กรมการแพทย์ พลิกวิกฤต “โควิด-19” ให้เป็นโอกาส เตรียมเข้าสู่แนวทางการแพทย์วิถีใหม่
กรมการแพทย์ พลิกวิกฤต “โควิด-19” ให้เป็นโอกาส เตรียมเข้าสู่แนวทางการแพทย์วิถีใหม่
พลิกวิกฤติเป็นโอกาส เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุ ในภาวะโควิด-10 ระบาด เพื่อนำไปสู่ The new normal medical service หรือเรียกว่า การแพทย์วิถีใหม่ ขณะนี้สถานการณ์ของประเทศไทยโดยจะพบผู้ป่วยมากที่สุดจะอยู่ในวัยทำงาน คือ ช่วงอายุ 20 – 50 ปี แต่กลุ่มที่มีการเสียชีวิตมากที่สุดคือกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 12 และกลุ่มอายุ 80-84 มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 24 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มอื่นมาก ดังนั้นจะต้องมีมาตรการป้องกันจะมุ่งเน้น 2 ส่วนคือ 1.ป้องกันการติดเชื้อ และ 2.ป้องกันการถดถอยของร่างกายและสมอง เนื่องจากการเก็บตัวอยู่บ้านเป็นเวลานาน กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต และกรมอนามัย จึงแนะนำแนวทาง “5 อ.” คือ
1.อาหาร เน้นอาหารครบ 5 หมู่ ปรุงสุกใหม่ เลี่ยงอาหารหวานและเค็ม เพิ่มโปรตีนให้มากขึ้นและรักษาสุขภาพช่องปาก 2.อารมณ์ พยายามอย่าให้เครียด มีผู้รู้ใจคอยรับฟังหรือระบายอารมณ์ได้ ติดตามข่าวสารอย่างพอสมควร หากิจกรรมที่ตนเองชอบ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ 3.ออกกำลังกาย เน้นออกกำลังกายภายในบ้าน และจะต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามสภาพร่างกายและสมองของผู้สูงอายุ และเพิ่มอีก 2 อ. คือ 4.เอนกายพักผ่อน จะต้องนอนให้ครบ 7- 9 ชั่วโมง/วัน และ 5.ออกห่างสังคมนอกบ้าน โดยผู้สูงอายุจะต้องอยู่บ้านให้มากที่สุด เว้นระยะห่างกับผู้คนในบ้านระยะ 2 เมตร หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ หากจำเป็นต้องออกจากบ้านจะต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัยป้องกัน พกเจลแอลกอฮอล์สำหรับการล้างมือ
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญสำหรับการดูแลผู้ป่วยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มช่วยเหลือตนเองได้ดี(Ative) เป็นกลุ่มที่ร่างกายดูเหมือนปกติแต่พลังสำรองร่างกายน้อยกว่ากลุ่มอื่น จึงมีโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มวัยอื่น พร้อมทั้งคนกลุ่มนี้มักจะมีกิจกรรมนอกบ้าน ดังนั้นควรจะเก็บตัวอยู่บ้านให้มากขึ้น 2.กลุ่มติดบ้าน ค่อนข้างจะปลอดภัยแต่ก็ต้องระวังตัว เนื่องจากคนในครอบครัวสามารถนำเสนอจากภายนอกเข้ามาติดในบ้านได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เพราะมักจะแสดงอาการน้อย การระวังตัวต่ำและผู้สูงอายุมักเอ็นดคลุกคลี
3.กลุ่มติดเตียง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยๆ คือ กลุ่มดูแลที่บ้าน ผู้ดูแลใกล้ชิดจะต้องดูแลอย่างระวัง การป้องกันอย่าให้มีการติดเชื้อไปยังผู้สูงอายุ หากมีการผลัดเปลี่ยนพนักงานดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ จะต้องมีการคัดกรองและตรวจสอบว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ รวมถึงการจัดเตรียมอุปกรณ์ล้างมือในบ้านให้พร้อมสำหรับใช้งาน และกลุ่มดูแลที่สถานดูแลผู้สูงอายุ(NursingHome) จะต้องมีการคัดกรองผู้เข้าเยี่ยม คัดกรองบุคลากร ล้างมือก่อนสัมผัสกับผู้สูงอายุทุกครั้ง เฝ้าระวังผู้สูงอายุว่าหากมีอาการต้องสงสัยติดเชื้อจะต้องแยกห้อง แยกของใช้ และรีบพบแพทย์ทันที
นอกจากนี้ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ผู้สูงอายุอาการอาจไม่ตรงไปตรงมา ควรจะสังเกตอาการดังนี้ หายใจเร็ว หรือ หอบ อ่อนเพลีย เบื่ออาหารหรือรับอาหารทางสายยางไม่ได้ ซึมและสับสนเฉียบพลัน ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลงอย่างรวดเร็ว
“ในการดูแลผู้สูงอายุ จะต้องสังเกตอาการมากกว่าคนวัยอื่น เนื่องจากหากสูงอายุมากๆ ภูมิต้านทานอาจจะไม่ดี บางครั้งอาการอาจจะไม่ชัด อาจจะไม่มีไข้ ตัวไม่ร้อน ไอไม่ชัด บอกว่าไม่ได้เจ็บคอ รวมถึงหายใจไม่เร็ว ดังนั้นจะต้องสังเกตจากอาการอื่น เช่น กินข้าวได้น้อยลงหรือไม่ อารมณ์ ความรู้สึกเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากพบอาการป่วยแต่ยังไม่อยากไปโรงพยาบาล(รพ.) หากอยู่ในต่างจังหวัด ให้โทรถามทาง รพ.ต้นสังกัด หากอยู่ในกรุงเทพมหานคร(กทม.) ให้โทรถามสายด้วยกรมการแพทย์ 1668 หรือ สายด่วนศูนย์นเรนทร 1669” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง ที่ไม่ได้ออกจากบ้านแต่จะต้องมีการเข้ารับยาประจำ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการทั่วไปดี คงที่ ผลการตรวจล่าสุดไม่มีปัญหา จะใช้แนวทาง ส่งยาถึงบ้านทางไปรษณีย์ รับยาร้านยาใกล้บ้าน เลื่อนนัดให้นานขึ้น และให้คำปรึกษาทางไกล 2.กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการแย่ลง ผลการตรวจล่าสุดมีปัญหา ใช้มาตรการมาตรวจตามนัด ให้คำปรึกษาทางไกล และ 3.กลุ่มผู้ป่วยที่เจ็บป่วยรุนแรงฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการในห้องฉุกเฉินตามปกติ โดยจะมีการคัดกรองอย่างเข้มงวดกว่าปกติ
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ในการปรับ The new normal medical service หรือ การแพทย์วิถีใหม่ ด้วยแนวคิด พลิกวิกฤตสู่โอกาส โดยจะใช้แนวทางที่เกี่ยวกับผู้ป่วย คือ 1.ระบบแบ่งกลุ่มและจัดบริการตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล เพื่อให้ผู้ป่วยประเมินตนเองว่าควรจะไป รพ.หรือไม่ การรับยาต่อเนื่อง หรือความจำเป็นในการเดินทางไป รพ. และเพิ่มช่องทางการให้บริการ 2.ระบบข้อมูลด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับรู้ข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการระหว่าง รพ. ในระดับ รพ.ศูนย์ รพ.ชุมชน รพ.ต่างจังหวัด หรือสถาบันเฉพาะทางของกรมการแพทย์ และ 3.ระบบสนับสนุนการดูแลตนเองของผู้ป่วย โดยจะต้องนำข้อมูลจาก รพ.ต่างๆ นำมาใช้ในรูปแบบของแอพพลิเคชั่นเฉพาะ ที่ผู้ป่วยสามารถตรวจสอบข้อมูลประเมินอาการป่วยของตนเองได้ว่าควรไปพบแพทย์หรือไม่ รวมถึงการทำระบบติดตามผู้ป่วย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนแนวทางที่เกี่ยวกับสถานพยาบาล คือ การจัดการเตียงร่วมกัน เนื่องจากภาวะของการระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ทาง รพ.ของกรมการแพทย์ รพ.ของกทม. รพ.ของส่วนต่างๆ มีการบริหารจัดการเตียงร่วมกัน การใช้แอพพลิเคชั่นในการดูแลผู้ป่วย การลงทะเบียนออนไลน์ นัดหมายล่วงหน้า การทำห้องปฏิบัติการ(แล็บ)เคลื่อนที่ การรับยาใกล้บ้านหรือระบบขนส่งไปรษณีย์ ป้องกันการแพร่เชื้อใน รพ. เมื่อผู้ป่วยจะต้องเข้ารับบริการ ในส่วนนี้มีการเริ่มดำเนินการลำดับดังนี้ ห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน ห้องผู้ป่วยทั่วไปที่มีการแยกคลินิกโรคไข้หวัดออกจากผู้ป่วยทั่วไป เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
“ทั้งหลาย ทั้งปวงนี้จะส่งผลต่อเนื่องในการลดความแออัดใน รพ. และลดการแพร่กระจายเชื้อในสถานพยาบาล โดยจะเป็นความคิดรวบยอด เป็นเป้าหมายปลายทางของ The new normal medical service หรือ การแพทย์วิถีใหม่ ซึ่งเป็นการพลิกวกฤตให้เป็นโอกาส” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ทางกรมการแพทย์มีเป้าหมายคือ การเปลี่ยนจาก Hospital Based medical service ที่ผู้ป่วยจะต้องเดินทางไป รพ. โดยจะเปลี่ยนเป็น Personal Based medical service โดยให้เป็นการดูแล รับบริการสุขภาพได้ที่บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางมาที่ รพ. เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการรับเชื้อ แต่ยังสามารถมีสุขภาพที่ดีได้