รีเซต

กู้ตะพึดตะพือ! ปี 64 เปิดแผนรัฐก่อหนี้ กว่าล้านล้าน ทุบสถิติประวัติศาสตร์ชาติ

กู้ตะพึดตะพือ! ปี 64 เปิดแผนรัฐก่อหนี้ กว่าล้านล้าน ทุบสถิติประวัติศาสตร์ชาติ
ข่าวสด
12 ตุลาคม 2563 ( 09:19 )
134

รัฐบาลกู้สนั่น ปี 2564 แตะ 3 ล้านล้านบาท! เป็นการก่อหนี้ใหม่ ทุบประวัติศาสตร์ 1.64 ล้านล้านบาท พร้อมสั่งติดตาม แผนลงทุนที่ล่าช้า

วันนี้ (12 ต.ค.) มีรายงานข่าวจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เปิดเผยแผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2564 ที่ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน โดยกรอบวงเงินการบริหารหนี้อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท

 

ทั้งนี้ แผนการบริหารหนี้ปีงบประมาณ 2564 ประกอบด้วย การก่อหนี้ใหม่จำนวน 1.64 ล้านล้านบาท และการก่อหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้เก่าที่ครบอายุอีก 1.27 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นการกู้เงินภายในประเทศทั้งสิ้น

 

สำหรับการก่อหนี้ใหม่จำนวน 1.64 ล้านล้านบาท เป็นเงินกู้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 1.34 ล้านล้านบาท แยกเป็นการกู้ที่สำคัญประกอบด้วย การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2564 จำนวน 6.23 แสน กู้ตาม พ.ร.ก.ฟื้นฟูโควิด 5.5 แสนล้านบาท กู้เพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ 7.4 หมื่นล้านบาท และกู้เพื่อบริหารสภาพคล่องเงินคลังอีก 9.9 หมื่นล้านบาท

 

ส่วนที่เหลือของการก่อหนี้ใหม่ เป้นการกู้ของรัฐวิสาหกิจ 1.17 แสนล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและลงทุน และการกู้ของหน่วยงานอื่นๆ อีก 1,808 ล้านบาท สำหรับการกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้เก่า 1.27 ล้านล้านบาท เป็นการกู้ปรับโครงสร้างหนี้เก่าที่รัฐบาลกู้โดยตรง 1.09 ล้านล้านบาท และรัฐวิสาหกิจกู้ 1.37 แสนล้านบาท

 

นอกจากนี้ ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะปี 2564 กระทรวงการคลังได้เสนอให้ ครม. ติดตามเร่งแผนการกู้เพื่อการลงทุนระยะปานกลาง 5 ปี (2564-2568) จากเดิมที่มีแผนการลงทุน 389 โครงการ มูลค่าการลงทุน 1.2 ล้านล้านบาท

 

แต่มีความล่าช้าดำเนินไม่ได้ถึง 56 โครงการ ทำให้เหลือโครงการกู้เพื่อการลงทุน 182 โครงการ มูลค่า 8.91 แสนล้านบาท ลดลงจากเดิม 3.81 แสนล้านบาท หรือ ลดลง 30% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

 

และกระทบกับการตุ้นเศรษฐกิจระยะสั่นซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน คลังจึงขอให้ ครม. เร่งรัดหน่วยงานที่เป็นรับผิดชอบโครงการลงทุน ให้มีการเร่งรัดโครงการลงทุนโดยเร็ว ทั้งนี้ปีงบประมาณ 2564 มีการตั้งงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ไว้ 2.93 แสนล้านบาท เป็นการชำระเงินต้น 9.9 หมื่นล้านบาท และชำระดอกเบี้ยเงินกู้ 1.94 แสนล้านบาท

 

ล่าสุด สบน. ได้รายงานหนี้สาธารณะของประเทศล่าสุดเดือน ส.ค. 2563 อยู่ที่ 7.66 ล้านล้านบาท หรือ 47.90% ของจีดีพี เมื่อรวมกับแผนการก่อหนี้ใหม่ของปีงบประมาณ 2564 อีก 1.64 ล้านล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2564 สูงถึง 9.3 ล้านล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ คลังยืนยันว่าสิ้นปีงบประมาณ 2564 สัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 57% ของจีดีพี ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังไม่เกิน 60% ของจีดีพี

 

สำหรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการปรับปรุงแผน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 มีการกู้กรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้อีก 2.14 แสนล้านบาท หลังจากที่การกู้ชดเชยเพื่อการขาดดุลเต็มแล้ว 4.69 แสนล้านบาท แต่ไม่พอกับรายจ่ายเนื่องจากรายได้เก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 3.9 แสนล้านบาท

 

ทำให้ปีงบประมาณ 2563 มีการก่อหนี้ใหม่ 1.65 ล้านล้านบาท มีการกู้ปรับโครงสร้างหนี้เก่า 9.68 แสนล้านบาท ขณะที่งบประมาณ 2562 แผนการบริหารหนี้ มีการก่อหนี้ใหม่ 8.06 แสนล้านบาท ก่อหนี้ปรับโครงสร้างหนี้เก่า 8.77 แสนล้านบาท และปีงบประมาณ 2561 แผนการบริหารหนี้ มีการก่อหนี้ใหม่ 7.6 แสนล้านบาท ก่อหนี้ปรับโครงสร้างหนี้เก่า 9.99 แสนล้านบาท

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง