พร้อมตั้งคำถาม กรณี ผู้ติดเชื้อแฝงของไทย

 

Reuters

 

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2563 สำนักข่าว อัลจาซีรา รายงานว่า สำนักข่าว รอยเตอร์ ได้รายงานการจับตา กรณีคนไทยบางกลุ่ม ก่อเฮตสปีชต่อเมียนมา เพื่อกล่าวโทษและสนับสนุนการลงโทษคนงานชาวเมียนมา ขณะที่คนไทยบางกลุ่มใช้โซเชียลมีเดียเพื่อปกป้องคนงานชาวเมียนมา พร้อมตั้งคำถาม เรื่องผู้ติดเชื้อแฝงของไทย และกรณีที่ คนไทยข้ามชายแดนอย่างผิดกฎหมายเช่นกัน

 

รอยเตอร์ ระบุว่า การระบาดครั้งล่าสุดในไทย ถูกตรวจพบที่ตลาดอาหารทะเลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงเทพฯโดยเหตุการณ์ในครั้งนี้ เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดคำพูดแสดงความเกลียดชังทางออนไลน์ในประเทศไทย “ถ้าเห็นคนเมียนมา ให้ยิงทิ้ง”ความคิดเห็นของคนไทยคนหนึ่งในยูทูบ หลังมีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานจากเมียนมา

 

การระบาดครั้งแรกที่ตรวจพบในตลาดอาหารทะเลใกล้กรุงเทพฯทำให้เกิดคำพูดแสดงความเกลียดชังทางออนไลน์รวมทั้งเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติหลายล้านคนในประเทศไทย “ชาวเมียนมาถูกเรียกว่าเป็นผู้แพร่เชื้อไวรัสโควิด -19 ทั้งที่ไวรัสไม่เลือกปฏิบัติ และชาวเมียนมาก็ถูกกีดกันจากการใช้รถประจำทาง รถมอเตอร์ไซค์ และสำนักงาน” สมพงษ์ สระแก้ว เครือข่ายคุ้มครองแรงงานไทยและให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติกล่าว

 

หลายความคิดเห็น ได้พยายามสร้างความแตกแยก บนโซเชียลมีเดีย เช่น มีการเรียกร้องไม่ให้แรงงานข้ามชาติที่ได้รับการตรวจและมีผลว่าติดเชื้อ เข้ารับการรักษา เพื่อเป็นการลงโทษที่พวกเขาเข้ามาในประเทศไทย สำนวนในลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบของคำที่สร้างความเกลียดชังไปทั่วโลกตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวต่างชาติหรือแรงงานข้ามชาติมักตกเป็นเป้าหมายในการกล่าวโทษอยู่บ่อยครั้ง

 

Reuters

 

พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ได้กล่าวว่า การเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายอยู่เบื้องหลังการแพร่ระบาดในประเทศที่ทำให้โควิด-19 ควบคุมได้ยาก และหน่วยงานด้านโรคระบาดของไทยพยายามร้องขอความเห็นใจต่อแรงงานข้ามชาติเหล่านี้

 

โดย กลุ่มจับตาโซเชียลมีเดียเพื่อสันติ เป็นกลุ่มที่ไม่มีสังกัด เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ทีมงานของพวกเขา พบความคิดเห็นหลายร้อยรายการที่จัดว่าเป็นคำพูดแสดงความเกลียดชังบนยูทูบ เฟซบุ๊ก และ ทวิตเตอร์ ความคิดเห็นดังกล่าวรวมถึงภาษาที่เหยียดผิวเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเลือกปฏิบัติและส่งเสริมความเป็นชาตินิยม เรากังวลว่าการเลือกปฏิบัติทางออนไลน์อาจส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติอื่น ๆ และนำไปสู่ความรุนแรงในโลกแห่งความเป็นจริงได้

 

“เรารู้ดีว่าคำพูดแสดงความเกลียดชังที่พุ่งเป้าหมายไปยังชุมชนที่เปราะบางนั้นเป็นอันตรายที่สุด”โฆษกของเฟซบุ๊กกล่าว โดยกล่าวว่าเทคโนโลยีของเฟซบุ๊กสามารถตรวจพบคำพูดแสดงความเกลียดชังได้ถึงร้อยละ 95 ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงบทบาทในการเผยแพร่คำพูดแสดงความเกลียดชังที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในเมียนมาในปี 2560 และนับตั้งแต่นั้นมา เฟซบุ๊กได้ลงทุนในระบบที่สามารถตรวจจับและลบเนื้อหาดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว ทางด้าน ทวิตเตอร์ กล่าวว่ากำลังตรวจสอบปัญหานี้ ในขณะที่ยูทูบยังไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็น

 

อย่างไรก็ตาม ในโซเชียลมีเดียไม่ได้มีเพียงกลุ่มคนไทยที่เขียนแสดงความคิดเห็นที่เกลียดชังต่อชาวเมียนมา แต่ยังมีคนไทยบางส่วนที่ใช้โซเชียลมีเดียในการเผยแพร่เนื้อหาที่ปกป้องแรงงานชาวเมียนมา ขณะเดียวกัน โฆษกรัฐบาลของไทยและเมียนมา ยังไม่ตอบสนองต่อคำร้องที่เกี่ยวข้องกับการใช้คำพูดแสดงความเกลียดชังในทันที

 

Matichon

 

หลังจากพบการระบาดครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ตลาดกุ้งแห่งหนึ่ง ในจังหวัด สมุทรสาคร ซึ่งห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 35 กม. (20 ไมล์) ตั้งแต่นั้นมาพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกือบ 1,300 คน “เรารู้สึกเศร้ามากที่คนงานเมียนมาถูกกล่าวโทษ เราได้รับแจ้งว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะเมียนมา ส่วนใหญ่คนเมียนมาไม่ได้ตอบสนองอะไรกลับไป แต่ชาวเมียนมาบางคนไม่สามารถระงับความโกรธได้” เนย์ลินทูคนงานวัย 35 ปีจากเมียนมาร์กล่าว ซึ่งตอนนี้ เนย์ลินทูได้อาสาช่วยเหลือคนงานเมียนมาคนอื่น ๆ

 

ตามรายงานจากทางการ ในประเทศไทยมีแรงงานจากเมียนมาเกือบ 1.6 ล้านคนหรือเกือบ 2 ใน 3 ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด แต่ตัวเลขที่แท้จริงสูงกว่าเนื่องจากการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มักทำงานในอุตสาหกรรมภาคบริการ

 

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 แห่งประเทศไทย ระบุว่า เขาได้วิงวอนขอให้คนไทยมีความอดทน ในการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ “วันนี้พวกเขาคือครอบครัวของเรา ทั้งชาวเมียนมาและคนไทย พวกเรานับถือศาสนาพุทธ" แม้ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นมิตรกับชาวต่างชาติ แต่ความเป็นปฏิปักษ์ในประวัติศาสตร์ได้รับการฟื้นฟูบนโซเชียลมีเดีย เช่น การอ้างถึงการทำลายล้างประเทศไทย โดยกองกำลังของพม่า ในช่วงอยุธยาซึ่งเป็นเมืองหลวงของสยาม(ไทย)ในอดีต

 

Reuters

เมียนมาได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงกว่าไทยอย่างมาก เมียนมา มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,500 คน จากผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้วเกือบ 120,000 คน ขณะที่ประเทศไทยมี ผู้เสียชีวิต 60 คน จากผู้ติดเชื้อประมาณ 5,800 คน

การระบาดที่คล้ายคลึงกันในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด ในมาเลเซียและสิงคโปร์ แสดงให้เห็นว่าไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ง่าย ในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีอาการเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะมีรายงานการว่าตรวจพบการติดเชื้อจากในประเทศเป็นจำนวนน้อยมาก แต่เมียนมากลับตรวจพบเชื้อในพลเมืองเมียนมาที่เดินทางกลับจากประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่ชวนสงสัย ว่าอาจมีผู้ติดเชื้อแฝงจำนวนมากในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว

“เราเชื่อว่า หากไม่มีกรณีการติดเชื้อของคนงานเมียนมา ก็มีผู้ติดเชื้อแฝงเป็นจำนวนมากอยู่ในประเทศไทยแล้ว” เซิน ฮเตย์ เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติในย่างกุ้งกล่าว “แต่เรายอมรับว่า สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานเมียนมาเป็นเรื่องยากในการเว้นระยะห่างทางสังคม เพราะในหนึ่งห้องเช่าก็มีคนงานถึงสามหรือสี่คน” แม้จะมีการกล่าวหาแรงงานเมียนมาว่าข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย แต่คนไทยก็ข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมายเช่นกัน เช่น กรณีของผู้หญิงไทยหลายคนที่กลับเข้าประเทศไทยโดยใช้จุดผ่านแดนที่ผิดกฎหมาย หลังจากเกิดการระบาดในสถานบันเทิง ที่พวกเขาทำงานในเมียนมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง