"ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ปราสาททรายแห่งความหวัง
เริ่มกันไปแล้วอย่างเป็นทางการกับโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ซึ่งเป็นความหวังในการเปิดประเทศเพื่อนำนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งต้องยอมรับว่านี่คือโครงการที่หลายฝ่ายตั้งความหวังไว้มากว่าจะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจ.ภูเก็ต แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกของไทยที่เคยสร้างรายได้จำนวนมาก หลังต้องประสบภาวะซบเซามานานนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19
สถานะล่าสุด ณ วันที่ 2 กรกฎาคม มีผู้ลงทะเบียนการยื่นขอใบรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry : ซีโออี) ภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์แล้ว 7,090 ราย กรมควบคุมโรคตรวจอนุมัติเอกสารยืนยันการฉีดวัคซีน (Certificate of Vaccination) แล้ว 3,942 ราย ออกซีโออีให้แล้ว 2,212 ราย รอการอนุมัติซีโออี 4,465 ราย และถูกปฏิเสธไป 413 ราย
แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายก่อนที่โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะเริ่มต้นขึ้นจริงถึงปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะที่ตกเป็นจำเลยสังคมคือการยื่นขอซีโออีที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการต่างประเทศซึ่งล่าช้า เป็นเหตุให้ยอดนักท่องเที่ยวลดลงเพราะไม่สามารถขอใบซีโออีได้ทันก่อนการเดินทางในวันที่ 1 กรกฎาคม จนในวันดังกล่าวมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพียง 323 คน จากเดิมที่มียอดจองเข้ามา 584 คน
ก่อนที่จะไปพูดถึงประเด็นอื่นๆ ก็ต้องย้อนถึงที่มาซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความ “ล่าช้า” ของระบบในการยื่นของซีโออีว่ามีสาเหตุมาจากอะไร
แรกเริ่มที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เมื่อวันที่ 30 มีนาคม และได้มีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบศ.) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในศบค. ซึ่งต้องถือว่ามีองค์ประกอบของหน่วยงานต่างๆ ครบกว่าศบศ. ที่มีหน่วยงานเศรษฐกิจเป็นหลัก เพิ่งจะมีโอกาสหารือในรายละเอียดทุกมิติเพื่อวางกฎเกณฑ์ให้ครอบคลุมและรอบคอบโดยใช้เวลาเพียง 10 วัน ก่อนที่กระทรวงการต่างประเทศจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปกรอกเอกสารเพื่อขออนุมัติซีโออีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน และก่อนหน้าที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาจะเผยแพร่คำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้าประเทศภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์อย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มิถุนายน เพียง 2 วันก่อนที่โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ
ต้องไม่ลืมว่าขณะนี้ทุกประเทศในโลกอยู่ภายใต้สถานการณ์พิเศษจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 “มาตรการด้านสาธารณสุข” และ “มาตรการควบคุมโรค” ไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำแบบขอไปที ในทางตรงกันข้าม เราจำเป็นต้องมีการวางกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติให้รัดกุมมากที่สุด เพราะแม้การพลิกฟื้นเศรษฐกิจจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่า โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยในปัจจุบันยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง
เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว การกำหนดกฎเกณฑ์ในโครงการเช่นนี้ควรจะใช้เวลาพิจารณากันหลายสัปดาห์และควรทำให้แล้วเสร็จก่อนหน้าที่จะมีการเริ่มต้นโครงการอย่างน้อยเป็นสัปดาห์เช่นกัน เพื่อให้มีเวลาในการรันระบบทั้งหมดว่าสามารถทำได้ตามที่กำหนดไว้หรือไม่ หรือมีปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติใดจะได้เร่งแก้ไข และควรต้องมีการเปิดให้นักท่องเที่ยวลงทะเบียนล่วงหน้าอย่างน้อยที่สุด 1 สัปดาห์ก่อนที่โครงการจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อให้เวลากับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบยืนยันเอกสารต่างๆ โดยเฉพาะใบรับรองการฉีดวัคซีนที่ถึงนาทีนี้ต้องบอกว่ายังไม่มีหน่วยงานกลางใดๆ ในโลกที่เป็นถังข้อมูลให้ตรวจสอบยืนยันได้
การที่หน่วยงานในศบค. ใช้เวลาเพียง 10 วันก่อนที่จะคลอดเกณฑ์ซีโออีออกมาได้ ก็ต้องชื่นชมในความเสียสละของเจ้าหน้าที่เสียด้วยซ้ำที่้้เร่งทำงานแม้แต่ในวันหยุด และหลังการเปิดให้ยื่นคำร้องของซีโออีในวันที่ 28 มิถุนายน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมโรคก็ยังต้องเร่งตรวจสอบเอกสารเพื่อให้ทันเงื่อนเวลาอันน้อยนิด จนได้ข่าวว่าต้องทำงานกันยันตี 5 เป็นความพยายามที่จะช่วยให้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เดินหน้าไปได้ ภายใต้ข้อจำกัดในด้านเวลาที่มีอยู่
บางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าการขยายเวลากักบริเวณในจ.ภูเก็ตจาก 7 วันเป็น 14 วัน ว่าเป็นสาเหตุให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการจอง ก็ต้องมาดูเหตุผลว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เหตุผลสำคัญอันเป็นที่มาของ 14 วันก็มาจากที่ประเทศไทยยังคงให้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศต้องกักตัว 14 วัน ซึ่งระยะเวลาในการกักตัวดังกล่าวควรเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ ไม่เช่นนั้นใครที่ไม่อยากกักตัว 14 วันก็หาทางบินมาลงภูเก็ตกันหมด ในขณะที่ทุกวันนี้คนที่ฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็มแล้วติดโควิด-19 ก็ยังมีให้เห็นกันอยู่ทั่วไป หากให้ผู้เดินทางเข้าภูเก็ตสามารถกักตัวเพียง 7 วันแล้วเดินทางไปที่อื่นในไทยได้ ก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนในพื้นที่อื่นๆ ตามมา อย่าลืมว่าแค่กระบี่หรือพังงาซึ่งอยู่ใกล้กับภูเก็ต คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 มากเท่าภูเก็ต ความเสี่ยงที่พวกเขาแบกรับย่อมต้องสูงกว่า พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน
นี่ขนาดมีการกำหนดกฎเกณฑ์เอาไว้ตั้งมากมาย ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมคือมีนักท่องเที่ยวบางรายอาศัยช่วยชุลมุนหนีการทำสวอปเทสต์แต่ยังดีที่ไปตามตัวกลับมาได้ทัน โรงแรมหลายแห่งที่อยู่ใน SHA Plus ซึ่งเป็นที่รองรับนักท่องเที่ยวในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก็ไม่ได้จัดรถมารับนักท่องเที่ยวไปยังโรงแรม ยังไม่มีการตั้งด่านตรวจเมื่อจะเดินทางออกจากเกาะภูเก็ต ไปจนถึงการเชื่อมระบบข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สมบูรณ์ สะท้อนปัญหาการบริหารจัดการที่ยังมีช่องว่าง แต่ก็ได้ทราบว่าเมื่อหน่วยงานในพื้นที่ก็ได้เร่งแก้ไขปัญหาที่พบแล้ว
จริงอยู่ที่หน่วยงานแต่ละแห่งมีเป้าหมายในการทำงานที่ต่างกัน หน้าที่ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาคือฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวและนำนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในไทยให้ได้มากที่สุด ภาคเอกชนและส่วนราชการในจังหวัดภูเก็ตก็ต้องการฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้หลักของจังหวัดที่ซบเซามานานนับปี ขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขก็ต้องคอยวางกฎเกณฑ์ควบคุมโรคให้รอบคอบและรัดกุม กระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่ในการคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้าไทยว่ามีเอกสารทุกอย่างครบถ้วนตามที่ศบค. ได้วางเกณฑ์ไว้หรือไม่ ก่อนที่จะอนุมัติซีโออี
แม้ว่าเป้าหมายในการทำงานจะแตกต่างกันไปตามความรับผิดชอบ หากเราตระหนักว่าทุกคนกำลังทำหน้าที่เพื่อประเทศไทย เราไม่ควรมองว่าใครเป็นตัวถ่วงหรืออุปสรรคให้การทำงานของใครล่าช้า แต่ควรมองว่าทุกคนกำลังช่วยกันทำงานในมิติที่ตนรับผิดชอบ เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมในการผลักดันโครงการนำร่องเพื่อเปิดการท่องเที่ยวไทย “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ให้เดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาถึงนาทีนี้ไม่ใช่เวลามากล่าวโทษกันว่าใครคือต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น เพราะเมื่อเราเดินหน้าโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์แล้ว สิ่งที่เราควรทำคือการร่วมมือร่วมใจกันเพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าไปได้ด้วยดี มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เร่งแก้ไขปัญหาและทำงานเชิงรุกเพื่อควบคุมให้ทุกอย่างราบรื่นและเรียบร้อยที่สุด
โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นความหวังในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ซึ่งแน่นอนว่ามาพร้อมกับความกังวลและความเสี่ยงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมา หากมาตรการควบคุมดูแลไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ หรือมีปัญหาหย่อนยานในทางปฏิบัติ
มีแต่ความร่วมแรงร่วมใจกันเท่านั้นที่จะทำให้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไม่กลายเป็น “ปราสาททราย” ซึ่งพร้อมจะแหลกสลายท่ามกลางลมมรสุมของโควิด-19 ที่โหมกระหน่ำเข้าใส่จากทุกทิศทาง