รีเซต

ธนาคารโลก ปรับจีดีพีไทยปี 64 อยู่ที่ 3.4 เปอร์เซ็นต์ คาดมีนักท่องเที่ยว 4.5 ล้านคน

ธนาคารโลก ปรับจีดีพีไทยปี 64 อยู่ที่ 3.4 เปอร์เซ็นต์ คาดมีนักท่องเที่ยว 4.5 ล้านคน
มติชน
26 มีนาคม 2564 ( 15:38 )
61
ธนาคารโลก ปรับจีดีพีไทยปี 64 อยู่ที่ 3.4 เปอร์เซ็นต์ คาดมีนักท่องเที่ยว 4.5 ล้านคน

ธนาคารโลก ปรับจีดีพีปี 64 อยู่ 3.4 % คาดมีนักท่องเที่ยว 4.5 ล้านคน ชี้ไทยยังมีพื้นที่การคลัง ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้

 

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ได้ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ในปี 2564 อยู่ที่ 3.4% ถ้าดูในภาพรวมจะเห็นว่าจากการคาดการณ์เรื่องเศรษฐกิจฟื้นตัวยังค่อยเป็นค่อยไป และใช้เวลาในการที่จะกลับมาสู่ระดับเดิมเท่ากับช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นั้นคงเป็นปี 2565 (2022) คาดว่าจะกลับมาเติบโตที่ 4.7% เทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19

 

นายเกียรติพงศ์กล่าวว่า เพราะฉะนั้น ความสำคัญอยู่ที่มีแรงขับเคลื่อนอะไรบ้าง นโยบายการคลังยังจำเป็นต้องมี เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ ตราบใดที่เศรษฐกิจยังไม่โตเต็มศักยภาพ และยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างเยอะ

 

นายเกียรติพงศ์กล่าวอีกว่า เนื่องจากประเทศไทยค่อนข้างพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเยอะ คิดเป็นประมาณ 13-15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) เพราะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ในช่วงก่อนมีการระบาดโควิด-19 และตอนนี้เราก็ประมาณการอยู่ที่ 4.5 ล้านคน เนื่องจากมีการเดินทางมากขึ้น รวมทั้งนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA) หรือเอสทีวี และจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง

 

“ส่วนความเห็นเกี่ยวกับโครงการเงินกู้ ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซอฟต์โลน และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ของรัฐบาลนั้น โครงการ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนได้ดำเนินการไปแล้ว ส่วนโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ซึ่งทั้งสองโครงการเป็นนโยบายสำคัญ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ สำหรับภาคธรกิจและบริษัท ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ เป็นโยบายที่ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ที่จะช่วยธุรกิจที่มีความสามารถในการฟื้นฟู แต่ยังขาดสภาพคล่อง ให้เข้าถึงเงินทุนในที่มีช่วงโควิด-19

 

“สำหรับ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ถ้าดูจากงบประมาณเบิกจ่าย มองเห็นว่างบที่เบิกออกไปค่อนข้างน้อย อาจชี้ให้เห็นอุปสรรคและการจัดการโครงการ ส่วนโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ยังไม่เห็นรายละเอียด จึงต้องรอดูนโยบายก่อนประเมินประสิทธิภาพได้” นายเกียรติพงศ์กล่า

 

นายเกียรติพงศ์กล่าวว่า ถ้าดูงบประมาณที่ใช้ในกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของไทยอยู่ที่ 6% ของจีดีพี เป็นปริมาณที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งสะท้อนว่ารัฐยังมีประสิทธิภาพ มีพื้นที่การคลังที่จะรับรองผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ได้ สถานการณ์คลังไทยยังมีพื้นที่สำหรับใช้นโยบายการคลัง ส่วนของหนี้สาธารณะก็ไม่ได้สูงมาก อยู่ที่ 53% ต่อจีดีพี ขึ้นมาจาก 43% ก่อนมีการระบาดของโควิด-19

 

นายเกียรติพงศ์กล่าวว่า ถ้าดูมาตรการเยียวยาต่างๆ สำหรับช่วยคนยากจน ถ้าเทียบกับต่างประเทศก็มีประสิทธิผล ในแง่ของขนาดที่เหมาะสมกับคนที่ได้รับผลกระทบ และมีความรวดเร็ว สุดท้ายมีความครอบคลุมที่กว้าง เพื่อช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบ

 

นายเกียรติพงศ์กล่าวต่อว่า สำหรับในอนาคตจะใช้นโยบายอย่างไรว่า เราควรดำเนินนโยบายต่อเมื่อเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัว และใช้นโยบายที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น ภาคท่องเที่ยว เป็นต้น หรืออีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงหลังจากโควิด-19 คือกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

 

นายเกียรติพงศ์กล่าวว่า สุดท้ายคือเรื่องการจัดเก็บภาษี ถ้าดูที่แนวโน้มการจัดเก็บภาษีของไทยต่อจีดีพี นั้น มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ก่อนมีโควิด-19 และหลังการระบาดโควิด-19 ก็ยิ่งลด อยู่ที่ 17% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ถือว่าไม่ได้สูง ดังนั้น มีโอกาสที่จะขยายฐานภาษีได้

 

“สิ่งที่ทำได้ก็คือพิจารณาภาษีที่เพิ่งผ่านไป เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก เป็นต้น ที่ตอนนี้อัตราภาษีไม่สูงก็พัฒนาขยายส่วนนี้ได้ นอกจากนี้ก็พัฒนาระบบการจัดเก็บภาษี ทำให้มีลักษณะอัตราก้าวหน้ามากขึ้น คือสามารถแบ่งภาระตามสถานะ รายได้ หรือสินทรัพย์ของแต่ละคนให้เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของไทยที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมลง

 

“จากความเหลื่อมล้ำและความยากจน หลังมีโควิด-19 มีเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคน จากประมาณการเดิม ก็เห็นได้ว่าระบบสวัสดิการไทยมีส่วนช่วยในการประคับประคองเศรษฐกิจและคนยากจน ส่วนจำเป็นต้องพัฒนาระบบสวัสดิการต่อเนื่องหรือไม่นั้น ก็เห็นว่าควรจะพัฒนาระบบสวัสดิการให้มีความเชื่อมโยงที่ชัดเจน เพราะตอนนี้ไทยมีโครงการระบบสวัสดิการที่ค่อนข้างเยอะ และดูแลหลายกลุ่ม

 

“ดังนั้น ทำอย่างไรให้ข้อมูลเชื่อมกัน เพื่อจะติดตามประเมินว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่ควรจะได้รับสวัสดิการได้รับแล้ว ทำให้สถานภาพหรือฐานะเขาดีขึ้นหรือเปล่า และอีกส่วนคือการดูแลกลุ่มแรงงานที่ตกงาน ที่ระบบสวัสดิการดูแลและยังไม่สามารถหางานได้ จึงเสนอว่าควรนำข้อมูลสวัสดิการนำไปเชื่อมกับข้อมูลแรงงาน เพื่อช่วยในฝึกเพิ่มทักษะ เช่น ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น เพิ่มเพื่อโอกาสในการหางาน” นายเกียรติพงศ์กล่าว

 

นายเกียรติพงศ์กล่าวว่า สำหรับในเรื่องวัคซีนนั้น วัคซีนมีความสำคัญที่จะทำให้กลับสู่ภาวะปกติได้ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีการท่องเที่ยว เป็นรายได้สำคัญ สำหรับไทยอัตราการติดเชื้อโควิด-19 น้อย และอัตราการเสียชีวิตก็น้อย เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม และประเทศจีน ฉะนั้น ถือว่าไทยอยู่ในสถานะที่ดี สามารถควบคุมโควิด-19 ได้ และมีการตรวจและคัดกรองที่ดี และมียุทธศาสตร์วัคซีนที่ชัดเจน

 

นายเกียรติพงศ์กล่าวว่า ตามที่ทราบมาว่าไทยนำเข่าซื้อวัคซีน เพื่อฉีดให้กับคนที่เป็น กลุ่มเสี่ยงและบุคลากรด่านหน้า และโครงการของวัคซีนที่จะฉีดทั่วประเทศ จะเป็นขั้นที่ 2 ที่กำหนดจะฉีดวัคซีนให้กับ 50-60% ของประชากร ปลายในปลายปี 2564

 

นายเกียรติพงศ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนผลเสียที่จะเกิดขึ้นเมื่อเปิดประเทศไม่ได้ ถ้าเกิดความล่าช้า ต้องแยกพิจารณาเป็นประเด็น ในส่วนของวัคซีนก็ส่งผลต่อเรื่องสุขภาพ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะกลับมา ถ้าล่าช้า การเติบโตของเศรษฐกิจก็จะล่าช้ากว่าที่คาดไว้ว่าภายในปี 2021 แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าไมใช่เปิดประเทศแล้วและนักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาในทันที อาจมีเหตุผลอื่นๆ ประกอบด้วยก็ได้ เช่น เรื่องความกังวลเรื่องการเดินทาง เพราะยังกลัวการติดเชื้อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง