‘แอนโทนี เฟาซี’ ฟันธง โอไมครอนไม่ร้ายแรงกว่าเดลต้า
ดร.แอนโทนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและหัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพียืนยันว่า ตัวบ่งชี้เบื้องต้นหลายตัวทำให้เชื่อได้ค่อนข้างแน่ว่าโควิดกลายพันธุ์โอไมครอนไม่ได้เลวร้ายกว่าไวรัสกลายพันธุ์ตัวก่อนหน้า และยังมีความเป็นไปได้ว่าจะมีอันตรายน้อยกว่าอีกด้วย
ดร.เฟาซีได้พูดถึงประเด็นที่เป็นที่รับรู้และยังไม่เป็นที่รับรู้เกี่ยวกับโอไมครอนใน 3 เรื่องหลัก คือเรื่องการแพร่ระบาด มันสารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันในผู้ที่เคยติดเชื้อและในผู้ที่ได้รับวัคซีนได้ดีแค่ไหน และสุดท้ายคือความรุนแรงของอาการป่วย
ดร.เฟาซีกล่าวว่า ชัดเจนว่าไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายมาก และมากกว่าเดลต้าที่เป็นสายพันธุ์หลักซึ่งแพร่ระบาดอยู่ในโลกขณะนี้ แต่เมื่อดูจากตัวเลขสถิติทางระบาดวิทยาทั่วโลกจะเห็นว่าการติดเชื้อซ้ำจากโอไมครอนจะสูงกว่า และดูเหมือนมันจะสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้
ดร.เฟาซีระบุว่า ต้องรออีกไม่กี่วันหรืออาจจะภายในหนึ่งสัปดาห์ ข้อมูลจากห้องทดลองเกี่ยวกับศักยภาพของแอนติบอดีที่เกิดจากวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าสามารถรับมือกับโอไมครอนได้หรือไม่จึงจะออกมา และสำหรับคำถามเกี่ยวกับความรุนแรง ค่อนข้างชัดเจนว่ามันไม่ได้ร้ายแรงไปกว่าเดลต้า
“มันมีการตั้งข้อสังเกตว่ามันอาจจะร้ายแรงน้อยกว่า เพราะเมื่อเราดูจากข้อมูลของนักวิชาการที่กำลังติดตามมันในแอฟริกาใต ตัวเลขของผู้ติดเชื้อเมื่อเทียบกับตัวเลขของผู้ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลต้องถือว่าน้อยกว่าเดลต้า”ดร.เฟาซีกล่าว
อย่างไรก็ดีดร.เฟาซีกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ตีความจากข้อมูลเหล่านี้แบบเกินเลย เพราะประชากรส่วนใหญ่ที่มีการติดตามข้อมูลส่วนใหญ่มีอายุน้อย ซึ่งทำให้โอกาสในการเจ็บป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลลดน้อยลงตามไปด้วย
ดร.เฟาซีกล่าวว่า กว่าที่โรคจะพัฒนาจนมีอาการป่วยหนักก็ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ดังนั้นต้องรอดูสถานการณ์ในแอฟริกาใต้ ซึ่งพบการติดเชื้อที่แรกเมื่อเดือนพฤศจิกายนเสียก่อน คาดว่าต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อยืนยันในเรื่องดังกล่าว และในระหว่างนั้นเราจะพบการแพร่ระบาดของโอไมครอนไปยังพื้นที่อื่นๆ ของโลก ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าที่จะเห็นระดับความรุนแรงในการเจ็บป่วยจากโอไมครอนที่ชัดเจน
ทั้งนี้ดร.เฟาซีกล่าวว่า การที่ไวรัสแพร่กระจายได้ง่ายไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยหนักตามมา และไม่จำเป็นต้องทำให้มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น นั่นคือการคาดการณ์สถานการณ์ที่ดีที่สุด
“สำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือมันไม่เพียงแต่แพร่ระบาดได้เร็ว แต่ยังทำให้มีอาการป่วยหนัก และทำให้เราต้องเผชิญการแพร่ระบาดอีกระลอกหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ลดทอนลงด้วยวัคซีนหรือจากการติดเชื้อก่อนหน้านี้ของผู้คน ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้น แต่ใครจะไปรู้”เฟาซีกล่าว