รีเซต

รีวิว Nothing Phone(2) : แม้จะว่างเปล่าก็ยังมีตัวตน (แต่ยังดีกว่านี้ได้)

รีวิว Nothing Phone(2) : แม้จะว่างเปล่าก็ยังมีตัวตน (แต่ยังดีกว่านี้ได้)
แบไต๋
12 สิงหาคม 2566 ( 11:53 )
22

ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่มองเห็นความแปลกใหม่ในวงการสมาร์ตโฟนมาตลอดครับ คือตั้งแต่ที่เริ่มสนใจในวงการนี้ ก็ได้พบกับสมาร์ตโฟนมากมายที่พยามใส่ลูกเล่นใหม่เข้าไป แบบ Samsung ที่เคยทำสมาร์ตโฟนที่เคยฉายภาพออกมาได้แบบโปรเจกเตอร์ หรือ LG ที่แม้จะทำสมาร์ตโฟนน้อยลงแล้ว ก็ยังเคยทำสมาร์ตโฟนที่หมุนจอแยกออกมาเป็นแนวนอนอีกจอก็ยังมีมาแล้ว

แต่ต้องยอมรับว่าเทรนด์ส่วนใหญ่ของสมาร์ตโฟน ก็เข้าสู่ยุคของการทำสมาร์ตโฟนหน้าตาคล้ายกัน คือเป็นกล่องสี่เหลี่ยมมุมมนบ้าง ขอบมนบ้าง ขอบเหลี่ยมบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในหน้าตาที่อาจจะใช้คำว่า ‘พิมพ์นิยม’ ก็ได้ ทำให้ความสนุกของการได้เห็นสมาร์ตโฟนเปิดตัวใหม่ได้หายไปเสียอย่างนั้น

คาร์ล เพ่ย (Carl Pei) แกก็คงคิดแบบนั้นเช่นเดียวกัน ตั้งแต่ที่เขาตัดสินใจแยกตัวออกมาจาก OnePlus ที่อุตส่าห์ปลุกปั้นมากับมือพร้อมกับพีท เหลา (Pete Lau) เพื่อที่จะเดินในทางของตัวเอง ก็ได้เปิดตัวแบรนด์ ‘Nothing’ แบรนด์ว่างเปล่า ที่อยากจะให้ เทคโนโลยี ‘ควรจางหายไปในพื้นหลังและรู้สึกเหมือนไม่มีอะไร’

แต่เราไม่ได้มาพูดถึงความเป็นแบรนด์ Nothing ครับ เรื่องนั้นไว้เรามาพูดถึงกันต่อไป แต่เราจะมาพูดถึงสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ของเขาอย่าง Nothing Phone(2) สมาร์ตโฟนรุ่นที่ 2 ของค่ายที่ได้ต่อยอดจากรุ่นที่แล้วมาอย่างดี แต่ที่จริงแล้ว ก็ยังดีกว่านี้ได้นะ (?)

Disclaimer : รีวิวนี้ เริ่มเขียนหลังจากที่ Nothing Phone(2) อัปเดตเวอร์ชันเป็น Nothing OS 2.0.1 Build Number : Pong-T2.0-230719-1458 ดังนั้นฟีเจอร์ต่าง ๆ อาจจะแตกต่างกับในตัวเครื่องที่ใช้ซอฟต์แวร์เวอร์ชันอื่น ๆ อยู่

ดีไซน์

เรื่องของดีไซน์ เราอาจจะเห็นความว้าวนี้มาจาก Nothing Phone(1) มาแล้วแน่นอน ทั้งเรื่องของไฟ Glyph Interface ที่เป็นสิ่งที่โดดเด่นที่สุดในรุ่น รวมไปถึงการทำดีไซน์ฝาหลังแบบโปร่งใส ให้เห็นการดีไซน์วงจร​ (ที่ทั้งเป็นนามธรรม และประดิษฐ์ขึ้น) แต่ก็มีความสวยงามในแบบของตัวเอง เอาจริง ๆ ถ้ามองผ่าน ๆ แวบแรกคือกว่าครึ่งที่เห็นรุ่นแรกและรุ่นที่ 2 เทียบกันคงบอกกันแน่นอนว่า ‘มันไม่เห็นจะเปลี่ยนไปเลย’

แต่ที่จริงแล้วมันเปลี่ยนมากกว่าที่คิดนะ เริ่มจากตัวฝาหลังก่อนเลย ที่ได้เปลี่ยนจากกระจกแบนราบ เป็นกระจกลงโค้ง เพื่อให้สัมผัสจับแล้วถนัดมือขึ้น (และไม่รู้สึกบาดมือแบบรุ่นแรก) และแม้จะไม่ได้มีการบอกว่าใช้กระจกประเภทใดทั้งในหน้าจอ และฝาหลังของจอ (นอกจาก Corning Gorilla Glass) แต่ค่อนข้างมั่นใจว่ากระจกหลังก็แข็งแรงพอตัวเลย

ส่วนดีไซน์รอบตัวเครื่องก็ค่อนข้างไปในทางดีไซน์สมัยนิยมของสมาร์ตโฟนยุคนี้ที่ใช้ขอบเหลี่ยมรอบตัวเครื่อง แต่บางลง 1 มิลลิเมตร รวมไปถึงการใช่วัสดุธรรมชาติจำนวนมาก ทั้งตัวเครื่องที่ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล 100%, แผงวงจร 9 แผง ใช้ดีบุกรีไซเคิล 100%, แผงวงจรหลักใช้ฟอยล์ทองแดงรีไซเคิล 100%, ชิ้นส่วนปั๊มเหล็กทั้งหมด 28 ชิ้น ใช้เหล็กรีไซเคิลมากกว่า 90% หรือพลาสติกในตัวเครื่องที่ใช้พลาสติกยั่งยืน และกล่องตัวเครื่องที่ไม่มีพลาสติกในกล่องเลยอีกด้วย แถมยังได้มาตรฐานกันน้ำ IP54 อีกด้วย แม้จะยังเป็นปริมาณที่ยังค่อนข้างน้อยก็ตาม

ปุ่มเปิด-ปิด ตัวเครื่องจะอยู่ด้านขวา และปุ่มเพิ่มลดเสียงจะอยู่ด้านซ้าย โดยจะมีพอร์ต USB-C 2.0 อยู่ด้านล่าง พร้อมช่องใส่ซิม (ใส่ได้ 2 ซิม) และไมค์โครโฟนด้านบน-ล่าง ที่ถือว่าก็ตามสมัยนิยมของสมาร์ตโฟนยุคปัจจุบันอยู่เหมือนกัน (น่าจะใส่พอร์ตหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรมาหน่อยนะ)

Glyph Interface เดิม เพิ่มเติมคือจำนวน และลูกเล่น

ไฟด้านหลังตัวเครื่องอย่าง Glyph Interface ก็ยังมาเหมือนเดิม จะเพิ่มเติมตรงที่ ตัวไฟมีส่วนแสดงผล LED ทั้งหมด 33 โซน ทำให้มีลูกเล่นที่ใช้กับ Glyph Interface ได้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเอาจริง ๆ 33 โซนนี้ก็ยังดูไม่ออกมากนัก แต่ถ้าลองมองดี ๆ คือโซนของไฟที่อาจจะดูเหมือนเดิม แต่มีการแยกระหว่างเส้นออกจากกัน ทำให้ตอนนี้ไฟตอนนี้แบ่งออกเป็น 11 เส้นย่อย (ไม่นับไฟสีแดงที่จะกะพริบเวลาถ่ายวิดีโอที่ยังอยู่ที่เดิมนะ)

พูดถึงไฟ Glyph Interface แล้ว ตัวไฟที่เพิ่มโซนมานี้ ก็มีประโยชน์มากขึ้นเหมือนกันนะ ! เริ่มจากฟีเจอร์ที่น่าสนใจมากอย่างการจับเวลา ที่เราสามารถตั้งให้จับเวลาถอยหลัง และคว่ำเครื่องเพื่อดูว่าเหลืออีกกี่นาที อันนี้สะดวกมาก และใช้เพื่อลดเวลาหน้าจอได้อย่างดีเลย เพราะพอเราคว่ำจอเพื่อดูเวลา ก็ไม่ต้องพลิกมาดูจอด้านในอีก หรืออย่างการปรับเสียงเพิ่ม-ลดความดัง ที่สามารถกดปุ่มและดูระดับเสียงผ่านไฟ Glyph Interface ด้านหลังได้เลย

ส่วนฟีเจอร์ไฟเดิม เช่นการแจ้งเตือนแล้วมีไฟขึ้นต่างกันตามแอปฯ, เขย่าเครื่องขณะชาร์จแบตเตอรี่เพื่อดูว่าชาร์จแบตฯไปกี่ % แล้ว หรืออย่างเสียงเรียกเข้าที่จะเข้าจังหวะระหว่างการสั่น เสียง และไฟ Glyph ก็ยังอยู่เหมือนเดิมหมดทุกอย่างเลย แต่จะแตกต่างที่ ‘Glyph Interface SDK และ API สำหรับนักพัฒนา’ ซึ่งจะทำให้แอปฯอื่น ๆ เอาไฟมาใช้ได้มากขึ้น อย่างเช่น Uber ที่เอามาใช้แสดงระยะทางระหว่างคนขับ มาหาเราได้แล้ว เป็นต้น

แม้หลาย ๆ คนจะบอกว่าไฟหลังจอนี้จะมีประโยชน์อะไร ถ้าเรายังดูหน้าจออยู่ (เพราะแค่คว่ำก็มองไม่เห็นแล้ว) แต่จริง ๆ ไฟ Glyph Interface นี้เหมาะกับการใช้ในช่วงที่เราอยาก ‘ลดเวลาหน้าจอ’ ลงบ้าง คือเราอยากจับหน้าจอให้ลดลง แต่ก็ยังต้องติดต่อสื่อสาร ไฟ Glyph Interface ที่จำกัดเกือบทุกอย่างไว้ใช้แค่เรื่องจำเป็น เช่นแจ้งเตือน, จับเวลา, เพิ่ม-ลดเสียงเพลงที่ฟังอยู่ ก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยเลยทีเดียว

ฟีเจอร์เขย่าเครื่องเพื่อดูแบตเตอรี่ที่กำลังชาร์จอยู่

โดยรวมแล้ว เรื่องของ Glyph Interface นอกจากจะมีประโยชน์มากแล้ว สิ่งหนึ่งที่เถียงไม่ได้เลยก็คือ ไฟ Glyph Interface นี้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งในความเป็น ‘Nothing Phone’ ไปแล้ว คือถ้าเห็นสมาร์ตโฟนมีไฟที่ไหนพยายามเลียนแบบ ก็จะนึกออกทันทีว่ากำลังพยายามเลียนแบบ Nothing Phone อยู่ ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่หาได้ยากในยุคที่สมาร์ตโฟนมีความคล้ายคลึงกันมาก ๆ แบบนี้

หน้าจอ

หน้าจอของ Nothing Phone(2) ถือว่าเป็นการต่อยอดมาจากรุ่นที่แล้วเหมือนกัน ด้วยหน้าจอขนาด 6.7 นิ้ว LTPO OLED แบบแบน ความละเอียด Full HD+ (2412×1080) รีเฟรชเรต 1-120Hz รองรับ HDR10+ และสว่างสูงสุด 1,600 Nits (เฉพาะตอนดูคอนเทนต์ HDR) ซึ่งเป็นการอัปเกรดที่ค่อนข้างใหญ่อยู่ นับตั้งแต่ขนาดที่เพิ่มขึ้นจาก 6.55 นิ้ว, ชนิดของจอที่ใช้ LTPO เสียที, และความสว่างที่เพิ่มขึ้นมาครับ

แต่ที่เหมือนเดิมก็คือความสมมาตรของตัวจอ ที่ยังคงวางจอให้มีขอบเท่ากันหมดทุกด้าน ไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ซึ่งแม้จะไม่ได้เห็นชัดจากการมองโดยทั่วไป แต่จากการใช้งานมา หน้าจอที่เท่ากันทุกด้านก็ให้ประสบการณ์ที่ดีจากจอที่สมมาตรทุกด้านนี้เหมือนกัน ส่วนการสัมผัสหน้าจอก็ลื่นไหล ไม่สะดุดใด ๆ รวมไปถึงในหน้าจอก็มีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือใต้หน้าจอแบบแสงที่แสกนได้รวดเร็ว ที่ตำแหน่งอาจจะดูต่ำไปเล็กน้อย แต่ปรับตัวไม่ยากนักครับ

โดยรวมแล้วอาจจะรู้สึกว่าคล้ายกับในรุ่นที่แล้ว แต่ถ้าว่ากันตรง ๆ แค่เรื่องของรีเฟรชเรตที่เพิ่มความเป็น LTPO ที่ประหยัดแบตเตอรี่มากขึ้น ก็ทำให้การใช้งานดีขึ้นแล้วจากแบตเตอรี่ที่ประหยัดขึ้น และขนาดจอที่ใหญ่ขึ้นอีกเล็กน้อย ก็ใหญ่เต็มตาดีด้วย

กล้องถ่ายภาพ

เรื่องของกล้องถ่ายภาพ เป็นส่วนที่อัปเกรดที่สุดของ Nothing Phone(2) แล้วก็ว่าได้ ด้วยเซนเซอร์กล้องถ่ายภาพหลักที่เปลี่ยนจากเซนเซอร์ระดับเรือกลาง (ปีที่แล้ว) อย่าง Sony IMX766 มาเป็นเซนเซอร์เรือธง (ปีนี้) อย่าง Sony IMX890 แทน ซึ่งจะทำให้ภาพถ่ายได้คุณภาพที่ดีขึ้นไปด้วย (แม้จะความละเอียด 50 ล้านพิกเซล f/1.9 เท่าเดิมก็ตาม) รวมถึงกล้องหน้าที่อัปเกรดจาก Sony IMX471 (16 ล้านพิกเซล f/2.45) มาเป็น Sony IMX615 (32 ล้านพิกเซล f/2.45) อีกด้วย ! ด้วยเซนเซอร์ที่ใหม่กว่า และความละเอียดที่มากกว่า ก็จะทำให้สามารถรับแสงได้มากกว่าด้วยนั่นเอง

จะติดนิดหน่อยก็ตรงที่ ตัวกล้องมุมกว้างมาก ยังคงใช้เซนเซอร์เดิมคือ Samsung JN1 (50 ล้านพิกเซล f/2.2) ที่เอาจริง ๆ ก็โผล่มาในสมาร์ตโฟนรุ่นราคาประหยัดบ้างแล้วเช่นเดียวกัน แต่ต้องอย่าลืมว่าการถ่ายภาพที่ดีจะต้องใช้พลังการ Process ภาพจากชิปเซตในตัวเครื่องอย่าง Qualcomm Snapdragon 8+ Gen 1 ด้วย ดังนั้นเราไปลองดูภาพกันดีกว่า (อย่าลืมกดดูภาพใหญ่ด้วยนะ)

ในการถ่ายภาพทั่วไป คือจุดที่เซนเซอร์กล้องหลักแบบเรือธงเฉิดฉายเลยครับ ด้วยกล้องถ่ายภาพที่สามารถเก็บรายละเอียดของภาพได้ดี ผนวกเข้ากับความสามารถในการประมวลผลภาพ ภาพที่ออกมาถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก ๆ ในเรตราคานี้ ทั้งด้านรายละเอียด และสี ซึ่งโปรไฟล์สีของภาพนั้น ว่าตรง ๆ ก็แอบคล้ายคลึงกับใน Google Pixel 7a ที่รีวิวไปก่อนหน้านี้ กล่าวคือ จะมีการเร่งสี และความละเอียดในจุดที่ควรจะเร่ง แต่จะพยายามแต่งภาพให้มีความสดเล็กน้อย พอดูแล้วสวยงาม ไม่เอียงไปเหลืองหรือฟ้ากว่าปกติใด ๆ รวมถึงในสถานการณ์ยาก ๆ เช่นภาพต้นไม้ ดอกไม้ หรืออาหาร ก็จัดการสีได้ไม่ผิดเพี้ยนจากของจริงมากนักนะ !

แต่จากการที่พา Nothing Phone(2) ไปเที่ยวสิงคโปร์มาด้วยนั้น ทำให้พบว่า การชัตเตอร์ของกล้องยังแอบทำได้ช้าในบางสถานการณ์ โดยเฉพาะตอนที่เราล็อกเครื่องอยู่ และกดเข้าแอปฯกล้องถ่ายภาพใหม่เพื่อจะถ่าย กว่าจะสามารถกดถ่ายภาพได้ถือว่าค่อนข้างนานอยู่ ตรงนี้เป็นการบ้านที่ Nothing ต้องแก้กันต่อไปครับ เพราะการถ่ายภาพที่ดี บางครั้งอาจจะต้องอาศัยจังหวะและโอกาสด้วย เพราะบางครั้ง กว่าจะยกกล้องมาถ่ายได้ ก็เสียโอกาสไปแล้ว

ไหน ๆ พูดถึงแอปฯกล้องแล้ว แอปฯกล้องถ่ายภาพที่ Nothing ทำเองก็ค่อนข้างมีตัวตนของตัวเองเหมือนกันนะ ทั้งเรื่องของลายน้ำที่ไม่บอกชื่อรุ่น (ตั้งแต่ Nothing OS 2.0.1 ออกมา) แต่จะบอกเป็นข้อมูลภาพถ่าย บวกกับฟอนต์จุดของ Nothing เอง, เสียงชัตเตอร์ที่โดดเด่นในแบบของตัวเอง (คือล้อไปกับเสียงเรียกเข้าหรือเสียงแจ้งเตือน), UI กล้องถ่ายภาพสีดำตัดกับสีแดง ก็เป็นตัวตนที่ไม่เหมือนใครดีเหมือนกันนะ

ภาพถ่ายมุมกว้างมาก

พอมาถึงการถ่ายภาพมุมกว้างมาก ถ้าเริ่มดูตั้งแต่แอปฯกล้องถ่ายภาพก็จะเห็นเลยว่า ภาพ Preview ของกล้องมุมกว้าง และกว้างมากมีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ความละเอียด สี และมุมภาพ (เพราะตำแหน่งกล้องต่างกัน) ซึ่งผู้เขียนคาดว่าน่าจะมาจากเซนเซอร์กล้องที่แตกต่างกัน ทำให้ภาพถ่ายที่ทำได้ก็ได้สีที่แตกต่างกันไปด้วย

ปกติเราก็จะชอบใช้กล้องถ่ายภาพมุมกว้างมากเพื่อไปถ่ายภาพวิว หรือภาพสถานที่ขนาดใหญ่ ๆ กัน ดังนั้นภาพท้องฟ้าก็สำคัญ ซึ่งภาพมุมกว้างมากของ Nothing Phone(2) ที่ผ่านการประมวลผลมาเรียบร้อยแล้ว ก็ยังเห็นความแตกต่างของสีอยู่ (ลองดูเทียบภาพกันได้) โดยภาพถ่ายมุมกว้างมาก บริเวณขอบ ๆ จะเกิดอาการหลุด ๆ เล็กน้อย แต่คุณภาพถือว่ายังโอเคพอที่จะนำไปใช้ได้แน่นอน

ภาพถ่ายซูม

ทีนี้พอมาเรื่องภาพถ่ายซูม ซึ่งว่ากันตรง ๆ ก็คือ ‘เสียดาย’ เพราะสมาร์ตโฟนรุ่นไหนที่จะขึ้นมาอยู่ในเรตราคาระดับ Lite Flagship หรือเรือธงรุ่นประหยัด อย่างน้อยก็จะต้องมีเลนส์กล้อง ‘เทเลโฟโต้’ บ้างแล้ว แต่ใน Nothing Phone(2) แม้ราคาจะขึ้นมา ขยับสเปกขึ้นมาเป็นเรือธง แต่ก็ยังขาดกล้องเทเลโฟโต้อยู่ ซึ่งคาร์ล เพ่ย เคยให้สัมภาษณ์ ว่าเขาไม่ยอมที่จะใส่กล้องเซนเซอร์ใหญ่ ๆ (แม้ในกล้องหลัก) เพื่อให้การดีไซน์ยังดูแตกต่างอยู่ได้ เพราะถ้าใช้กล้องเซนเซอร์ใหญ่ไปหมด อาจจะทำให้โมดูลกล้องหลังดูใหญ่ เทอะทะ และเริ่มดีไซน์เหมือนกันไปจนหมด

ดังนั้นกล้องของ Nothing Phone(2) จะมีข้อสังเกตก็ตรงการซูมนี่แหละครับ เพราะเดี๋ยวนี้เราใช้งานกล้องเพื่อการซูมมากขึ้นเแล้ว ตั้งแต่การไปดูคอนเสิร์ท ร่วมงานกิจกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงแค่อยากซูมดูรายละเอียดของสิ่งของ หรือจัดเฟรมของภาพให้สวยงาม ก็อาจจะทำให้เราต้องใช้การซูมแล้ว ดังนั้น Nothing Phone(2) ที่ไม่มีเลนส์ซูมเลยจะถ่ายภาพซูมได้แค่ 10 เท่าเท่านั้น (แต่หวังผลจากการซูมดี ๆ ได้ไม่เกิน 5 เท่าเท่านั้น เพราะภาพใช้การครอปภาพจากกล้องถ่ายภาพหลักแทน)

โดยส่วนตัวแล้วมองว่ากล้องเทเลโฟโต้ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นค่อนข้างมาก ดังนั้นการตัดกล้องเทเลโฟโต้ออกโดยเฉพาะในเรตราคาประมาณนี้ก็น่าจะมีกล้องเทเลโฟโต้หน่อยน่าจะดีกว่า บางครั้งการใช้งานอาจจะจำเป็นกว่าการดีไซน์ก็ได้

ภาพบุคคล

ทีนี้เรามาลองดูภาพถ่ายบุคคลกันบ้างครับ ด้วยความที่ตัวกล้องไม่มีเซนเซอร์กล้องถ่ายภาพซูมโดยเฉพาะ ทำให้ภาพบุคคลสามารถถ่ายที่ระยะ 1 เท่า และ 2 เท่าเท่านั้น ตามภาพเลย

ซึ่งคุณภาพของภาพบุคคลนั้นถือว่าซอฟต์แวร์ของกล้อง ทำสกินโทนและเก็บรายละเอียดของภาพบุคคลได้ดี รวมถึงการตัดขอบด้วยซอฟต์แวร์ที่ทำได้อย่างเป็นธรรมชาติค่อนข้างมาก กล่าวคือพอจะสามารถถ่ายแล้วนำไปใช้ได้เลย แต่ภาพจะเน้นเรื่องของการ ‘เห็นอย่างไร ภาพแบบนั้น’ มากกว่า ยกเว้นในเรื่องของการตัดขอบ ที่การตัดขอบบนหน้าจอแอปฯ กล้องยังไม่ดีนัก ยังเห็นการตัดขอบที่ไม่ได้ดีนัก แถมยังชัตเตอร์ได้ไม่เร็วนักในการถ่าย ซึ่งจะทำให้ภาพของแบบที่ถ่าย ได้ภาพออกมาไม่ตรงกับที่เราต้องการได้

ลองดูตัวอย่างภาพที่เราได้ลองถ่ายนางแบบมาดูนะครับ เราได้ลองถ่ายภาพผสมกันระหว่างการใช้ระยะ 1x และ 2x และตั้งค่าการเบลอฉากหลังที่ f/5.6 (ตามที่แอปฯ แนะนำ) ตลอดทุกภาพ

ในสภาพแสงที่ต่างกัน ถือว่ายังสามารถจัดการเรื่องของสีและรายละเอียดของภาพได้อย่างดี ไม่มีการหลุด หรือผิดเพี้ยนใด ๆ มากนัก

อีกฟีเจอร์ที่น่าสนใจคือ เราสามารถเปิดไฟ Glyph ด้านหลังเพื่อใช้แทนไฟสำหรับซอฟต์ผิวหน้า หรือที่เรียกกันว่า ‘Ring Light’ ส่องเข้าหน้าของผู้ถูกถ่ายได้ด้วย แต่ว่า ด้วยความแรงของไฟที่ไม่แรงมากนัก ทำให้ระยะที่ไฟจะสามารถส่องและเห็นผลได้ จะต้องถ่ายค่อนข้างใกล้เล็กน้อย

จุดนี้เองที่อยากจะให้ลองดูความหมายของคำว่า ‘เห็นอย่างไร ภาพแบบนั้น’ กล่าวคือ ถ้าแบบลักษณะใบหน้าเป็นอย่างไร ก็จะไม่มีการบิวตี้ให้กับภาพใด ๆ ไปด้วยนั่นเอง ดังนั้นก่อนถ่ายอย่าลืมเช็ดหน้านางแบบให้ดีก่อน (อย่าทำแบบผู้เขียน)

ภาพถ่ายกลางคืน

ในการถ่ายภาพกลางคืน ก็เป็นอีกอย่างที่เหมือนจะว่าดีก็ดี จะว่าแปลก ๆ ก็ยังแอบแปลก ๆ อยู่บ้างเหมือนกัน คือใช้เวลาถ่ายที่ไม่นานนัก ในแต่ละช็อต แต่จะต้องแลกมาด้วยอาการ Bleed ของแสงที่เข้ามาในภาพ ทำให้ถ้าถ่ายภาพกลางคืนที่มีดวงไฟในภาพ หรือถ่ายตึกเวลากลางคืน อาจจะเจอเข้ากับแสงที่ลอดเข้ามาในตัวภาพได้ แต่เรื่องความสว่าง รายละเอียด และอื่น ๆ ถือว่าทำได้ดีเลยทีเดียว

ส่วนการถ่ายภาพกลางคืนเทียบกันระหว่างกล้องมุมกว้างมากและกล้องถ่ายภาพหลัก ถือว่ายังไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญนัก แต่ยังคงเจอปัญหาเดียวกันด้านแสงที่ลอดเข้ามาในภาพอยู่

เซลฟี่

ส่วนการถ่ายเซลฟี่ด้วยกล้องหน้าที่เพิ่มความละเอียดเข้ามา ถือว่าทำได้ดีไม่แพ้กล้องหลังนะ อย่างแรกคือ ในที่สุด Nothing ก็ตัดสินใจเอากล้องหน้ามาไว้ตรงกลางบนของหน้าจอจนได้ ตรงนี้มีผลค่อนข้างมากเมื่อถ่ายเซลฟี่ ซึ่งกล้องที่อยู่ตรงกลางจะทำให้ตาของแบบไม่หลุดเวลาถ่ายเซลฟี่เพราะไม่ต้องมองต่ำลงไปหากล้องหน้านั่นเอง

ส่วนคุณภาพของภาพ ก็ให้สีสัน รายละเอียดที่ค่อนข้างโอเค แต่จะมีหลุด ๆ โฟกัสบ้าง ถ้าถ่ายในที่แสงน้อยหน่อย แล้วมือเราไม่นิ่งพอครับ แต่เอาไปถ่ายแล้วใช้งานได้เลย โหมด Portrait ก็ตัดขอบได้ค่อนข้างโอเคด้วย

วิดีโอ

ด้านการถ่ายวิดีโอ Nothing Phone(2) สามารถถ่ายวิดีโอได้ความละเอียดสูงสุดที่ 4K 60FPS ครับ ซึ่งถือว่าทำภาพ สี เก็บรายละเอียด คอนทราสต์ต่าง ๆ ได้ดี ภาพไม่มีสะดุดแม้จะถ่ายเป็นเวลานานหน่อยก็ตามครับ

ส่วนการถ่ายวิดีโอเวลากลางคืนก็ทำได้ดีไม่แพ้ภาพถ่ายกลางคืนครับ แต่ที่น่าสนใจคือ แสงมันไม่ Bleed มากเท่าการถ่ายภาพกลางคืนเสียอย่างนั้น ไม่แน่ว่า Nothing อาจจะนำเรื่องการถ่ายภาพกลางคืนไปแก้ และทำให้ถ่ายภาพกลางคืนได้ดีกว่านี้ก็ได้นะ

สเปก ประสิทธิภาพ และการเล่นเกม

สเปกภายในของ Nothing Phone(2) เองก็จัดมาเป็นชิปเซตเรือธงเหมือนกัน (แต่เป็นเรือธงปลายปีที่แล้วนะ) อย่าง Qualcomm Snapdragon 8+ Gen 1 ซึ่งเป็นรุ่นที่ประหยัดพลังงานกว่า ร้อนน้อยกว่าเวอร์ชัน 8 Gen 1 ธรรมดาค่อนข้างเยอะ ซึ่งเอาจริง ๆ ในเรตราคานี้ ก็มักจะเห็นชิปเซต Snapdragon 8+ Gen 1 แบบนี้แหละ ถ้าเป็นปีที่แล้วล่ะก็นะ

ในปีนี้ ชิปเซตระดับ Snapdragon 8+ Gen 1 ที่เห็นวางขายในตลาดไทยก็มีอยู่อีกแค่ 1-2 รุ่นเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่า Snapdragon 8+ Gen 1 เป็นชิปเซตที่ไม่ดีนะ แต่ Snapdragon 8 Gen 2 ที่เย็นกว่า และแรงกว่า มีวางจำหน่ายในตลาดไทย ในราคาที่สูสีกันอยู่ค่อนข้างมากแล้วในตอนนี้

ส่วนสเปกด้านอื่น ๆ จัดว่าให้มาดีมาก ๆ เลยทีเดียว กับ RAM ขนาด 12GB (จริง ๆ มี 8GB ด้วยแต่ในไทยขายแค่ขนาด 12GB นะ) ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว สเปกก็ถือว่าให้มาค่อนข้างคุ้ม และเยอะเลยดีเทียว เพราะ 256GB สำหรับความจุเริ่มต้น ถือว่าเพียงพอแน่นอนสำหรับหลาย ๆ คนในปี 2023 นี้ (โดยไม่ต้องเพิ่ม Micro SD Card เพราะไม่รองรับให้เพิ่มนะ)

ทีนี้เรามาลองดูผลคะแนนกันบ้าง

การทดสอบ Geekbench 6.1.0 ได้ให้คะแนน Single Core อยู่ที่ 1737 คะแนน และ Multi Core อยู่ที่ 4573 คะแนน ส่วนการทดสอบบน 3D Mark ชุด Wild Life Stress Test ที่ปกติแบไต๋เราชอบเอามาทดสอบประสิทธิภาพกัน จะได้คะแนนสูงสุดอยู่ที่ 10,253 คะแนน และนิ่งที่ 60.9 % เท่านั้น ถามว่าเป็นคะแนนที่เยอะไหม จัดว่าค่อนข้างดีเลยทีเดียว แม้จะไม่ตรงตามมาตรฐานสมาร์ตโฟนเรือธงในปีนี้เท่าไหร่นัก แต่ผู้เขียนมั่นใจได้เลยว่า การใช้งานทั่วไป ไปจนถึงเล่นเกมสามารถให้ประสบการณ์ที่ดีได้แน่นอน (เพราะก็เล่นมาหลายเกมอยู่ ฮา)

พูดถึงเล่นเกม การทดสอบเกมที่หนักหน่วงที่สุดอย่าง Genshin Impact ที่เราตั้งค่าเอาไว้สูงสุด และตั้งเฟรมเรตไว้ 60FPS ตัวเครื่องตอนเล่นจะค่อย ๆ อุ่นขึ้นเร็วเล็กน้อย ซึ่ง Game Dashboard แบบที่เราเห็นใน Gogle Pixel ก็แสดงให้เห็นเฟรมเรตของเกมอยู่ที่ไม่เกิน 50FPS ตอนเดินทางเฉย ๆ และจะดรอปไปเหลือประมาณ 35-45 FPS เมื่อเจอไฟต์ในเกมครับ

ส่วนเกมมหาชนอย่าง RoV ก็สามารถตั้งค่าสูงสุด, HD สูงมาก และเฟรมเรตสูง และเล่นที่เฟรมเรต 60FPS นิ่ง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเจอไฟต์หนักแค่ไหนก็หายห่วงได้เลยครับ ตอบสนองไวแน่นอน

โดยระหว่างเล่นเกม ก็มีฟีเจอร์ที่น่าสนใจก็คือตัวเครื่องมี ‘Game Mode’ ที่ไม่ได้มีเพื่อเร่งประสิทธิภาพเครื่อง แต่ปิดกั้นการแจ้งเตือนให้อยู่ในระดับที่พอดี (คือไม่ใหญ่บังจอ) รวมถึงการปิดการสัมผัสหน้าจอแบบไม่ตั้งใจ (ไม่ให้ลั่นแตะหน้าจอ) และยังมี Game colour plus เพื่อให้แสดงสีในเกมให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณที่มืดอีกด้วย แม้ส่วนตัวจะยังไม่เห็นผลมาก แต่เป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์ไม่น้อยเลยครับ

ประสบการณ์การใช้งาน

แต่อีกเรื่องที่ Nothing สามารถทำได้ดีมาก ๆ โดยเฉพาะในบ้านเรา ที่ไม่มีสมาร์ตโฟน ‘Pixel’ วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในไทยแล้ว คือเรื่องของซอฟต์แวร์ หรือ ‘รอม’ อย่างที่สาย Geek ชอบเรียกกัน คือต้องบอกก่อนว่า Nothing OS นั้น เป็น Android ที่มีพื้นฐานมาจาก AOSP หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือ Pure Android ที่เราเคยได้ยินกันนั่นแหละครับ แต่ได้มีการเพิ่มเติมดีไซน์ ฟีเจอร์ต่าง ๆ อีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

พอสีสวย ผู้เขียนก็อยากแต่งหน้าจอหลักมากขึ้นไปด้วยเลย

ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เราเห็นไม่บ่อยนักในแบรนด์สมาร์ตโฟน เนื่องจากการออกแบบสกิน หรือ UI/UX ในแบบของตัวเอง จะสร้างความโดดเด่นของแบรนด์ได้มากกว่า แต่ก็ต้องแลกกับทรัพยากรที่ใช้เพิ่มขึ้น การที่ใช้ Android ที่มีการปรับแต่งน้อย รวมไปถึงการใส่ ‘แอปฯติดเครื่อง’ ที่น้อยมาก ๆ ทำให้ซอฟต์แวร์ของ Nothing เข้าใกล้ความเป็น Pure Android ค่อนข้างมากเลยทีเดียว ทำให้ซอฟต์แวร์ของ Nothing เรียกสั้น ๆ ว่า ‘ลื่นไหล แต่ไม่หวือหวา’

แต่พูดถึงความโดดเด่น เป็นตัวของตัวเอง นี่แหละคือสิ่งที่ Nothing OS 2.0 เฉิดฉาย เนื่องจากหน้าจอหลักของ Nothing OS นั้นโดดเด่นขึ้นมาทันตาเลย ด้วยฟีเจอร์หน้าโฮมแบบใหม่ ที่เกิดจากการรวม ‘Widget ในแบบของ Nothing’ เข้ากับ ‘การแต่งสีไอคอน’ ซึ่งจะทำให้หน้าจอหลักของเราลดความสดใสลง เหลือเพียงแค่สีขาว-ดำเท่านั้น แถมยังลบป้ายกำกับชื่อแอปฯออกอีกด้วย นอกจากนั้น ยังสามารถตกแต่งโฟลเดอร์ให้เป็นขนาดใหญ่-เล็ก และเปลี่ยนไอคอนของโฟลเดอร์เป็นไอคอน หรืออิโมจิที่เราอยากได้ก็ได้ด้วย

แล้วเขาทำแบบนี้ไปทำไม ?

คาร์ล เพ่ยบอกในตอนเปิดตัวว่า การทำแบบนี้ ทำให้เราสามารถลดเวลาหน้าจอลงได้พอสมควร โดยเฉพาะ เมื่อเราทำให้ทุก ๆ ไอคอนอยู่ในสีเดียวกันไปหมด (คือขาวและดำ) ก็ทำให้เราอยากกดเข้าแอปฯน้อยลง แล้วยังมีวิดเจ็ตอื่น ๆ ที่สามารถกดเข้าไปเพื่อใช้งานโทรศัพท์ได้โดยไม่ต้องเข้าแอปฯ เข้ามา ที่จะลดความจำเป็นในการปลดล็อคโทรศัพท์ได้อีก !

ถามว่าไอเดียดีไหม ดีมาก, สวยไหม สวยมาก ๆ, แล้วได้ผลไหม คำตอบคือค่อนข้างได้ผลครับ กล่าวคือ มันทำให้เราลดเวลาหน้าจอได้จริง ๆ เพราะเราหาไอคอนแอปฯ ไม่เจอแทน ! โดยเฉพาะที่เราลบชื่อแอปฯออก จะยิ่งทำให้หายากขึ้นมาเลย (ฮา) แต่ความเคยชินของเรา จะทำให้หาแอปฯได้ง่ายขึ้นแน่นอน

แต่ในมุมของผู้เขียน UI และ UX แบบนี้ทำให้ผู้เขียนชอบมากกว่า UI ของสมาร์ตโฟนเครื่องหลัก หรือสี Accent และ ‘Themed Icons’ ในสมาร์ตโฟน Pixel ทำให้อยากตกแต่งหน้าจอมากกว่าเดิมเสียอย่างนั้น แถม Nothing ยังแก้ปัญหาเรื่อง ‘ไอคอนบางแอปฯไม่เปลี่ยนสี’ แบบที่เจอในสมาร์ตโฟน Pixel ด้วย ‘Icon Pack’ ของ Nothing เอง ที่จะเปลี่ยนไอคอนของทุก ๆ แอปฯ ในเครื่องให้เป็นสีขาวดำ

แม้กระทั่งหน้าจอล็อกเอง ก็สามารถใส่ Widget หน้าจอล็อกเหมือนกับกับในหน้าจอหลักก็ได้นะ (แม้ผู้เขียนจะชอบแบบไม่มีมากกว่าก็ตาม)

โดยภาพรวมแล้ว ซอฟต์แวร์ของ Nothing ที่แม้จะปรับแต่งจาก AOSP เพียงเล็กน้อย แต่ถือว่าทำออกมาได้น่าพอใจเลย นอกจากจะรอมเสถียร สวยงาม มีตัวตนแล้ว ยังถูกจริต ‘Aesthetic’ ของผู้เขียนด้วย (ฮา)

แบตเตอรี่

พาร์ตสุดท้ายคือเรื่องของแบตเตอรี่ครับ คือ Nothing Phone(2) เป็นสมาร์ตโฟนที่ให้แบตเตอรี่มาเหมือนจะน้อย เพราะให้มาที่ 4,700 mAh เท่านั้น (น่าจะให้ 5,000 mAh เลยน้า) แต่กลับกลายเป็นว่า เป็น 1 ในสมาร์ตโฟนที่แบตเตอรี่อึดมากเลยนะครับ เพราะด้วยความที่ตัวเครื่องไม่มีแอปฯ อะไรรันอยู่ในพื้นหลังมาก ประกอบกับซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้กินพลังงานมากนัก ทำให้ตัวเครื่องอยู่ในระดับที่แบตอึดโอเคเลย จะไม่โอเคตรงที่ ตอนตัวเครื่องเจอแสงแดด แบตเตอรี่จะลดเร็วหน่อย เพราะเครื่องร้อนจากอากาศประเทศไทยนี่แหละครับ

เราลองนำไปใช้จริงจนแบตเกือบหมดเกลี้ยง (9%) ก็สามารถใช้งานทั่วไปแบบไม่เล่นเกม, เน้นเข้าโซเชียล ถ่ายภาพ และเปิด 5G ล้วน ๆ (มีหลุดไป 4G, 3G บ้างตามพื้นที่) ก็จะได้ Screen On Time อยู่ที่ 5 ชั่วโมง 4 นาที ! เอาจริง ๆ ถือว่าค่อนข้างเยอะมาก สำหรับสมาร์ตโฟนระดับเรือธงระดับนี้ (เพราะรวมปิดหน้าจอด้วยก็คือประมาณ 14 ชั่วโมง หมดวันเลยนะ !)

ดังนั้นเรื่องการใช้แบตเตอรี่ถือว่าหายห่วงได้เลยครับ แถมถ้าจะชาร์จกลับ ก็สามารถชาร์จได้เร็วสุดถึง 45W ผ่าน PD ได้ครับ (แต่ไม่แถมหัวชาร์จมาให้นะ ต้องซื้อแยกเอา) ส่วนถ้าอยากจะชาร์จแบบไร้สายก็ได้เช่นกัน และชาร์จไร้สายได้ 15W ครับ แถมปล่อยไฟกลับได้ 5W สำหรับชาร์จหูฟังไร้สายอย่าง Nothing Ear Series ก็ได้ด้วยนะ (แถมมีไฟโชว์เท่ ๆ ตอนชาร์จกลับด้วย)

สรุปส่งท้าย

ท้ายที่สุดแล้ว Nothing Phone(2) คือสมาร์ตโฟนที่ดีอีกรุ่นหนึ่ง เป็นสมาร์ตโฟนที่นอกจากจะเหมาะกับผู้ที่ต้องการความแตกต่างในวงการสมาร์ตโฟน หรืออยากมีตัวตนที่เป็นของตัวเอง ในขณะที่ยังให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีมาก ๆ อีกด้วย ด้วยสเปกที่ดีขึ้นจากรุ่นก่อน ความสามารถในการใช้งานไฟ Glyph Interface ที่มากขึ้น ดังนั้น Nothing Phone (2) จึงเป็นสมาร์ตโฟนอีกรุ่นที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรักได้แน่นอน จะติดเล็กน้อยก็ตรงที่ตัวเครื่องยังสามารถไปต่อได้มากกว่านี้ สเปกใส่สุดได้มากกว่านี้ และยังดีมากกว่านี้ได้ เช่นชิปเซตที่น่าจะเป็นเรือธงปีนี้ หรืออย่างกล้องที่น่าจะเพิ่มกล้องถ่ายภาพซูมอีกเลนส์เพื่อให้ถ่ายภาพซูมได้ดีขึ้น

ในอีกมุมหนึ่ง เราก็น่าเอาใจช่วยคาร์ล เพ่ย อยู่เหมือนกัน กับสมาร์ตโฟนที่เพิ่งจะเป็นรุ่นที่ 2 ของค่าย แต่สามารถมัดใจใครหลาย ๆ คน ทั้งผู้เขียนเอง และคนอื่น ๆ ในชุมชนคนใช้ Nothing ขณะที่กำลังเขียนรีวิวนี้ เอาไว้ได้ ไม่แน่นะ สมาร์ตโฟนรุ่นต่อไปอย่าง Nothing Phone(3) หรือรุ่นอื่น ๆ ในอนาคต อาจจะเป็นสมาร์ตโฟนที่เพอร์เฟคสำหรับหลาย ๆ คนก็ได้

เพราะตอนนี้ก็เพอร์เฟคสำหรับใครบางคนแล้วเหมือนกัน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง