ตรวจน้ำลายผู้ค้าตลาด 1.2 หมื่น พบ 14 ราย ติดโควิด-19 สัปดาห์หน้าค้นอีก 1.8 หมื่นราย
เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) แถลงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 พื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า การระบาดรอบใหม่ในกรุงเทพฯ มีความต่างจากรอบแรก เปรียบเทียบกันพบว่า จำนวนผู้ป่วยในรอบสองยังไม่สูงพีคเท่ากับรอบแรก ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนและเฝ้าระวังโรค (PUI) ที่ไม่ต่ำก็แสดงให้เห็นว่าระบบเฝ้าระวังในพื้นที่ยังตรวจจับได้ดี ไม่ได้ลดการเฝ้าระวัง และผู้ป่วยรอบแรก ติดเชื้อไม่มีอาการร้อยละ 29 ส่วนรอบสองสูงถึงร้อยละ 49
นพ.วิชาญ กล่าวว่า จุดเสี่ยงสำคัญของกรุงเทพฯ คือ ตลาด เพราะมีความเชื่อมโยงกับพ่อค้าแม่ค้า นำสินค้าจาก จ.สมุทรสาคร มา จึงสำรวจไปแล้ว 117 แห่ง โดยตั้งเป้าว่าผู้ค้าทุกรายที่มาจากตลาดที่มีความสี่ยง ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อทางน้ำลาย และปัจจุบันได้ตรวจไปแล้วราว 12,000 ราย ซึ่งเราพบผู้ป่วย 14 ราย สัปดาห์นี้จะเก็บเพิ่มอีก 18,000 ราย ให้ครอบคลุมทั้งหมด ส่วนมาตรการกลุ่มแรงงานข้ามชาติ มีด่านตรวจไม่ให้เคลื่อนย้าย และสำรวจพื้นที่มีแรงงานอาศัยอยู่มาก วางแผนเพื่อเฝ้าระวังสุ่มสำรวจในโรงงานต่างๆ ทั้งนี้จะนำเสนอต่อ ศปค.กทม. พิจารณาต่อไป
นพ.วิชาญ กล่าวว่า ในการระบาดรอบใหม่ในกรุงเทพฯ กราฟไม่ได้ชันมาก แต่ยังไม่รายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีคลัสเตอร์ (Cluster) ที่สำคัญคือ เชื่อมโยง จ.สมุทรสาคร พบตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม และค่อยๆ ลดลงและในช่วงท้ายดูเหมือนเพิ่มขึ้นจากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก สถานบันเทิงที่มี 3 เวฟ คือ ย่านปิ่นเกล้า ธนบุรี และบางนา และสำคัญคือ เริ่มพบประปรายในครอบครัว หน่วยงานและองค์กร แต่พบต่อเนื่อง จึงต้องย้ำมาตรการเฝ้าระวังเหตุการณ์ผิดปกติในสถานประกอบอย่างเข้มข้น ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ตรวจจับและยุติการระบาดให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ภาพรวมยังถือว่าคงตัว แต่ไม่สามารถวางใจได้ ต้องดำเนินการเฝ้าระวังเข้มข้นในทุกจุดต่อไป
นพ.วิชาญ กล่าวว่า ตัวอย่างการระบาดทีมีความเชื่อมโยงหลายพื้นที่ เช่น ผู้ป่วยรายแรกได้เข้าไปบ่อนพัทยา หลังจากนั้นเข้ามาในกรุงเทพฯ และมี 1 ราย นำเชื้อไปติดในบุคลากรทางการแพทย์ห้องฉุกเฉิน นอกจากนั้นในกลุ่มเดียวกันได้ไปเที่ยวสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็ไปแพร่เชื้อต่อในสถานบันเทิงอื่นในกรุงเทพฯ และ จ.เชียงใหม่ จะเห็นได้ว่ามีความเชื่อมโยงกันในหลายจุดพื้นที่ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ผู้ป่วยนักเที่ยว นำเชื้อไปติดในพนักงานสถานบันเทิง นำเชื้อไปแพร่ต่อให้คนใกล้ชิด/ครอบครัว และผู้ใช้บริการในสถานบันเทิง จะเห็นได้ว่าผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเดินทางไปหลายที่ก็แพร่กระจายเชื้อรวดเร็ว
“เราถอดบทเรียนจากสถานประกอบการ สถานบันเทิง ที่มีความแออัด มีความสามารถแพร่เชื้อสูง ติดเชื้อจากการไปมาหาสู่กัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องได้รับการกักตัว 14 วัน เพื่อไม่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น มาตรการที่สำนักอนามัย กทม. ร่วมกับกรมควบคุมโรค สธ. ดำเนินการไปแล้ว 1.ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ได้เฝ้าระวังเข้มข้น ทั้งในชุมชนและต่างด้าว 2.ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทุกราย ต้องติดตาม100% ขณะนี้มีมากกว่า 2,000 ราย และ 3.จัดทำซิงเกิ้ลแพลนในการสอบสวนโรค โดยเฉพาะการระบาดขนาดใหญ่หรือพบผู้ป่วยข้ามเขต ไม่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ” นพ.วิชาญ กล่าว