รีเซต

ส่องสิทธิตรวจรักษาโควิด-19 รัฐเตรียมพร้อมให้ประชาชน?

ส่องสิทธิตรวจรักษาโควิด-19 รัฐเตรียมพร้อมให้ประชาชน?
มติชน
13 มกราคม 2564 ( 13:42 )
88
ส่องสิทธิตรวจรักษาโควิด-19 รัฐเตรียมพร้อมให้ประชาชน?

วิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 รอบนี้ แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะมีความรุนแรงกว่ารอบที่ผ่านมา แต่หากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่กำหนดออกมาได้ผล เชื่อว่าแนวโน้มการระบาดจะชะลอตัวลงในระยะเวลาอันใกล้นี้

 

อย่างไรก็ดี ภาครัฐได้จัดเตรียมสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพต่างๆ เอื้อให้ประชาชนป้องกันตัวไว้แล้ว เหลือเพียงแต่ให้ประชาชนจะใช้สิทธิ และให้ความร่วมมือปฏิบัติตามแนวทางที่บุคลากรทางการแพทย์ให้คำแนะนำอย่างจริงจังเท่านั้น

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูลŽ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงภาพรวมสิทธิประโยชน์ที่รัฐจัดเตรียมให้ประชาชน ว่าในส่วนของความคืบหน้าการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 นั้น ไทยได้ทำสัญญาสั่งซื้อจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จำนวน 26 ล้านโดส ทั้งหมดเป็นวัคซีนที่ผลิตภายใต้แบรนด์ แอสตร้าเซนเนก้า หลังจากนั้นจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ของประเทศไทย ที่ได้มีการอนุมัติไว้เพื่อผลิตวัคซีนเพิ่มเติม และมั่นใจว่าวัคซีนที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ จากนั้นจะนำไปให้บริการแก่ประชาชน

“ขณะเดียวกัน เพื่อให้ได้วัคซีนมาโดยเร็วที่สุด ไทยยังได้ตัดสินใจจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จากประเทศจีน โดยเจรจากับบริษัท ซิโนแวค ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2563 ให้จัดสรรวัคซีนในเบื้องต้นมาฉีดให้กับบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนกลุ่มเสี่ยง จำนวน 2 ล้านโดส โดยซิโนแวคยินยอมจะจัดส่งวัคซีนล็อตแรกให้กับประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะดำเนินการฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายลำดับแรกเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่” รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปีงบประมาณ 2564 ยังได้รับการจัดสรรงบเพิ่มเติมอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้รับมือสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะ ซึ่งงบส่วนนี้จะใช้สนับสนุนหน่วยบริการ สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการรับบริการโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย

 

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และกระจายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ สปสช.มีการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ โดยสนับสนุนหน่วยบริการในการให้บริการประชาชน โดยในปีงบ 2564 เป็นการดำเนินการตามแผนการต่อเนื่องจากปีงบ 2563 ครอบคลุมการรักษาพยาบาลทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ตั้งแต่การตรวจห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ยืนยันการติดเชื้อที่รวมค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) สำหรับบุคลากรห้องแล็บ ยืนยันการติดเชื้อและบุคลากรเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ค่าห้องควบคุมปลอดเชื้อ หรือห้องดูแลการรักษารวมค่าอาหาร หอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 ยารักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 และค่าพาหนะรับส่งต่อผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการ โดยครอบคลุมทั้งที่โรงพยาบาล (รพ.) ที่เป็นหน่วยบริการร่วมกองทุนบัตรทอง และ รพ.สนาม ขอให้คนไทยทุกคนมั่นใจได้ว่า ด้วยงบและแผนการบริหารจัดการเพื่อรองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 นี้ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการคัดกรองและการรักษาพยาบาลที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง

 

นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า จากข้อมูลการจัดสรรงบเบื้องต้นในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงต้นปีงบ 2564 ได้มีประชาชนเข้าถึงบริการกรณีโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลการเบิกค่าบริการในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม-วันที่ 30 ธันวาคม 2563 จ่ายชดเชย จำนวน 467.86 ล้านบาท ดังนี้ 1.บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 จำนวน 155,856 คน คิดเป็น 186,980 ครั้ง เป็นเงิน 319.39 ล้านบาท 2.บริการรักษาพยาบาล ทั้งกรณีผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก รวม 4,887 คน (แยกเป็นการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอก 53 คน, ผู้ป่วยในที่มีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (IP PUI) 4,421 คน และผู้ป่วยในที่ต้องรับการรักษาโควิด-19 425 คน) คิดเป็น 4,993 ครั้ง เป็นเงิน 148.46 ล้านบาท

 

เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า สปสช.ยังได้รับการจัดสรรงบอีก 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นงบเพิ่มเติมงวดแรกเพื่อใช้สนับสนุนการให้บริการโควิด-19 และรายการที่เกี่ยวข้องในช่วง 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 แบ่งเป็น ค่าบริการกรณีโควิด-19 จำนวน 2,228.68 ล้านบาท แยกเป็น ค่าบริการป้องกันการติดเชื้อ 1,972.84 ล้านบาท ตามเป้าหมายบริการ 486,700 คน ค่ารักษาพยาบาล 255.85 ล้านบาท เป้าหมายบริการ 3,022 คน และรายการอื่นที่เกี่ยวข้อง 771.01 ล้านบาท แยกเป็นบริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 317.61 ล้านบาท เป้าหมายบริการ 2,365,900 คน เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการกรณีโควิด-19 จำนวน 87.4 ล้านบาท เป้าหมาย 300 คน และค่าบริการตามสิทธิประโยชน์ระบบบัตรทองในกลุ่มคนว่างงาน 366 ล้านบาท เป้าหมายบริการ 137,000 คน

 

“งบ 3,000 ล้านบาทนี้ คาดว่าจะใช้เฉพาะในช่วง 6 เดือนก่อน หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจะมีการทำเรื่องขอเพิ่มเติมอีกครั้ง ซึ่งจะมีการปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่างต้นทุนบริการบางอย่างที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ค่าตรวจแล็บ RT-PCR ที่ปัจจุบันลดลง เป็นต้น” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

 

ขณะที่ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 6 กล่าวว่า แม้การระบาดครั้งนี้จะใหญ่และซับซ้อนกว่าครั้งที่แล้ว แต่การควบคุมกำกับต่างๆ จะสำเร็จ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย คือ สธ. ฝ่ายปกครอง และประชาชน ในส่วนของมาตรการด้านสาธารณสุขนั้น เขตสุขภาพที่ 6 ใช้หลักการ 10, 100, 1,000 คือในแต่ละจังหวัดมีห้องความดันลบที่สามารถดูแลผู้ป่วยหนักได้ 10 ห้อง หอผู้ป่วยซึ่งอาจเป็น cohort ward หรือ isolation ward ในแต่ละจังหวัดมี 100 เตียง และควรเตรียม รพ.สนาม 1,000 เตียง ซึ่งขณะนี้มี รพ.สนาม 3 แห่ง ที่ศูนย์ฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยาน 320 เตียง ที่ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า 174 เตียง และที่สนามฝึกกองทัพเรือ จ.จันทบุรี 240 เตียง โดยทั้ง 3 แห่งนี้จะใช้ร่วมกันในเขตสุขภาพที่ 6 รวมทั้งเตรียมฮอสปิเทล (Hospitel) 100-200 เตียง สำหรับผู้ป่วยที่อาการดีแล้ว เพื่อผ่องถ่ายออกจากโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ามา

 

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน นอกจากเตรียมโรงพยาบาลให้เพียงพอแล้ว จำนวนผู้ป่วยจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับมาตรการสอบสวนโรค และกำหนดให้กลุ่มเสี่ยงเข้ามาอยู่ในกลไกควบคุม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ต้องควบคุมไม่ให้มีการแพร่กระจายในวงถัดไป ดังนั้น เมื่อได้ผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาลแล้ว จะเป็นการดึงเชื้อออกจากชุมชน จำกัดขอบเขตไม่ให้แพร่กระจาย จำนวนเตียงที่มีก็จะเพียงพอ ดังนั้น คนที่สัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงขอให้ไปตรวจ และการตรวจไม่มีค่าใช้จ่าย สปสช.จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้คนไทยทุกคนทุกสิทธิ รวมถึงแรงงานต่างด้าวก็รับการตรวจคัดกรองได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเช่นกัน ถ้าเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงขอให้ไปตรวจเพื่อค้นหาเชื้อให้เร็วที่สุด

 

 

นพ.พีระมน นิงสานนท์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 6 ระยอง กล่าวว่า จ.ระยอง เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่ต้องมีมาตรการเข้มงวด สปสช.มีบทบาทเป็นกองหนุนให้กองหน้า ทั้ง สธ. ฝ่ายปกครอง องค์กรท้องถิ่น ภาคประชาชน ทำงานได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุดโดยไม่ต้องพะวงหลังเรื่องทรัพยากร ส่วนแนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนนั้นจะมีสิทธิในการตรวจคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง ถือเป็นกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่ง สปสช.สนับสนุนให้คนไทยทุกคนทุกสิทธิ ทั้งสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ก็ใช้สิทธิได้หากเป็นกลุ่มเสี่ยง

 

“เมื่อตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา จะใช้สิทธิรักษาตามที่ตัวเองมี โดยในส่วนของผู้ใช้สิทธิบัตรทอง สปสช.รับผิดชอบค่ายา ค่าห้องแล็บให้หมด ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในโรงพยาบาลทั่วไป รพ.สนาม หรือฮอสปิเทล รวมทั้งสนับสนุนไปถึงค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เช่น ผู้ติดเชื้อที่บ้านอยู่ไกล หรือญาติไม่สะดวกนำส่งโรงพยาบาล ก็สามารถเบิกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ เพื่อให้โรงพยาบาลเบาใจเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนอื่น” นพ.พีระมน กล่าว

 

ขณะเดียวกัน นพ.พีระมน กล่าวว่า ในด้านการส่งเสริมป้องกันโรคในระดับพื้นที่ สปสช.มีกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ (กปท.) ซึ่งทำในเรื่องการป้องกันโรคโควิด-19 มาตั้งแต่การระบาดรอบก่อน มีการใช้เงินจากกองทุนนี้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เรื่องอนามัย การล้างมือ การควบคุมโรคต่างๆ และดำเนินการเข้มข้นมากขึ้นในช่วงนี้

 

“เมื่อต้นปีงบประมาณ สปสช.ได้โอนเงินสมทบเข้า กปท. ช่วงนี้ กปท.ก็ชะลอโครงการอื่นๆ แล้วขยับมาทำโครงการเกี่ยวกับโควิด-19 เป็นลำดับแรก ทำให้โครงการเกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 ในระดับพื้นที่เพิ่มขึ้นมาก โดยงบส่วนนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระงบของกระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองท้องถิ่นได้ในแง่การซื้อเจลแอลกอฮอล์ ทำหน้ากากผ้า ซื้อสิ่งของ เครื่องใช้ส่วนตัวแยกสำหรับคนที่อยู่ระหว่างการกักตัว ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำงานได้ง่ายขึ้น” นพ.พีระมน กล่าวและว่า ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่เขต 6 รับรู้สิทธิตรวจคัดกรองโควิด-19 ฟรี และเข้ารับการตรวจจำนวนมากกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ดี อยากวิงวอนว่า เมื่อมีสิทธิแล้วต้องมีหน้าที่ควบคู่ไปด้วย หากมีความเสี่ยงต้องไปตรวจ เพราะตรวจฟรี ขออย่าปกปิดประวัติการเดินทาง ประวัติเสี่ยง และเมื่อตรวจแล้ว ช่วงรอผล 1-2 วันอย่าเพิ่งเดินทาง ให้กักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อรอการติดต่อจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

 

ทั้งหมดนี้คือมาตรการที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้แก่ประชาชนสำหรับป้องกันตัวเองจากโควิด-19 เหลือเพียงอย่างเดียวที่ต้องช่วยกันคือ ประชาชนต้องให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างเต็มที่ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง